โดยที่รัฐบาลสนับสนุนอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของไทยให้เป็นที่รู้จักทั่วโลกตามแนวทางส่งเสริมวัฒนธรรม 5F ได้แก่ อาหาร (Food) ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ (Film) การออกแบบแฟชั่น (Fashion) ศิลปะและการป้องกันตัวแบบไทย (Fighting) เทศกาลไทย (Festival) ให้เป็นกระแสนิยมทางวัฒนธรรมที่สำคัญในต่างแดน
ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน (BIC) ประจำสถานกงสุลใหญ่ ณ นครเฉิงตู จึงได้ศึกษาความนิยมด้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ในจีนโดยเฉพาะมณฑลเสฉวนและนครฉงชิ่งที่มีศักยภาพของจีนตะวันตก โดยขอหยิบยกตัวอย่างด้านสื่อบันเทิงมาเพื่อเป็นข้อมูลประกอบการศึกษาตลาดของภาคเอกชนไทย สรุปได้ ดังนี้
กระแสความนิยมของตลาดจีน
ตลาดภาพยนตร์ ข้อมูลจาก douban.com (แพลตฟอร์มรับชมภาพยนตร์ที่ชาวจีนนิยมใช้) ระบุว่า (1) ภาพยนตร์จีนประเภทนาฏกรรม (drama) ตลกขบขัน ครอบครัว แนวต่อสู้ และสืบสวนสอบสวน และ (2) ภาพยนตร์ต่างประเทศประเภทนาฏกรรม (drama) แฟนตาซี ผจญภัย แนวต่อสู้ และวิทยาศาสตร์ ได้รับคะแนนสูงสุดตามลำดับจากผู้ชมในปี 2564
โดยยังพบด้วยว่า ภาพยนตร์ที่ฉายในมณฑลเสฉวนและนครฉงชิ่งส่วนใหญ่เป็นประเภทนาฏกรรม (drama) และนาฏกรรมที่ให้อรรถรสอื่น ๆ ร่วมอยู่ด้วย เช่น Drama Comedy และ Historical Dramas และ Fantasy Drama เป็นต้น
ด้านตลาดละคร/ซีรีส์ กลุ่มละครและซีรีส์ไทยที่ได้รับความนิยมในมณฑลเสฉวนและนครฉงชิ่ง เช่น ซีรีส์วาย สยองขวัญระทึกขวัญ ได้รับการจัดอันดับจาก movie.douban.com ในปี 2564 และได้รับเผยแพร่ในแพลตฟอร์มต่าง ๆ เช่น Bilibili และ Douyin อย่างแพร่หลายด้วยเช่นกัน
สำหรับตลาดดนตรี ข้อมูลการจัดอันดับจากเว็บไซต์ music.163.com (แพลตฟอร์มฟังเพลงยอดนิยมของชาวจีน) พบว่า แนวเพลงจีน รวมถึงเพลงไทยที่ได้รับความนิยมส่วนใหญ่เป็นแนวเพลงสตริงช้า ๆ มีเนื้อหาเกี่ยวกับความรักกินใจ ด้านตลาดเกมที่ได้รับความนิยมในจีน คือ ประเภท Moba Esports โดยมีจำนวนดาวน์โหลดสูงสุดอันดับต้น ๆ ตลอดหลายปีที่ผ่านมา และมีผู้เล่นจากทั่วประเทศจีน
สื่อบันเทิงไทยได้รับความนิยมในจีนขนาดไหน
อุตสาหกรรมบันเทิงไทยมีการตอบรับและความชื่นชอบจากชาวจีนด้วยดีเสมอมา โดยดาราและศิลปินไทยมีบทบาทสำคัญในการสร้างความนิยมไทยในจีน ที่ผ่านมา ดาราและศิลปินไทยหลายคนที่ได้รับความนิยม เช่น (1) นายพิรัชต์ นิธิไพศาลกุล (ไมค์ พิรัชต์) จากผลงานละคร Full House วุ่นนักรักเต็มบ้าน มีผู้ติดตามบนแพลตฟอร์ม Weibo กว่า 9 ล้านคน และ (2) นายธรรศภาคย์ ชี (บี้ KPN) มีผู้ติดตามบนแพลตฟอร์ม Weibo เกือบ 3 ล้านคน มีผลงานละครในจีนเรื่อง My girlfriend is an alien
ปัจจุบันภาพยนตร์และซีรีส์ไทยได้รับการเผยแพร่ใน platform ต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก เช่น (1) Bilibili ของช่อง tianfutaiju ที่เผยแพร่ซีรีส์ไทยพร้อม sub-title ภาษาจีน มีผู้ติดตามกว่า 8 แสนคน และ (2) แพลตฟอร์ม Douyin ที่นิยมเผยแพร่เนื้อหาภาพยนตร์แบบสรุปใจความสำคัญในแต่ละตอนเป็นภาษาจีน ตอนละ 1-3 นาที รวมถึง (3) เวทีประกวด Chuang และเวทีประกวดร้องเพลง The Voice ซึ่งในอดีตมี Idol และนักร้องชาวไทยเข้าร่วมเกือบทุกปี เช่น น.ส. พรนับพัน พรเพ็ญพิพัฒน์ ซึ่งประกวดในรายการ Chuang และ น.ส. พร้อมวิไล หลี่ศิริโรจน์ ที่เข้าประกวดรายการ The Voice Kids จึงเป็นช่องทางการเผยแพร่เพลงไทยให้ชาวจีนทั้งประเทศสามารถเข้าถึงได้
นอกจากนี้ ในส่วนของนครฉงชิ่ง-มณฑลเสฉวน นอกจากความนิยมไทยจากสื่อบันเทิงข้างต้นแล้ว ร้านอาหารไทย มวยไทย และสปาไทยก็ได้รับความนิยมเช่นกัน โดยข้อมูลจาก Dianping.com ระบุว่า (1) นครเฉิงตูมีจำนวน ร้านอาหารไทย ศูนย์มวยไทย และร้านสปาไทย จำนวน 449 แห่ง 197 แห่ง และ 2 แห่ง ตามลำดับ (2) นครฉงชิ่ง มีจำนวนร้านอาหารไทย ศูนย์มวยไทย และร้านสปาไทย 316 แห่ง 71 แห่ง และ 8 แห่ง ตามลำดับ
สื่อบันเทิงไทยในมุมมองของธุรกิจ
ผู้ประกอบการไทยอาจใช้ความนิยมในตลาดวัฒนธรรม 5F เพื่อเสริมสร้างมูลค่าให้แก่สินค้าและผลิตภัณฑ์ไทยในตลาดชาวจีน โดยเชื่อมโยงกับ lifestyle ให้เกิดความรู้สึกใกล้ตัว ความชื่นชอบและรู้สึกยึดโยงกับแบรนด์ ซึ่งจะช่วยสร้างกระแสความนิยมหรือภาพลักษณ์ที่ดีต่อสินค้าไทยมากขึ้นในอนาคต
ที่ผ่านมา แบรนด์สินค้าต่าง ๆ ได้ใช้กลยุทธ์ดังกล่าวนำเสนอภาพลักษณ์แบรนด์สินค้ากับผู้บริโภค โดยสื่อที่มีอิทธิพลกับผู้บริโภคเด่นชัดที่สุด ได้แก่ ภาพยนตร์ ซีรีส์ ดนตรี โฆษณา และการ life streaming เช่น ยาสีฟัน Dentiste ได้เชิญ “ซี-นุนิว” (นายพฤกษ์ พานิช และนายชวรินทร์ เพริศพิริยะวงศ์) เข้าร่วม life streaming บนแพลตฟอร์ม Tmall เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2565 และแบรนด์ปลาเส้นทาโร่ได้เชิญ “ออฟ จุมพล” (นายจุมพล อดุลกิตติพร) เข้าร่วม life streaming บนแพลตฟอร์ม Taobao เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2565 ซึ่งสินค้าทั้งสองแบรนด์ได้เชิญดาราซีรีส์วายเข้าร่วม life streaming เพื่อสร้างการรับรู้ในหมู่แฟนคลับชาวจีนอย่างต่อเนื่องตลอดหลายปีที่ผ่านมา ทำให้ทั้งสองแบรนด์มีผู้ติดตามกว่า 1 แสน และ 7 หมื่นคนตามลำดับ