เขตเศรษฐกิจสามเหลี่ยมปากแม่น้ำแยงซี (Yangtze River Delta: YRD) ที่ประกอบไปด้วย นครเซี่ยงไฮ้ มณฑลเจียงซู มณฑลเจ้อเจียง และมณฑลอานฮุย เป็นผู้นำด้านหุ่นยนต์ทั้งในจีนและระดับโลก รวมทั้งการแก้ไขความท้าทายในด้านอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และกำหนดมาตรฐานกำกับดูแลที่เป็นที่ยอมรับร่วมกัน ตลอดจนโอกาสที่ไทยสามารถเข้าร่วมกับจีนและ YRD เพิ่มส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ในอนาคต แม้การพัฒนาหุ่นยนต์ในปัจจุบันจะมีความก้าวหน้าอย่างมากพร้อมทั้งถูกนำไปใช้ในหลากหลายอุตสาหกรรม แต่ยังคงอุปสรรคที่ต้องแก้ไขและพัฒนาให้ดีขึ้น ได้แก่
1. ความท้าทายทางเทคนิคและวิศวกรรม รวมไปถึงการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพื่อให้หุ่นยนต์ตัดสินใจได้อย่างชาญฉลาดและเคลื่อนไหวได้ลื่นไหลมากขึ้น รวมถึงการพัฒนาเทคโนโลยีการประมวลผลภาษาธรรมชาติ (Natural Language Processing: NLP) เพื่อให้หุ่นยนต์เข้าใจและตอบสนองต่อคำสั่งหรือการสื่อสารของมนุษย์ได้อย่างถูกต้องและเป็นธรรมชาติ
2. ข้อจำกัดด้านแบตเตอรี่ โดยหุ่นยนต์ใช้พลังงานสูงและแบตเตอรี่ที่ใช้อยู่ไม่สามารถสะสมพลังงานได้มากพอ ทำให้หุ่นยนต์ต้องหยุดชาร์จบ่อยครั้ง และส่งผลกระทบต่อประสิทธภาพการทำงานที่อาศัยความต่อเนื่องและการทำงานในภาพรวม
3. ด้านความปลอดภัย โดยยังต้องมีการกำหนดมาตรฐานความปลอดภัยในการใช้งานให้ได้อย่างเหมาะสมและได้มาตรฐาน โดยเฉพาะการทำงานร่วมกันกับมนุษย์กับหุ่นยนต์ การจำกัดแรงและความเร็วของหุ่นยนต์เพื่อป้องกันอุตบัติเหตุและสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่ปลอดภัย ตลอดจนการประเมินความเสี่ยงและการดำเนินมาตรการลดความเสี่ยงที่เหมาะสม
4. ภาระทางต้นทุน หุ่นยนต์ Unitree G1 และ Unitree H1 มีราคาโดยประมาณ 500,000 – 3,200,000 บาท ซึ่งอยู่ในระดับสูงแม้ว่าราคาหุ่นยนต์จะลดลงอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งหากบางประเทศอยู่ในฐานะผู้นำเข้า อาจเผชิญกับความเสี่ยงในห่วงโซ่อุปทานและการซ่อมบำรุงอะไหล่และชิ้นส่วนในกรณีที่ขาดตลาด
5. ผลกระทบต่อการจ้างงานและรายได้ ซึ่งหุ่นยนต์อาจเข้ามาทดแทนแรงงานมนุษย์ในการผลิต ทำให้อัตราการว่างงานและความเหลื่อมล้ำทางรายได้เพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากแรงงานทีถูกแทนอาจจะประสบปัญหาในการหางานใหม่หรือต้องยอมรับงานที่มีรายได้ต่ำกว่าเดิม
6. ความสัมพันธ์มนุษย์ – หุ่นยนต์ ในขณะที่หุ่นยนต์ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและการลดต้นทุน แต่แรงานมนุษย์ต้องปรับตัวและพัฒนาทักษะใหม่ (Reskill/Upskill) เพื่อสามารถทำงานร่วมกับเทคโนโลยีได้
7. ความรับผิดชอบจากบริษัทผลิตหุ่นยนต์ เนื่องจากยังมีการถกเถียงกันอย่างกว้างขวางต่อกรณีที่หุ่นยนต์ตัดสินใจในสถานการณ์ที่มีผลทางศีลธรรม เช่น หุ่นยนต์ขับรถหรือรถยนต์ไร้คนขับเมื่อเกิดอุตบัติเหตุขึ้น ความมีการรับผิดชอบจากทางบริษัทที่ผลิตหุ่ยนต์อย่างชัดเจนและตรงไปตรงมา
8. ความท้าทายด้านกฎหมาย อาทิ ในสหภาพยุโรป (EU) ที่ยังถกเถียงกันเรื่องความรับผิดชอบ เมื่อหุ่นยนต์ก่อความเสียหาย รวมทั้งสถานะบุคคลอิเล็กทรอนิกส์ ขณะที่อาเซียนเผชิญกับความท้าทายในกรอบกำกับดูแลที่หลากหลายตามบริบทแต่ละประเทศ
โอกาสของไทยในความร่วมมือกับ YRD เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ โดยประเทศไทยมุ่งสู่เศรษฐกิจดิจิทัลและอุตสาหกรรม 4.0 ด้วยแผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติ 2022 – 2027 ที่ครอบคลุมการออกฎหมายรองรับการสร้างระบบนิเวศอย่างครอบคลุม การพัฒนาแรงงานขั้นสูง 30,000 คนและการเสริมสร้างทักษะด้าน AI ให้ประชาชนกว่า 1 ล้านคน ภายในปี 2027 อีกทั้ง ศักยภาพของอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ใน YRD ที่มีความก้าวหน้าระดับแนวหน้าของจีนและโลก โดยเรียนรู้ถึงปัจจัยแห่งความสำเร็จที่เกี่ยวข้อง ทั้งในเรื่องการ มีนโยบายและเป้าหมายการพัฒนาที่ชัดเจนของภาครัฐ การทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาควิชาการ ในการสร้างระบบนิเวศที่ครอบคลุมและเข้มแข็ง ตลอดจนแนวทางในการแก้ไขข้อจำกัดและ ความท้าทายที่มีอยู่ ส่งผลให้ไทยสามารถเรียนรู้จาก YRD ได้เป็นอย่างดี และแสวงหาแนวทางความร่วมมือระหว่างกัน ทั้งในการถ่ายทอดเทคโนโลยี การวิจัยและพัฒนา การพัฒนาบุคลากร และการบ่มเพาะระบบนิเวศที่เกื้อกูล เพื่อเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจและนวัตกรรมที่ใกล้ชิดระหว่างไทยกับจีน
เรียบเรียงโดย: ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์