ทันทีที่มีรายงานอัตราการเติบโตของ GDP เวียดนามในช่วงไตรมาสที่ 1 ของปี 2561 ซึ่งสูงถึงร้อยละ 7.38 และนับเป็นอัตราการเติบโตสูงที่สุดในช่วงเดียวกันของหลายปีที่ผ่านมา สำนักวิเคราะห์และคาดการณ์ทางเศรษฐกิจหลายแห่งทั้งภายในประเทศและองค์การระหว่างประเทศในเวียดนามต่างพากันเพิ่มประมาณการการเติบโตทางเศรษฐกิจเวียดนาม อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญทางเศรษฐกิจเห็นว่าเวียดนามยังต้องเผชิญกับอุปสรรคอีกหลายประการเพื่อให้สามารถบรรุลเป้าหมายอัตราการเติบโตรายปีตามที่รัฐบาลเวียดนามตั้งเป้าหมายไว้[su_spacer size=”20″]
เศรษฐกิจเวียดนามกำลังสดใส
แม้รัฐบาลเวียดนามได้ตั้งเป้าหมายอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสำหรับปี 2561 ที่ร้อยละ 6.7 ซึ่งเป็นอัตราเดียวกันกับเป้าหมายของปี 2560 แต่จากอัตราการเติบโตที่สูงเป็นประวัติการณ์ในช่วงไตรมาสที่ 1 อีกทั้งในปี 2560 อัตราการเติบโตตามจริงก็ทะลุเป้าหมาย สำนักคาดการณ์ทางเศรษฐกิจทั้งภายในประเทศและองค์การระหว่างประเทศต่างเพิ่มประมาณการการเติบโต โดยธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (Asia Development Bank – ADB) ได้ปรับเพิ่มการคาดการณ์อัตราการเติบโตเป็นร้อยละ 7.1 ขณะที่สถาบันวิจัยเศรษฐกิจและนโยบายเวียดนาม คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจเวียดนามจะเติบโตร้อยละ 6.83[su_spacer size=”20″]
อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจเวียดนามในช่วงไตรมาสที่ 1 ของปี 2561 มาพร้อมกับมูลค่าการค้าระหว่างประเทศที่สูงขึ้น การดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศยังคงอยู่ในระดับสูง และอัตราการเติบโตของภาคอุตสาหกรรมและการก่อสร้างที่สูงขึ้นถึงร้อยละ 9.07[su_spacer size=”20″]
ในช่วงไตรมาสที่ 1 ของปี 2561 มูลค่าการค้าระหว่างเวียดนามกับต่างประเทศสูงกว่า 108,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเป็นมูลค่าการส่งออก 55,630 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และมูลค่าการนำเข้า 52,870 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้ในช่วงดังกล่าว เวียดนามได้ดุลการค้ากว่า 2,760 ล้านดอลลาร์สหรัฐ[su_spacer size=”20″]
ขณะเดียวกัน ในช่วงไตรมาสที่ 1 ปี 2561 เวียดนามสามารถดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศโครงการใหม่ 618 โครงการ รวมมูลค่าทุนจดทะเบียนทั้งโครงการใหม่ การเพิ่มงบการลงทุน และการซื้อหุ้นกิจการภายในประเทศ 5,801.60 ล้านดอลาร์สหรัฐ ด้วยมูลค่าการเบิกจ่ายงบประมาณ 3,880 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้มูลค่าการลงทุนสะสมจากนักลงทุนต่างชาติในเวียดนามสูงถึง 319,978 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยการลงทุนส่วนใหญ่อยู่ในสาขาการผลิตและแปรรูป และอสังหาริมทรัพย์[su_spacer size=”20″]
นาย Aaron Batten นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย ชี้ว่า การเติบโตและเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของเวียดนามน่าจะยังคงมีเสถียรภาพในระยะกลาง แรงผลักดันจากการบริหารเศรษฐกิจระดับมหภาค จะส่งผลให้การเติบโตทางเศรษฐกิจในปี 2561 รวดเร็วยิ่งขึ้น ซึ่งจะทำให้เวียดนามกลายเป็นประเทศที่มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจเร็วที่สุดในภูมิภาค โดยได้รับแรงหนุนจากการขยายตัวของภาคการผลิตและการส่งออก การลงทุนจากต่างประเทศ การพัฒนาภาคเกษตร และการบริโภคภายในประเทศที่เพิ่มขึ้น[su_spacer size=”20″]
อะไรคือความท้าทายทางเศรษฐกิจของเวียดนาม?
แม้เศรษฐกิจเวียดนามในช่วงต้นปี 2561 มีสัญญาณที่สดใสมาก แต่ผู้เชี่ยวชาญทางเศรษฐกิจหลายรายวิเคราะห์ว่า เวียดนามยังไม่สามารถวางใจในอัตราการเติบโตดังกล่าวได้ เพราะในช่วงที่เหลือของปี ยังมีอุปสรรคหลายประการที่อาจส่งผลให้เวียดนามไม่สามารถบรรลุอัตราการเติบโตตามที่รัฐบาลตั้งเป้าไว้ โดยสถาบันการบริหารเศรษฐกิจส่วนกลางเวียดนาม คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจเวียดนามอาจเติบโตเพียงร้อยละ 6.67[su_spacer size=”20″]
ตามรายงาน East Asia and Pacific Economic ซึ่งจัดทำโดยธนาคารโลก (World Bank) คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจเวียดนามจะเติบโตในระดับปานกลาง ที่ร้อยละ 6.5 โดยปัจจัยที่ส่งผลต่อการเติบโตของเศรษฐกิจเวียดนาม ประการแรก คือ อัตราการเติบโตของภาคเกษตร ซึ่งในปี 2560 เติบโตอย่างแข็งแกร่ง จึงอาจเป็นปัจจัยที่ขัดต่อความก้าวหน้าในปี 2561 นอกจากนี้ การปรับโครงสร้างที่ล่าช้าของเวียดนามอาจทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจในปัจจุบันอ่อนแอลง และชะลอการเติบโตของเศรษฐกิจในระยะกลาง ซึ่งธนาคารโลกเสนอว่า เวียดนามจำเป็นต้องมีมาตรการเพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นในเศรษฐกิจมหภาค เช่น การบริหารจัดการอัตราแลกเปลี่ยนที่ยืดหยุ่นอย่างต่อเนื่อง การเพิ่มทุนสำรองเงินตราต่างประเทศ การบังคับใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวด รวมทั้งการปฏิรูปรายได้และรายจ่าย การขยายฐานภาษี และการปรับโครงสร้างการบริหารภายในของรัฐ เป็นต้น[su_spacer size=”20″]
ขณะเดียวกัน การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศที่อยู่ในระดับสูงก็อาจเป็นปัจจัยที่สั่นคลอนความมั่นคงทางเศรษฐกิจของเวียดนามเองในอนาคต หากพิจารณาโครงสร้างการนำเข้าและการส่งออกของเวียดนามจะพบว่า ดำเนินการโดยนักลงทุนจากต่างประเทศถึงเกือบร้อยละ 70 นอกจากนี้ การได้ดุลการค้าส่วนใหญ่ก็เกิดขึ้นจากนักลงทุนต่างชาติ ขณะที่นักลงทุนท้องถิ่นกลับขาดดุลการค้าอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น เวียดนามจำเป็นต้องพัฒนาภาคธุรกิจภายในประเทศให้มีส่วนร่วมในห่วงโซ่มูลค่าโลกมากยิ่งขึ้น[su_spacer size=”20″]
ความท้าทายอีกประการหนึ่งที่เวียดนามกังวลอย่างยิ่ง คือ ผลิตภาพแรงงาน ซึ่งจากรายงาน Vietnam Annual Economic Report ล่าสุด แสดงให้เห็นว่า ผลิตภาพแรงงานของเวียดนามเกือบทุกสาขาอยู่ในระดับต่ำสุดในภูมิภาค โดยเติบโตขึ้นเพียงร้อยละ 5 ขัดกับอัตราค่าจ้างซึ่งเติบโตขึ้นเฉลี่ยกว่าร้อยละ 12.59 ในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา ซึ่งประเด็นดังกล่าว นอกจากจะเป็นตัวถ่วงการเติบโตทางเศรษฐกิจแล้ว อาจส่งผลต่อความน่าดึงดูดของเวียดนามในสายตานักลงทุนต่างชาติในระยะยาวด้วย[su_spacer size=”20″]
เศรษฐกิจเวียดนามในปี 2561 จะไปในทิศทางใด?
แม้ในปี 2561 เวียดนามต้องเผชิญกับอุปสรรคหลายประการ ทั้งประเด็นภายใน เช่น ผลิตภาพแรงงาน
การปรับโครงสร้างและการปรับปรุงสภาพแวดล้อมทางการลงทุนที่ล่าช้า และประเด็นภายนอก เช่น การปรับใช้มาตรการกีดกันทางภาษีโดยคู่ค้าหลัก การถูกให้ใบเหลืองการทำประมง (Illegal Unreported and Unregulated Fishing – IUU) รวมทั้งความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน และราคาน้ำมันโลก แต่ด้วยปี 2561 เป็นปีที่ความตกลงการค้าเสรีระหว่างเวียดนามกับประเทศคู่ค้าหลายรายการจะเริ่มมีผลบังคับใช้ ซึ่งจะส่งผลดีต่อการค้าและการลงทุนของเวียดนาม กอปรกับการปรับใช้นโยบายทางการเงินที่ยืดหยุ่นเพื่อส่งเสริมการส่งออกและการนำเข้า สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงฮานอย เห็นว่า เวียดนามจะสามารถบรรลุเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ร้อยละ 6.7 ได้ และหากเวียดนามสามารถพัฒนาอุตสาหกรรมสนับสนุนภายในประเทศ พัฒนาคุณภาพสินค้า บรรจุภัณฑ์และตราสินค้า รวมทั้งลดความยุ่งยากของขั้นตอนการตรวจสอบและจดทะเบียนทางธุรกิจเพื่อปรับปรุงสภาพแวดล้อมทางธุรกิจให้ดีขึ้น เศรษฐกิจของเวียดนามก็จะเติบโตอย่างยั่งยืนต่อไป[su_spacer size=”20″]
ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์
กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงฮานอย