ในปัจจุบัน ตลาดเครื่องดื่มของเวียดนามมีผู้ดําเนินธุรกิจด้านเครื่องดื่มมากกว่า 1,800 ราย ซึ่งการวิจัยโดย Nielsen รายงานว่า บริษัทท้องถิ่นเวียดนามมีสัดส่วนการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมอาหารร้อยละ 69 และเครื่องดื่มร้อยละ 45 ทั้งนี้ BMI (กลุ่มสํารวจตลาดของสหราชอาณาจักร) คาดการณ์ว่า มูลค่าการค้าเครื่องดื่มจะเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า เช่นเดียวกับสมาคมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เวียดนามที่ระบุว่า การบริโภคเครื่องดื่มของคนเวียดนาม โดยเฉลี่ยมากกว่า 23 ลิตรต่อปีต่อคน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจึงเป็นเหตุให้ตลาดเครื่องดื่มในเวียดนามมีการแข่งขันสูง[su_spacer size=”20″]
ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ตลาดเครื่องดื่มในเวียดนามมีการแข่งขันที่รุนแรงระหว่างบริษัทภายในประเทศและจากต่างประเทศ ทำให้เวียดนามมีข้อกังวลที่แบรนด์เครื่องดื่มชั้นนําของเวียดนามหลายรายตกสู่มือนักลงทุนต่างชาติ อาทิ บริษัท Tribeco ผู้ผลิตนมถั่วเหลืองของเวียดนามที่ได้รับการยอมรับว่า “ไม่มีใครเทียบเท่า” ได้ขายหุ้นให้กับคู่ค้าต่างประเทศ คือ บริษัท Uni-President และปัญหาอีกประการหนึ่งที่เวียดนามกังวลคือ สินค้าท้องถิ่นเสียส่วนแบ่งตลาดภายในประเทศ โดยปัญหาดังกล่าวเกิดจากการขาดการประชาสัมพันธ์ที่ดี ส่งผลสินค้าได้รับความนิยมน้อยลง[su_spacer size=”20”]
เวียดนามเป็นตลาดการลงทุนสาขาการผลิตเครื่องดื่มที่น่าสนใจและมีโอกาสเติบโต เนื่องจากมีประชากรสูงและส่วนใหญ่อยู่ในวัยหนุ่มสาว มีความต้องการซื้อสูง ต้องการบริโภคสินค้าที่แปลกใหม่และหลากหลาย ซึ่งสำนัก BMI ประมาณการณ์ว่า ในช่วงปี 2560 – 2562 อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มเวียดนามจะเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 10.9 ต่อปี ขณะที่ สำนักงานสถิติแห่งชาติเวียดนามรายงานว่า ในปี 2560 อุตสาหกรรมเครื่องดื่มเวียดนามเติบโตร้อยละ 5 [su_spacer size=”20″]
ปี 2561 อาจเป็นปีที่อุตสาหกรรมเครื่องดื่มเวียดนามต้องเผชิญกับความท้าทายหลายประการ ซึ่งนอกจากการแข่งขันกับผู้ลงทุนจากต่างประเทศแล้ว ยังมีปัจจัยภายในประเทศที่อาจส่งผลต่อสาขาดังกล่าว 2 ปัจจัย ได้แก่ (1) นโยบายการปรับขึ้นภาษีบริโภคพิเศษสำหรับสินค้าเครื่องดื่ม ซึ่งในปี 2561 จะปรับขึ้นเป็นร้อยละ 65 จากอัตราร้อยละ 60 ในปี 2560 และจะส่งผลให้ราคาเครื่องดื่มสูงขึ้น (2) แม้ความต้องการบริโภคเครื่องดื่มภายในประเทศสูง แต่ปริมาณสินค้าคงคลังในปี 2560 ก็สูงขึ้นถึงร้อยละ 62 เมื่อเทียบกับปี 2559 ซึ่งอาจสร้างปัญหาอุปทานส่วนเกินในอนาคตอันใกล้[su_spacer size=”20″]
จากแนวโน้มของโอกาสการแข่งขันที่เพิ่มสูงขึ้น ความท้าทายด้านภาษี และปริมาณสินค้าคงคลังดังกล่าว ได้ทำให้บริษัทต่าง ๆ ต้องดำเนินกลยุทธ์เพื่อแย่งชิงส่วนแบ่งทางการตลาด โดยมีตัวอย่างที่น่าสนใจ เช่น บริษัท Coca-Cola ได้เปิดตัวเครื่องดื่มใหม่ เพื่อสร้างรสชาติที่หลากหลาย พร้อมปรับปรุงสูตรเพื่อนําเสนอเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ และตอบสนองต่อแนวโน้มของผู้บริโภคที่หลากหลายมากขึ้น นอกจากนี้ นายเล ฟุง ห่าว ประธานสมาคมการตลาดเวียดนามเสนอว่า ภาคธุรกิจต้องหาความแตกต่างและช่องทาง การตลาดควบคู่กับการสร้างผลิตภัณฑ์ของตนเอง โดยอาจผลิตเครื่องดื่มจากผลไม้ขึ้นชื่อใน เวียดนาม อาทิ ลิ้นจี่ มะม่วง หรือสร้างผลิตภัณฑ์สําหรับผู้มีรายได้ปานกลาง [su_spacer size=”20″]
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงฮานอย