เมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา เวียดนามเพิ่งประกาศตัวเลข GDP ไตรมาสที่ 1 ของปี 2561 ซึ่งเติบโตถึงร้อยละ 7.38 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2560 และสูงสุดในรอบ 10 ปี จากตัวเลขดังกล่าวได้สร้างความฮือฮาให้หลายภาคส่วนธุรกิจทั้งในไทยและอาเซียนต้องหันมามองว่า เวียดนามทำอย่างไรถึงทำให้ตัวเลข GDP ไตรมาสแรกของปี 2561 เติบโตอย่างก้าวกระโดด ซึ่งรัฐบาลเวียดนามแถลงว่า เป็นผลมาจากการเติบโตอย่างแข็งแกร่งของภาคอุตสาหกรรมและการเกษตร ซึ่งมีการลงทุนจากต่างประเทศจำนวนมาก[su_spacer size=”20″]
อย่างไรก็ตาม ตัวเลขดังกล่าวไม่ได้เพิ่งเติบโตขึ้น หากมองย้อนกลับไปดูภาพรวมเศรษฐกิจเวียดนามในปี 2560 ที่ผ่านมา จะพบว่ามีการเติบโตในทิศทางที่ดีขึ้นเรื่อย ๆ มาตั้งแต่ในช่วงไตรมาสที่ 3 และ 4 ซึ่งมีอัตราการเจริญเติบโตของ GDP อยู่ที่ร้อยละ 6.81 มากว่าอัตราการเติบโตโดยเฉลี่ยของประเทศในภูมิภาคอาเซียนที่เติบโตร้อยละ 5.2 เนื่องมาจากภาคอุตสาหกรรม และภาคการค้าและบริการที่ขยายตัว ตลอดจนความเชื่อมั่นของ นักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งเวียดนามสามารถดึงดูดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศมากที่สุดในรอบ 10 ปี มูลค่ารวมกว่า 36 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และได้ดุลการค้าในรอบหลายปีกว่า 2.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ[su_spacer size=”20″]
สำหรับแนวโน้มการพัฒนาเศรษฐกิจของเวียดนามในปี 2561คาดว่าจะมีการเติบโตดีขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ เพิ่มขึ้น อาทิ ภาคอุตสาหกรรม การแปรรูปและการผลิต และภาคอสังหาริมทรัพย์ นอกจากนี้ รัฐบาลเวียดนามมีนโยบายผลักดันให้มีบริษัท เกิดใหม่ในประเทศให้ได้ 700,000 แห่ง มุ่งพัฒนานวัตกรรมและคุณภาพของ SME ภายในประเทศให้เท่าเทียมกับบริษัทต่างประเทศ ตลอดจนมีนโยบายแปรรูปรัฐวิสาหกิจให้ได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ รวมทั้งการยกระดับตลาดหุ้นให้มีเสถียรภาพมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ เวียดนามกำลังเร่งลงนามในข้อตกลง FTA อีก 2 ฉบับ ได้แก่ RCEP และ Vietnam – US FTA รวมถึงการมีผลบังคับใช้ของ Vietnam – EU FTA ซึ่งได้ลงนามไปแล้ว[su_spacer size=”20″]
แม้ว่าเวียดนามจะยังคงมีทิศทางการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้น แต่เวียดนามยังต้องเผชิญกับความท้าทายอีกจำนวนมาก อาทิ กฎหมายการดำเนินธุรกิจที่ยังคงล้าหลัง ปัญหาด้านลิขสิทธิ์ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและการขาดแคลนนวัตกรรมในการดำเนินธุรกิจใหม่ ๆ นอกจากนี้ ยังมีปัญหาเรื่องการขาดสภาพคล่องทางการเงินของภาครัฐ ภาวะเงินเฟ้อ ปัญหาหนี้เสีย และอัตราดอกเบี้ยอาจจะเพิ่มสูงขึ้นซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการปล่อยกู้ของธนาคารต่าง ๆ อีกทั้งยังคงมีปัญหาสำคัญที่รัฐบาลเวียดนามพยายามแก้ไขอย่างต่อเนื่องนั่นคือ การขาดแคลนเทคโนโลยีสมัยใหม่และบุคลากรที่มีความรู้ ซึ่งปัจจุบัน ยังคงต้องพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศเป็นจำนวนมาก รวมถึงปัญหาการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานที่ยังเป็นไปอย่างล่าช้า[su_spacer size=”20″]
เพื่อจัดการกับความท้าทายดังกล่าว เวียดนามถึงกำหนดนโยบายที่สำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจในปี 2561 ประกอบด้วย (1) การยกระดับธุรกิจ SMEs และ Startup ภายในประเทศ และดึงดูด Startup จากต่างประเทศที่ใช้นวัตกรรมสมัยใหม่ (2) การดึงดูดโครงการลงทุนภาคอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูง(3) การพัฒนาตามแนวทาง Smart City (4) การแก้ไขระบบกฎหมาย ระบบภาษีศุลกากร และลดขั้นตอนด้านเอกสาร เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและอำนวยความสะดวกให้กับนักลงทุน (5) การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ และการแก้ไขกฎหมาย การควบรวมกิจการให้มีความคล่องตัวยิ่งขึ้น (6) การดำเนินโครงการอุตสาหกรรมการผลิตและการแปรรูปการเกษตรขั้นสูง (7) การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษทั้ง 3 แห่งใน จ. เกียนยาง จ. ค้นหว่า และ จ. นิ่งห์ส่วน[su_spacer size=”20″]
สำหรับภาคธุรกิจของเวียดนามที่น่าจับตามองในปี 2561 นี้ ได้แก่ (1) ภาคอสังหาริมทรัพย์ โดยใน 2 เดือนแรกมีเงินลงทุนโดยตรงจากต่างชาติกว่า 312.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในไตรมาสที่ 2 และ 3 (2) ภาคอุตสาหกรรมการผลิตและการแปรรูปการเกษตร โดยเฉพาะที่ใช้เทคโนโลยีสะอาดและลงทุนในภูมิภาคสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง (3) ธุรกิจพลังงาน โดยเฉพาะพลังงานหมุนเวียน (4) บริษัทรัฐวิสาหกิจ หรือ SOEs ที่รัฐบาลจะถอนหุ้น อาทิ บริษัท PetroVietnam บริษัท Vinamilk และบริษัท Vinacomin (5) ธุรกิจการค้าและบริการ โดยเฉพาะภาค E-Commerce ที่ต้องการ Platform และแอพพลิเคชั่นต่างๆ และการค้าปลีกอีกมาก[su_spacer size=”20″]
ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์
กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ
สถานกงสุลใหญ่ ณ นครโฮจิมินห์