จากการที่จังหวัดบ่าเสียะ-หวุงเต่า มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจของเวียดนาม โดยติดอันดับ 5 จังหวัด/นครที่มีขนาดเศรษฐกิจ (GRDP) การจัดเก็บรายได้งบประมาณของรัฐ และดัชนีความสามารถในการแข่งขันของจังหวัด (Provincial Competitive Index: PCI) สูงที่สุดของเวียดนาม และจากข้อมูลด้านการลงทุนของเวียดนามระบุว่า จังหวัดบ่าเสียะ-หวุงเต่า มีโครงการลงทุนสะสมรวม 1,158 โครงการ แบ่งเป็น (1) โครงการ FDI 465 โครงการ มูลค่ารวมกว่า 3.3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ มากเป็นอันดับที่ 3 ของเวียดนาม (รองจากนครโฮจิมินห์และกรุงฮานอย) และ (2) โครงการลงทุนภายในประเทศ 692 โครงการ มูลค่าประมาณ 1.6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ ในไตรมาสแรกของปี 2567 จังหวัดบ่าเสียะ-หวุงเต่า ยังสามารถดึงดูด FDI มูลค่ากว่า 1.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และเงินลงทุนในประเทศอีกกว่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งข้อมูลข้างต้น จึงเป็นเหตุผลให้เวียดนามมุ่งพัฒนาและยกระดับจังหวัดบ่าเสียะ-หวุงเต่า และได้ประกาศ “แผนแม่บทการพัฒนาจังหวัดบ่าเสียะ-หวุงเต่า ปี 2564 – 2573” โดยมีเป้าหมายและรายละเอียด ดังนี้
เป้าหมายของแผนแม่บทการพัฒนาจังหวัดบ่าเสียะ-หวุงเต่า ปี 2564 – 2573
- มีอัตราการเติบโตของ GRDP เฉลี่ยร้อยละ 8.1 – 8.6
- ยกระดับให้เป็น “นคร” ซึ่งจะมีโครงสร้างการบริหารนครฯ ที่ขึ้นตรงกับรัฐบาลส่วนกลางของเวียดนาม โดยประชากรมีรายได้เฉลี่ย 18,000 – 18,500 ดอลลาร์สหรัฐต่อคนต่อปี
- ธุรกิจภาคส่วนต่าง ๆ มีสัดส่วนต่อ GRDP ดังนี้
(3.1) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสำหรับภาคอุตสาหกรรม ร้อยละ 58 – 58.5
(3.2) ภาคบริการ ร้อยละ 29 – 29.5
(3.3) ภาคเกษตรกรรม ป่าไม้ และการประมง ร้อยละ 6 – 6.5 และ
(3.4) การจัดเก็บภาษี ร้อยละ 6.5 – 6.7 - มีอัตราการเติบโตของผลิตภาพแรงงานเฉลี่ยร้อยละ 7 ต่อปี
- เศรษฐกิจดิจิทัลมีสัดส่วนร้อยละ 35 – 37 ของ GRDP
- เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจทางทะเลของเวียดนาม โดยมีมูลค่าเศรษฐกิจทางทะเลที่รวมทั้งน้ำมันและก๊าซคิดเป็นร้อยละ 75 ของ GRDP
- มีอัตราการขยายตัวของเขตเมือง (urbanization) ร้อยละ 72 – 75


การพัฒนา 3 สาขาที่จังหวัดบ่าเสียะ-หวุงเต่ามุ่งเน้น
(1) อุตสาหกรรม
(1.1) ดึงดูดการลงทุนในโครงการปิโตรเคมี ปิโตรเคมีปลายน้ำ (Petrochemical Downstream) ไฟฟ้า-อิเล็กทรอนิกส์ การผลิตหุ่นยนต์ อุปกรณ์ครบวงจรสำหรับระบบอัตโนมัติ อุปกรณ์ควบคุมระยะไกล (Remote Control) Internet of Things (IoT) และปัญญาประดิษฐ์ (AI) เป็นต้น
(1.2) พัฒนาอุตสาหกรรมบริการ (support industries) ที่สามารถมีส่วนร่วมและเชื่อมโยงกับเขตอุตสาหกรรม เขตเมือง และบริการของภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้ของเวียดนาม ตามแนวเส้นทางถนนวงแหวนหมายเลข 3 และ 4 ของนครโฮจิมินห์ และทางหลวงต่าง ๆ อย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนพัฒนาอุตสาหกรรมสีเขียวที่สามารถมีส่วนร่วมอย่างลึกซึ้งในเครือข่ายการผลิตและห่วงโซ่มูลค่าระดับโลก
(1.3) รักษาและพัฒนาขีดความสามารถของโรงงานเหล็กที่มีอยู่ รวมถึงพัฒนาอุตสาหกรรมการแปรรูปสินค้าเกษตร ป่าไม้ และประมง ตลอดจนอุตสาหกรรมแปรรูปและการผลิตอื่น ๆ
(1.4) รักษาโรงงานผลิตไฟฟ้าที่มีอยู่แล้วและวางแผนการพัฒนาโครงการพลังงานสะอาดและพลังงาน หมุนเวียนใหม่เพื่อตอบสนองความต้องการภายในประเทศและการส่งออก อาทิ โครงการผลิตไฟฟ้าจาก LNG และพลังงานลมบนน่านน้ำใกล้ชายฝั่งและนอกชายฝั่ง ตลอดจนใช้ประโยชน์จากแหล่งพลังงานชีวมวล และลงทุนก่อสร้างโรงกําจัดขยะโดยใช้เทคโนโลยีการเผาและการผลิตไฟฟ้าจากความร้อนในการเผาขยะ
(2) การบริการทางทะเลและโลจิสติกส์
(2.1) พัฒนาและยกระดับท่าเรือน้ำลึก Cai Mep และ Thi Vai ให้เป็นท่าเรือขนถ่ายระหว่างประเทศขนาดใหญ่ในระดับทวีปและระดับนานาชาติ
(2.2) จัดตั้งเขตประกอบการค้าเสรี (Free Trade Zone) และสร้างศูนย์กลางโลจิสติกส์แห่งชาติควบคู่กับระบบท่าเรือในพื้นที่ Cai Mep Ha
(2.3) พัฒนาอุตสาหกรรม เขตเมือง และการบริการขนาดใหญ่ ในเขตเมืองใหม่ Phu My
(3) การท่องเที่ยว
(3.1) พัฒนาเมืองหวุงเต่าให้กลายเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวคุณภาพสูงระดับโลก รวมถึงพัฒนารูปแบบการท่องเที่ยวระดับชาติและการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์สำหรับเกาะ Con Dao
(3.2) พัฒนาเส้นทางการท่องเที่ยวชายฝั่งโดยใช้ประโยชน์จากทางด่วน Bien Hoa – Vung Tau
(3.3) พัฒนาสถานที่ท่องเที่ยวระดับชาติ Long Hai – Phuoc Hai และ Ho Tram – Binh Chau โดยมุ่งเน้นการท่องเที่ยวรีสอร์ททางทะเลและเกาะ การท่องเที่ยวด้านกีฬา ความบันเทิง วัฒนธรรม นิเวศวิทยา การรักษาสุขภาพ และการท่องเที่ยวเชิงเกษตรในพื้นที่ชนบท
ข้อมูล: สถานกงสุลใหญ่ ณ นครโฮจิมินห์
เรียบเรียงโดย: ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์