กระทรวงการวางแผนและการลงทุนเวียดนาม (MPI) ระบุว่า ความเสียหายทั้งหมดของพายุไต้ฝุ่นยางิ ที่มีต่อเศรษฐกิจเวียดนามมีมูลค่ามากกว่า 81,500,000 ล้านดอง (ประมาณ 3.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) ส่งผลให้ GDP ตลอดทั้งปี 2567 ลดลงร้อยละ 0.15 โดยพายุฯ ได้สร้างความเสียหายต่อ 26 จังหวัดภาคเหนือของเวียดนาม โดยเฉพาะกรุงฮานอย นครไฮฟอง และจังหวัดภูเขาทางภาคเหนือ ส่งผลให้เกิดน้ําท่วมฉับพลันและแผ่นดินถล่มอย่างรุนแรง ในขณะเดียวกัน โครงการโครงสร้างพื้นฐานสาธารณะจํานวนมากได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานที่สําคัญในท้องถิ่นต่างๆ บริการสาธารณะ เช่น ไฟฟ้า น้ํา และการสื่อสารถูกตัดขาด
ผลกระทบของพายุฯ ต่อภาคธุรกิจ
- ภาคเกษตรกรรม ป่าไม้ และการประมง – พายุฯ ได้สร้างความเสียหายต่อพื้นที่การเกษตรประมาณ 384,800 เฮกตาร์ และพื้นที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำประมาณ 35,000 เฮกตาร์
- ภาคอุตสาหกรรม – พายุฯ ได้ส่งผลกระทบต่อโรงงานอุตสาหกรรมกว่า 430 แห่ง โดยเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมและกระแสไฟฟ้าถูกตัดขาด รวมทั้งเกิดภาวะชะงักต่อการจัดหาวัตถุดิบในการแปรรูป โดยเฉพาะอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารและสิ่งทอ
- ภาคการท่องเที่ยว – เกิดความเสียหายต่อโครงสร้างพื้นฐานและเส้นทางทางคมนาคมขนส่งหลายแห่งโดยเฉพาะในจุดท่องเที่ยวยอดนิยม ได้แก่ อ่าวฮาลอง และ จ.หล่าวกาย โดยบ้านเรือนประมาณ 281,900 หลัง ได้รับความเสียหายและหลังคาพังทลาย ในขณะที่ต้นไม้ในเมืองจํานวนประมาณ 310,000 ต้นหัก/ล้มลง
เศรษฐกิจมหภาคของเวียดนาม
สื่อท้องถิ่นรายงานว่าแม้จะเกิดเหตุการณ์พายุฯ แต่เศรษฐกิจโดยรวมของประเทศในไตรมาสที่ 3 ยังคงมีการเติบโต โดย GDP ในไตรมาสที่ 3 เติบโตร้อยละ 7.4 และในช่วง 3 ไตรมาสแรกเติบโตร้อยละ 6.82 เมื่อเทียบกับห้วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้วโดยมีผลจากปัจจัยต่างๆ ดังนี้ (1) มาตรการของรัฐบาลในการกระตุ้นความต้องการบริโภคภายในประเทศ (2) เศรษฐกิจมหภาคที่ยังคงมีเสถียรภาพด้วยนโยบายการคลังและการเงินที่มีประสิทธิผลในการควบคุมอัตราเงินเฟ้อ และ (3) การดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศที่เพิ่มขึ้นอีกครั้ง
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีเวียดนาม ยังคงตั้งเป้าหมายให้เวียดนามบรรลุอัตราเติบโด GDP ในปี 2567 อยู่ที่ร้อยละ 7 และอัตราการเติบโตในไตรมาสที่ 4 ปี 2567 อยู่ที่ร้อยละ 7.5
ทางด้านการค้าระหว่างประเทศ ถือเป็นฟันเฟืองในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจมหภาคของเวียดนาม ในห้วง 9 เดือนแรกของปี 2567 โดยเวียดนามมีมูลค่าการส่งออกและนําเข้ารวมอยู่ที่ 578,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยแบ่งเป็นการส่งออกอยู่ที่ประมาณ 299,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.4 และการนําเข้าอยู่ที่ประมาณ 278,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ได้ดุลการค้ากว่า 20,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในขณะเดียวกัน การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2567 เวียดนามสามารถดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศได้กว่า 24,780 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.6 เมื่อเทียบกับห้วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว โดยการลงทุนส่วนใหญ่เป็นการขยายกิจกรรมการผลิตและกิจกรรมทางธุรกิจจึงสะท้อนความเชื่อมั่นของนักลงทุนในสภาพแวดล้อมทางธุรกิจในเวียดนาม
ข้อมูล : สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงฮานอย