ในปี 2566 เป็นห้วงเวลาความผันผวนของตลาดอุตสาหกรรมยานยนต์เวียดนาม โดยมีปัจจัยจาก สถานการณ์ความผันผวนทางการเงินและความรุนแรงในเชิงภูมิรัฐศาสตร์ จากรายงานของ Vietnam Automobile Manufacturers Association (VAMA) พบว่า ในปี 2566 ยอดขายรถยนต์ในเวียดนามมีจำนวน 301,989 คัน ลดลงกว่าร้อยละ 25.4 เมื่อเทียบกับปี 2565 (รถยนต์ส่วนบุคคลลดลงร้อยละ 24.5 รถยนต์เพื่อการพาณิชย์ลดลงร้อยละ 13.7 และรถยนต์เพื่อวัตถุประสงค์พิเศษลดลงร้อยละ 69.2) โดยยี่ห้อรถยนต์ที่ใช้น้ำมันยอดนิยมของเวียดนาม 3 อันดับแรก ได้แก่ ยี่ห้อ Hyundai (67,400 คัน) Toyota (57,414 คัน) และ Ford (38,322 คัน) ในขณะที่ Vinfast ของเวียดนามเองยังคงครองส่วนแบ่งตลาด มียอดจำหน่ายในเวียดนามกว่า 32,000 คัน
อีกทั้งในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 ยอดขายรถยนต์ในเวียดนามอยู่ที่ 134,884 คัน ลดลงร้อยละ 1.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2566 (รถยนต์นั่งส่วนบุคคลลดลงร้อยละ 3 รถยนต์เพื่อการพาณิชย์เพิ่มขึ้นร้อยละ 2 และรถยนต์เพื่อวัตถุประสงค์พิเศษลดลงร้อยละ 4)
ภาพรวมตลาดรถยนต์ EV ในเวียดนาม
ปัจจุบัน เวียดนามมีรถยนต์ EV บนท้องถนนแล้วกว่า 300,000 คัน และคาดว่าในปี 2567 นี้ ยอดขายรถยนต์ EV ในเวียดนามจะเพิ่มขึ้นเป็น 50,000 คัน ส่งผลให้ส่วนแบ่งตลาดของรถยนต์ EV เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 16 ทั้งนี้ VAMA ยังได้คาดการณ์เพิ่มเติมว่า ภายในปี 2571 เวียดนามจะมีรถยนต์ EV เพิ่มเป็น 1 ล้านคัน และภายในปี 2583 จะเพิ่มเป็น 3.5 ล้านคัน
อย่างไรก็ดี ตามรายงานของ HSBC ยังระบุว่า ภายในปี 2583 เวียดนามยังคงต้องการเงินทุนมูลค่ามากกว่า 12,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และพลังงานสะสม 14 tWh เพื่อให้มีโครงสร้างพื้นฐานด้านสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าและกำลังการผลิตพลังงานหมุนเวียนเพียงพอสำหรับผู้ใช้รถยนต์ EV
ขณะที่รายงานของ 6Wresearch พบว่า ขนาดตลาดรถยนต์ไฟฟ้าเวียดนามมีอัตราการเติบโตต่อปีแบบทบต้น (compound annual growth rate) ที่ร้อยละ 22.9 ระหว่างปี 2563-2568 ซึ่งแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของตลาดรถยนต์ไฟฟ้าเวียดนามที่มีแนวโน้มเติบโตอย่างรวดเร็วจากนโยบายสนับสนุนและสิทธิพิเศษที่รัฐบาลนำมาใช้ เช่น การยกเว้นค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนและการลดภาษีการบริโภคพิเศษสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมให้ผู้บริโภคหันมาใช้รถ EV มากขึ้น
ทั้งนี้ รัฐบาลเวียดนามอยู่ในระหว่างจัดทำนโยบายสนับสนุนการใช้รถยนต์ EV ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าเวียดนามอยู่ระหว่างจัดทำกฎระเบียบกำหนดราคาไฟฟ้าในการใช้สถานีชาร์จรถยนต์ EV ในอาคารและศูนย์การค้า ในขณะที่กระทรวงก่อสร้างเวียดนามอยู่ระหว่างจัดทำกฎระเบียบเกี่ยวกับการสร้างสถานีชาร์จรถยนต์ EV ในพื้นที่สาธารณะและการวางผังเมืองเพื่อรองรับการใช้งานรถยนต์ EV ที่เพิ่มขึ้น อีกทั้งรัฐบาลเวียดนามมีนโยบายสนับสนุนการใช้รถยนต์ EV เช่น การยกเว้นค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนรถ รวมถึงการลดภาษีนําเข้าอีกด้วย
นโยบายของภาครัฐในการสนับสนุนอุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ภายในประเทศ โดยมีรายละเอียด ดังนี้
(1) การลดภาษีบริโภคพิเศษ (Special Consumption Tax) มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2565 โดยกำหนดให้ (1) รถยนต์ไฟฟ้า ลดภาษีร้อยละ 1-3 ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2565 – 28 กุมภาพันธ์ 2570 และร้อยละ 4 – 11 ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2570 เป็นต้นไป (2) รถยนต์ไฮบริด ลดภาษีร้อยละ 5 – 15 ตามรุ่นที่กำหนด และ (3) รถยนต์ที่ใช้พลังงานชีวภาพ (ไฮโดรเจน) ลดภาษีตามชนิดรุ่นที่กำหนด
(2) มติเลขที่ 101/2021/ND-CP มีผลบังคับใช้จนถึง 31 ธันวาคม 2570 ให้สิทธิประโยชน์แก่ผู้ผลิตรถยนต์ภายในประเทศด้วยการลดภาษีนำเข้าส่วนประกอบ หากมีคุณสมบัติตรงตามข้อกำหนดผลผลิตทั่วไปขั้นต่ำและผลผลิตเฉพาะขั้นต่ำของแต่ละรุ่น โดยผู้ผลิตและประกอบรถยนต์สามารถเลือกระยะเวลาการพิจารณารับสิทธิประโยชน์ทางภาษีเป็น 6 เดือน หรือ 12 เดือน
(3) ร่างมติเกี่ยวกับการลดค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนรถยนต์ เพื่อลดค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนสำหรับรถยนต์ที่ผลิตและประกอบในประเทศ โดยคาดว่าร่างมติดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ได้ในห้วงปลายปีนี้ – ต้นปีหน้า ซึ่งบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ในประเทศหลายรายกำลังเฝ้าติดตามสถานการณ์
การนำเข้ารถยนต์และส่วนประกอบจากต่างประเทศ
ตามข้อมูลจากกรมศุลกากรเวียดนาม ในปี 2566 เวียดนามมีรถยนต์นำเข้าแบบสำเร็จรูปทั้งคัน (Completely Built Up) จำนวน 118,942 คัน มูลค่ารวม 2,830 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเป็นการนำเข้ารถยนต์จากไทยกว่าร้อยละ 45.35 (53,942 คัน มูลค่ากว่า 1,140 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงร้อยละ 25.1 และร้อยละ 20.3 ตามลำดับเมื่อเทียบกับปี 2565) อินโดนีเซียกว่าร้อยละ 42.68 (42,676 คัน มูลค่ากว่า 607.55 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงร้อยละ 41.2 และร้อยละ 42.1 ตามลำดับเมื่อเทียบกับปี 2565) จีนกว่าร้อยละ 9.25 (11,002 คัน มูลค่ากว่า 394.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงร้อยละ 36.5 และร้อยละ 44.8 ตามลำดับเมื่อเทียบกับปี 2565) และประเทศอื่น ๆ อีกร้อยละ 9.52
ทั้งนี้ ในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 ประเทศที่ส่งออกรถยนต์มายังเวียดนามมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ อินโดนีเซีย ครองส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 44 (32,797 คัน มูลค่ากว่า 478.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ไทย ร้อยละ 32 (23,736 คัน มูลค่ากว่า 463 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) และจีน ร้อยละ 20 (14,729 คัน มูลค่ากว่า 455.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ)
สำหรับการนำเข้าชิ้นส่วนส่วนประกอบรถยนต์นั้น ในปี 2566 เวียดนามนำเข้าชิ้นส่วนส่วนประกอบรถยนต์ มูลค่ากว่า 4,110 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงร้อยละ 30 เมื่อเทียบกับปี 2565 ขณะที่ในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 เวียดนามนำเข้าชิ้นส่วนส่วนประกอบรถยนต์ มูลค่ามากกว่า 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.1 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 โดยตลาดนำเข้าสำคัญได้แก่ จีน ไทย เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ยุโรป และสหรัฐอเมริกา
โอกาสและความเชื่อมโยงกับไทย
(1) อุตสาหกรรมยานยนต์ของเวียดนาม โดยเฉพาะรถยนต์ EV อยู่ในช่วงขยายตัวอย่างน่าจับตามอง แต่ทั้งปริมาณการผลิตและยอดการขายยังต่ำกว่ามากเมื่อเทียบกับประเทศในกลุ่มอาเซียนอื่น ๆ (โดยเฉพาะไทยและอินโดนีเซีย) โดยอุตสาหกรรมยานยนต์ของเวียดนามยังมี localisation rate อยู่ในระดับต่ำ (ร้อยละ7-10) เมื่อเทียบกับไทย (ร้อยละ 84) มาเลเซีย (ร้อยละ 80) และอินโดนีเซีย (ร้อยละ75) ส่งผลให้ผู้ผลิตของเวียดนามต้องพึ่งพาส่วนประกอบและชิ้นส่วนนำเข้าเป็นอย่างมาก ทำให้ต้นทุนการผลิตสูงกว่าประเทศอื่น ๆ ถึงร้อยละ 10 – 20
(2) การเติบโตอย่างรวดเร็วของตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในเวียดนาม น่าจะเป็นสัญญาณที่ดีสำหรับผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าและส่วนประกอบในไทยที่มีศักยภาพในการส่งออกชิ้นส่วนและแบตเตอรี่ รวมถึงบริการที่เกี่ยวเนื่องกับรถยนต์ EV จากไทยมายังเวียดนาม โดยเฉพาะการพัฒนาและติดตั้งสถานีประจุไฟฟ้าในรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งผู้ประกอบการไทยมีความเชี่ยวชาญ และเวียดนามยังคงมีจำนวนสถานีให้บริการไม่เพียงพอ
(3) เมื่อเดือนสิงหาคม 2567 ปรากฏข่าวว่า บริษัท VinFast Auto Thailand มีนโยบายให้ชะลอแผนการดำเนินธุรกิจทั้งหมดออกไปก่อน และบริษัทพร้อมที่จะจ่ายค่าชดเชยให้ผู้บริโภคภายหลัง โดยสัญญาณการชะลอแผนธุรกิจมีมาเป็นระยะและได้มีการเรียกตัวอดีต CEO ของบริษัทฯ กลับเวียดนาม โดยสาเหตุที่ทำให้ต้องตัดสินใจชะลอแผนงานออกไปน่าจะมีปัจจัยหลัก ๆ ได้แก่ การแข่งขันที่ดุเดือดในตลาดรถยนต์ EV โดยเฉพาะกับรถยนต์สัญชาติจีน อีกทั้งโมเดลธุรกิจที่จะมีการจำหน่ายรถยนต์และเปิดให้เช่าใช้แบตเตอรี่ (โมเดลให้เช่าแบตเตอรี่รายเดือน) อาจไม่เหมาะสมกับตลาดเมืองไทยมากนัก
ทั้งนี้ การที่ VinFast เลือกใช้กลยุทธ์บุกตลาดทั่วโลกตามรอย Tesla แต่ยอดขายที่ผ่านมายังไม่เข้าเป้าและน่าจะมาจากการซื้อรถเข้าฟลีต/ดีลเลอร์ของบริษัทในเครือในต่างประเทศ โดยในปี 2566 VinFast ขาดทุนไปแล้วกว่า 551.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ข้อมูล: สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงฮานอย
เรียบเรียงโดย: ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์