เวียดนามกลายเป็นผู้ส่งออกเครื่องนุ่งห่มอันดับที่ 2 ของโลกเเซงหน้าบังกลาเทศ โดยมีมูลค่า 24,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐเเละมีส่วนเเบ่งตลาด 6.4% โดยเป็นรองเพียงจีนที่มีมูลค่าการส่งออกสินค้าดังกล่าวประมาณ 142,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีส่วนแบ่งตลาด 31.6% จากรายงานสถิติขององค์การการค้าโลก (World Trade Organisation: WTO)
.
แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ปี 2563 เเละวิสัยทัศน์สำหรับปี 2573 (Master Plan for Vietnam Textile Industrial Development by 2020, with a Vision to 2030) ของรัฐบาลเวียดนามมีเป้าหมายหลักเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมหลักของประเทศโดยใช้ประโยชน์จากการส่งออกที่เน้นไปยังกลุ่ม BRIC อาเซียน เกาหลีใต้ เเอฟริกา เเคนาดา เเละตุรกี นอกเหนือจากนี้รัฐบาลเวียดนามส่งเสริมอุตสาหกรรมสนับสนุนและวัสดุการเพิ่มมูลค่าของสินค้า การใช้แรงงานจากเขตชนบท พัฒนาตลาดแฟชั่นในเขตเมืองมีการจัดโซนด้านสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มในภายในประเทศเพื่อเชื่อมโยงการขนส่ง ส่งเสริมการลงทุนที่เกี่ยวข้องและนําเทคโนโลยีนวัตกรรมมาใช้พัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มควบคู่ไปกับการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
.
เป้าหมาย
1.การพัฒนาเเบรนด์สินค้าเเฟชั่นเวียดนามโดยการพัฒนาจากผู้ผลิตเครื่องนุ่งห่มในแบบ CMT (cutting-manufacturing-trimming) ไปสู่ OEM (original equipment manufacturing) FOB (free on board) ODM (original design manufacturing) เเละการสร้างเเบรนด์ท้องถิ่น หรือ OBM (original brand name manufacturing) ภายในปี 2563
.
2.เพิ่มมูลค่าการผลิตอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มขึ้น 12-13% ต่อปีระหว่างปี 2559 – 2563 โดยเป็นการขยายตัวของอุตสาหกรรมสิ่งทอ 11 – 12% ต่อปี อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม 13 – 14% ต่อปี การส่งออกเพิ่มขึ้น 10 – 11% ต่อปี คาดการณ์ว่ามูลค่าการส่งออกในปี 2563 จะอยู่ที่ 36,000 – 38,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 60 – 90% ของมูลค่ารวมการส่งออกและตลาดภายในประเทศให้เพิ่มขึ้น 9 – 10% ต่อปี
.
3.เพิ่มมูลค่าการผลิตอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มขึ้น 9 – 10% ต่อปีระหว่างปี 2564 – 2573 โดยเป็นการขยายตัวของอุตสาหกรรมสิ่งทอ 10 – 11% ต่อปี อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม 9 – 10% ต่อปี การส่งออกเพิ่มขึ้น 6 – 7% ต่อปี คาดการณ์ว่ามูลค่าการส่งออกในปี 2573 จะอยู่ที่ 64,000 – 67,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 4 – 10% ของมูลค่ารวมการส่งออกและตลาดภายในประเทศให้เพิ่มขึ้น 8 – 9% ต่อปี
.
4.แผนพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มพื้นที่เฉพาะ ได้เเก่
- เขตสามเหลี่ยมแม่น้ําแดง พัฒนาให้กรุงฮานอยเป็นศูนย์กลางของการออกแบบและแฟชั่น มีบริษัทเสื้อผ้าระดับ hi-ends พัฒนาการปั่นด้ายเส้นใย การทอ และการย้อมในเขตอุตสาหกรรมใน จ. ซึ่งเอียน จ. นามดิ่ญ จ. ท้ายบิญ นครไฮฟอง จ. ห่านาม จ. กว่างนิญ
-
เขต Midlandsและเทือกเขาในภาคเหนือ พัฒนาการปั่นด้าย เส้นใย การทอ และการย้อมในเขตอุตสาหกรรม ใน จ. ฟูเถาะ จ. ท้ายเงวียน พัฒนาโรงงานผลิตเสื้อผ้าที่ จ. ท้ายเงวียน จ. เอียนป้าย จ. เตวียนกวาง จ. บิ๊กซาง และ จ. บักกัน
-
ภาคกลางตอนเหนือ ส่งเสริมการลงทุนเกี่ยวกับเส้นด้าย การทอ และการย้อมในเขตอุตสาหกรรม ใน จ. ทัญฮว้า จ. เหงะอาน จ. ห่าติญ จ. กว่างบุญ จ. กว่างจิ และ จ. เมื่อเทียน-เว้ ส่งเสริมการลงทุนการพัฒนาเส้นใยฝ้าย ใน จ. กว่างจิ และ จ. กว่างบิญ พัฒนาเส้นใยสังเคราะห์ในเขตพัฒนาปิโตรเคมีหงเซิน จ. ทัญฮว้า
-
ภาคกลางตอนใต้ติดชายฝั่ง พัฒนาการกระจายสินค้าอุตสาหกรรมสิ่งทอโดยเชื่อมเส้นทางด่วนเหนือ-ใต้ พัฒนาการปั่นด้าย เส้นใย การทอ และการย้อมในเขตอุตสาหกรรมในนครดานัง จ. กว่างนาม จ. กว่างหงาย จ. บิญดิญ จ. เอียน และ จ. บึงถ่วน การพัฒนา โรงงานและวัตถุดิบสําหรับเครื่องนุ่งห่ม เครื่องจักร และอะไหล่สําหรับอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มในภูมิภาค
-
ภาคตะวันตกเฉียงใต้ นครโฮจิมินห์เป็นศูนย์กลางของการออกแบบแฟชั่น การผลิตสินค้าแฟชั่น เทคโนโลยีด้านสิ่งทอ ขยายการลงทุนในเขตอุตสาหกรรมใน จ. บุญเรือง จ. ด่งนาย และนครโฮจิมินห์ รวมทั้งพัฒนาโรงงานตัดเย็บ เครื่องจักร และอะไหล่สําหรับภูมิภาค
-
พื้นที่สามเหลี่ยมแม่น้ําโขง พัฒนาการผลิตเส้นใย การทอ และการย้อมในเขตอุตสาหกรรม จ. ล็องอาน พัฒนาการผลิตเสื้อผ้าสําหรับการส่งออกและการอุปโภคภายในประเทศ ใน จ. เตียนซาง จ. เป็นแจ จ. หวิงล็อง จ. ต่งท้าป นครเกิ่นเทอ จ. บักเลียว และ จ. เกียนซาง
-
พื้นที่ Highland ส่งเสริมการปลูกฝ้าย มัลเบอร์รี่ เป็นต้น และเชื่อมโยงกับศูนย์การเย็บ การส่งออกเสื้อผ้าในประเทศ
.
อุตสาหกรรมสาขาสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มเวียดนามได้ประโยชน์จากการปรับเปลี่ยนนโยบาย และโครงสร้างทางเศรษฐกิจจีนที่มุ่งพัฒนาอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าเพิ่มสูงในปี 2562 โดยเวียดนามเป็นประเทศดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มมากกว่าประเทศอื่นๆ เนื่องจาก ค่าแรงที่ตำ่กว่าประเทศอื่นๆ เเละความตกลงทางการค้าเสรี อาทิ CPTPP เเละ EVFTA ซึ่งเป็นข้อได้เปรียบประเทศผู้ผลิตคู่เเข่ง เช่น กัมพูชาเเละบังกลาเทศ เพราะ EU เป็นตลาดส่งออกอันดับ 2 ของเวียดนามโดยปัจจุบันไม่มีการเก็บภาษีสินค้าสิ่งทอจากเวียดนามที่ส่งออกไปสู่ EU
.
เวียดนามพยายามให้ภาพของการเสริมสร้างขีดความสามารถด้านการแข่งขันและการส่งเสริมการลงทุนในสาขาอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มเป็นแหล่งผลิตเครื่องนุ่งห่มคุณภาพดีราคาย่อมเยา และพยายามดึงดูดการลงทุนและปรับตัวเป็นฐานการผลิตของผู้นําเข้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มรายใหญ่ของโลก เช่น จีน สหรัฐฯ EU ญี่ปุ่น แคนาดา มีการจัดทํากรอบการพัฒนารายอุตสาหกรรมและกําหนดเป้าหมายที่ชัดเจน มุ่งส่งเสริมการพัฒนาในเขตชนบท การปรับใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มและสร้างความได้เปรียบจากการทําความตกลงทางการค้า (FTA) ให้กับผู้ผลิตภายในประเทศซึ่งผู้ผลิตเวียดนามต้องปรับตัวเพื่อให้สามารถผลิตสินค้า รวมถึงการจัดหาวัตถุดิบเเละแหล่งที่มาของวัตถุดิบ (ซึ่งปัจจุบันพึ่งพาวัตถุดิบกว่า 58% จากจีน เนื่องจากคุณภาพและราคา) ให้ได้ตามมาตรฐานของ EU ซึ่งหากปฏิบัติได้ ก็จะส่งผลเชิงบวกต่อการส่งออกในระยะกลางถึงยาวต่อไป
.
เเม้ว่าการส่งออกมีการเติบโตตามคาดเเต่มูลค่าการส่งออกเริ่มชะลอตัวลงในปี 2562 และในปี 2563 การส่งออกหดตัวต่อเนื่องจากวิกฤติโควิด-19 โดยลดลง 4.21% เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2562 และในปี 2564 มีความเป็นไปได้ว่าไม่น่าจะบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้เนื่องจากการเเพร่ระบาดระลอกใหม่ในเวียดนาม
.
ผู้ประกอบการไทยควรใช้โอกาสช่วงโควิด-19 เข้าไปลงทุนในอุตสาหกรรมสิ่งทอเเละเครื่องนุ่งห่มในเวียดนามขณะที่การแข่งขันในอุตสาหกรรมดังกล่าวในเวียดนามยังไม่รุนแรงนัก เนื่องจากผู้ประกอบการผ้าผืนรายใหญ่มีจำนวนน้อย และส่วนใหญ่อยู่ในเครือข่ายของ VINATEX (The Vietnam National Textile and Garment Group) ซึ่งเป็นกลุ่มรัฐวิสาหกิจ สิ่งทอที่ใหญ่ที่สุดของเวียดนามที่กำลังจะแปรรูปเป็นกิจการของเอกชน ขณะที่ผู้ประกอบการต่างชาติที่เข้าไปลงทุนผลิตผ้าผืน ในเวียดนามเน้นผลิตผ้าผืนคุณภาพสูงเพื่อป้อนให้แก่ผู้ประกอบการเครื่องนุ่งห่มที่ใช้วัตถุดิบที่มีคุณภาพตามคำสั่งซื้อของคู่ค้าในต่างประเทศ จึงยังมีช่องว่างในตลาดผ้าผืนคุณภาพระดับกลางและระดับล่าง โดยผู้ประกอบการไทยควรเน้นตลาดผ้าผืนคุณภาพระดับกลาง เพื่อหลีกเลี่ยงการแข่งขันด้านราคากับผ้าผืนของจีนที่เน้นตลาดระดับล่าง ทั้งนี้ ผู้ประกอบการที่สนใจเข้าไปลงทุนในเวียดนามควรพิจารณาพื้นที่ลงทุนให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล
.
นอกเหนือจากนี้ CPTPP ซึ่งเวียดนามเป็นประเทศสมาชิกมีข้อกำหนดที่เข้มงวดเกี่ยวกับเเหล่งที่มาของวัตถุดิบในการผลิตสินค้าซึ่งถือเป็นความท้าทายของผู้ประกอบการสิ่งทอเวียดนาม ผู้ประกอบการเหล่านี้ส่วนใหญ่ยังพึ่งพาวัตุดิบนำเข้าจากต่างประเทศ ผู้ประกอบการไทยอาจใช้โอกาสนี้ในการผลักดันการส่งออกวัตถุดิบสำหรับการผลิตสิ่งทอหรือสินค้าอื่นๆ รวมไปถึงการขยายการลงทุนธุรกิจในเวียดนามโดยการแสวงหาพันธมิตรทางการค้ากับผู้ประกอบการท้องถิ่นให้เข้ามามีส่วนร่วมในการทำตลาดเพื่อช่วยลดต้นทุนการดำเนินการในระยะแรกและลดความเสี่ยงจากการประกอบธุรกิจ
.
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงฮานอย