เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2567 นาย โฮ ดึ๊ก ฟ็อก (Ho Duc Phoc) รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเวียดนาม ได้ลงมติอนุมัติยุทธศาสต์การพัฒนาและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนแห่งชาติ (National Blockchain Strategy) โดยตั้งเป้าให้เวียดนามเป็นศูนย์กลางเทคโนโลยีบล็อกเชนของภูมิภาคภายในปี 2573 และได้มีแผนการพัฒนาศักยภาพบล็อกเชนผ่านการวิจัย การใช้งาน และการประยุกต์เทคโนโลยีสมัยใหม่ ซึ่งรัฐบาลเวียดนามเชื่อมั่นว่า เทคโนโลยีบล็อกเชนจะเป็นสิ่งสําคัญในการยกระดับอุตสาหกรรมทันสมัยภายในเวียดนามให้ก้าวไปอีกขั้น นอกจากนี้ รัฐบาลเวียดนามยังมีแผนจะพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษสําหรับการรองรับอุตสาหกรรมบล็อกเชน และมีแผนจะดึงดูดผู้เชี่ยวชาญ/บริษัทเทคโนโลยีต่างประเทศเข้ามาร่วมวิจัย ค้นคว้า และลงทุนในด้านดังกล่าว
ทั้งนี้ ยุทธศาสตร์การพัฒนาและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนแห่งชาติเวียดนามได้ระบุ 6 roadmaps สําคัญในการบรรลุเป้าหมายต่าง ๆ ได้แก่ (1) การปรับปรุงสภาพแวดล้อมทางกฎหมายให้เอื้อต่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัล (2) การพัฒนาอุตสาหกรรมดิจิทัลในประเทศ เพื่อสร้างระบบนิเวศที่เหมาะสมต่ออุตสาหกรรมบล็อกเชน (3) การมีกลไกการควบคุม (control mechanisms) ที่เอื้อต่อการตรวจสอบ (4) การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนในอุตสาหกรรมต่าง ๆ อย่างสร้างสรรค์ (5) การส่งเสริมการวิจัย นวัตกรรม และความร่วมมือระหว่างประเทศ และ (6) การพัฒนาและเปลี่ยนผ่านทางดิจิทิล (digital transformation) เพื่อสร้างเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลที่ยั่งยืน โดยกําหนดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการสื่อสาร กระทรวงแรงงาน และกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีดําเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป นอกจากนี้ รัฐบาลเวียดนามจะประยุกต์ใช้ยุทธศาสตร์ฯ ผ่านการส่งเสริมความร่วมมือกับ Vietnam Blockchain Association และองค์กรอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อช่วยเหลือและสนับสนุนสตาร์ทอัพท้องถิ่นด้านบล็อกเชนของเวียดนาม รวมถึงสร้างความตระหนักรู้เรื่องการใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนกับอุตสาหกรรมท้องถิ่นด้วย
โดยในปี 2568 เวียดนามจะมุ่งดำเนินการพัฒนาสถาบันวิจัยและฝึกอบรมบล็อกเชน 10 แห่ง รวมถึงโครงการพัฒนาทรัพยากรบุคคลด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งรวมถึงเทคโนโลยีบล็อกเชน การพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านบล็อกเชน และระบบนิเวศของเทคโนโลยีบล็อกเชน (blockchain ecosystem) ซึ่งครอบคลุมภาคอุตสาหกรรมที่สําคัญ เช่น ภาคธุรกิจธนาคาร/การเงิน ภาคคมนาคมและโลจิสติกส์ ภาคบริการสุขภาพ ภาคการศึกษา ภาคอุตสาหกรรมทันสมัย ภาคพลังงาน ภาคการท่องเที่ยว ภาคการเกษตร และภาครัฐ ซึ่งจะเป็นฐานในการสร้างบริษัท/เครือข่ายบล็อกเชนที่มีชื่อเสียงของเวียดนามและภูมิภาคต่อไป นอกจากนี้ ภายในปี 2573 รัฐบาลเวียดนามยังได้ตั้งเป้าให้เวียดนามมีบริษัทผู้ให้บริการบล็อกเชนที่มีชื่อเสียงจํานวน 20 บริษัทภายในประเทศ และมีการจัดตั้ง Blockchain Technology Testing Centres จํานวน 3 แห่ง รวมถึงวางเป้าหมายให้เวียดนามกลายเป็น 1 ใน 10 สถาบันการวิจัยและฝึกอบรมด้านเทคโนโลยีบล็อกเชนที่มีชื่อเสียงของทวีปเอเชีย
ภาพรวมตลาดบล็อกเชนของเวียดนาม
รายงานของ Grand View Research เผยว่า ตลาดบล็อกเชนเวียดนามจะมีมูลค่าราว 2.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2569 เพิ่มขึ้น 5 เท่าเมื่อเทียบกับปี 2564 โดยปัจจุบันเวียดนามมีสตาร์ทอัพด้านบล็อกเชนจํานวน 10 บริษัท มูลค่ารวมกว่า 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และยังมีสตาร์ทอัพระดับยูนิคอร์นของเวียดนามในด้านนี้ด้วย เช่น บริษัท VNG และบริษัท MoMo
นอกจากนี้ ตามรายงานของ Global Crypto Adoption Index ประจําปี 2565 จัดทําโดย Chainalysis ระบุว่า ในห้วงเดือนกรกฎาคม 2564 – มิถุนายน 2565 การซื้อขายสกุลเงินดิจิทัลในเวียดนามมีมูลค่าสูงถึง 112.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และในปี 2566 เวียดนามมีบัญชีผู้ถือครองสกุลเงินดิจิทัล (cryptocurrency) จํานวนกว่า 16.6 ล้านบัญชี โดยในจํานวนดังกล่าว ร้อยละ 31 ถือครอง Bitcoin และจากการวิจัยของ Chainalysis ยังระบุเพิ่มเติมว่า ในปี 2566 เวียดนามเป็นประเทศที่นําสกุลเงินดิจิทัลมาใช้ทําธุรกรรมทางการเงินมากที่สุดเป็นลําดับที่ 5 ของโลก และเป็นลําดับที่ 2 ของอาเซียน รองจากอินโดนีเซีย
แม้ว่าตลาดสกุลเงินดิจิทัลในเวียดนามจะขยายตัวอย่างต่อเนื่อง แต่เมื่อต้นปี 2567 ธนาคารแห่งชาติเวียดนามได้ออกประกาศว่า สกุลเงินดิจิทัลยังไม่ใช่สกุลเงินที่สามารถใช้ชําระหนี้ได้ตามกฎหมาย รวมทั้งไม่สามารถใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน อย่างไรก็ดี รัฐบาลเวียดนามยังคงมุ่งมั่นในการทําให้สกุลเงินดิจิทัลสามารถใช้ชําระ/ซื้อ-ขายสินค้าอย่างถูกต้องตามกฎหมายในอนาคตต่อไป
สรุป
เทคโนโลยีบล็อกเชน เป็นเทคโนโลยีที่มีศักยภาพเติบโตสูงและสามารถประยุกต์ใช้ได้ในหลากหลาย อุตสาหกรรม อย่างไรก็ดี การพัฒนาบล็อกเชนเวียดนามยังเผชิญกับความท้าทาย เช่น ค่าใช้จ่ายในการดําเนินการที่สูง การขาดทรัพยากรบุคคลคุณภาพสูงและความตระหนักรู้ของผู้ใช้งาน/ผู้พัฒนา รวมถึงระบบการกํากับดูแลทางกฎหมายที่ยังจํากัด โดยเฉพาะด้านทรัพยากรบุคคลซึ่งต้องอาศัยผู้มีประสบการณ์ และปัญหาเรื่อง data breach/ online fraud and scams ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
ในปี 2566 Financial Action Task Force (FATF) ยังคงขึ้นบัญชีเฝ้าระวังเวียดนามในฐานะประเทศที่มีความเสี่ยงด้านการฟอกเงิน จึงมีความเป็นไปได้มากว่า รัฐบาลเวียดนามจะให้ความสําคัญกับสกุลเงินดิจิทัลและการพัฒนาเทคโนโลยีบล็อกเชนของประเทศ เพื่อวางรากฐานการเพิ่มความโปร่งใสและความปลอดภัยในระบบการเงินของประเทศ ลดความเสี่ยงจากการฟอกเงินและการทําธุรกรรมที่ผิดกฎหมาย โดยเทคโนโลยีบล็อกเชนสามารถเสริมสร้างมาตรฐานการตรวจสอบที่เข้มงวดและตรวจสอบเส้นทางการทําธุรกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยรัฐบาลเวียดนามอาจใช้ยุทธศาสตร์ฯ นี้ เพื่อให้เวียดนามมีโอกาสปรับปรุงการปฏิบัติตามมาตรฐานของ FATF และถอดถอนชื่อเวียดนามจากบัญชีเฝ้าระวังของ FATF ด้านความเสี่ยงในการฟอกเงิน
ข้อมูล: สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงฮานอย
เรียบเรียงโดย: ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์