เวียดนามมุ่งให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจของภาคตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศ เนื่องจากในช่วงเดือนมกราคม – พฤศจิกายน 2566 มีมูลค่าการค้าระหว่างประเทศกว่า 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 32.4 ของทั้งประเทศ โดยนครโฮจิมินห์ มีมูลค่าการค้าต่างประเทศสูงสุดที่ 8.9 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามด้วยจังหวัดบิ่ญเซือง และด่งนาย อยู่ที่ 4.77 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ และ 3.4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามลำดับ
เวียดนามยังตั้งเป้าส่งเสริมความเชื่อมโยงและความร่วมมือระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ ในห่วงโซ่อุปทาน โดยการวางแผนแบ่งปันข้อมูลเกี่ยวกับตลาดส่งออก นโยบายการค้าระหว่างประเทศ FTA เพื่อส่งเสริมการนำเข้า-ส่งออกของเวียดนาม เพื่อให้เป็นไปตามแผนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของภูมิภาคตะวันตกเฉียงใต้ในปี 2573
นอกจากภาพรวมข้างต้น อย่างไรก็ดี หากเจาะลงมาในระดับจังหวัด เศรษฐกิจของจังหวัดบิ่ญเซืองยังได้รับผลกระทบจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลก เช่น การปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ไม่คงที่ และอุปสงค์ของผู้บริโภคที่ลดลง ส่งผลให้เวียดนามต้องแสวงหาตลาดส่งออกใหม่ ๆ และตลาดที่หลากหลายมากขึ้น โดยจังหวัดบิ่ญเซืองอยู่ระหว่างปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจ โดยมุ่งเน้นด้านอุตสาหกรรมและการบริการ ทั้งนี้ ในช่วงเดือนมกราคม – พฤศจิกายน 2566 จังหวัดบิ่ญเซืองมียอดการค้า การบริการ และการบริโภคเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.7 (YoY) ดึงดูด FDI ได้ 1.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 75 (YoY) ขณะที่การส่งออกมีมูลค่า 2.82 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงร้อยละ 10.6 (YoY) และการนำเข้ามีมูลค่า 2.02 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงร้อยละ 11.7 (YoY)
การส่งเสริมการนำเข้า-ส่งออกของเวียดนาม
(1) จัดงานแสดงสินค้าเพิ่มขึ้น เพื่อนำเสนอสินค้าแปรรูป สินค้าเกษตร และสินค้า One Commune One Product (OCOP) ของภาคตะวันตกเฉียงใต้ รวมถึงสนับสนุนผู้นำเข้า-ส่งออก ธุรกิจ SMEs และ E-Commerce
(2) ผลักดันสินค้าแปรรูปของเวียดนามที่โดดเด่น โดยให้ภาคธุรกิจนำเสนอสินค้าที่โดดเด่นแก่เครือข่ายของสมาคมนักธุรกิจต่าง ๆ ในภูมิภาค
(3) ผลักดันให้เกิดความเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานระหว่างภูมิภาคสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงกับภูมิภาคตะวันตกเฉียงใต้ให้มากขึ้น เพื่อช่วยให้ภาคธุรกิจลดต้นทุนการขนส่ง และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน
โอกาสของไทย
สำหรับประเทศไทย การเน้นย้ำถึงความสำคัญของการเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานระหว่างจังหวัดต่าง ๆ ในเวียดนามใต้ เป็นการสะท้อนถึงความตั้งใจของเวียดนามที่จะพัฒนาเครือข่ายโครงสร้างพื้นฐานให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการเชื่อมนครโฮจิมินห์กับจังหวัดโดยรอบที่เป็นที่ตั้งของนิคมอุตสาหกรรมจำนวนมาก เพื่ออำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าและวัตถุดิบให้มีประสิทธิภาพ ซึ่งโครงการดังกล่าวจะช่วยดึงดูดการลงทุนในจังหวัดเหล่านี้มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะจังหวัดบิ่ญเซืองที่เพิ่งประกาศสร้างนิคมอุตสาหกรรมเพิ่มอีก 15 แห่ง จึงเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการไทยที่สนใจจะลงทุนในจังหวัดดังกล่าว
ทั้งนี้ การที่เวียดนามจัดตั้งกรมความปลอดภัยด้านอาหารนครโฮจิมินห์ เมื่อเดือนกันยายน 2566 สะท้อนให้เห็นถึงความตั้งใจของเวียดนามที่จะพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานของสินค้าอาหารของเวียดนามในอนาคต จึงเป็นพัฒนาการที่ต้องจับตามองอย่างใกล้ชิดในฐานะคู่แข่งสินค้าอาหารของไทยในตลาดโลก
ข้อมูล: สถานกงสุลใหญ่ ณ นครโฮจิมินห์
เรียบเรียงโดย: ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์