ด้านการส่งออกสินค้าเกษตร
เวียดนามตั้งเป้าส่งออกสินค้าเกษตรมากกว่า 26,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2573 ภายใต้ ยุทธศาสตร์การพัฒนาการเกษตรจนถึงปี 2523 และวิสัยทัศน์ถึงปี 2593 โดยมีเป้าหมายอัตราการเติบโตเฉลี่ยของมูลค่าสินค้าเกษตรอยู่ที่ร้อยละ 2.2 – 2.5 ต่อปี การแปรรูปผลิตผลเกษตรอยู่ที่ร้อยละ 8-10 ต่อปี อัตราส่วนพื้นที่การผลิต ตามมาตรฐาน VietGAP ร้อยละ 10-15 และเกษตรอินทรีย์ร้อยละ 1 ภายในปี 2573 รวมทั้งมีแผนจะเป็นศูนย์กลางการแปรรูปทางการเกษตรของโลกภายในปี 2593
โดยรายงานของกระทรวงเกษตรและการพัฒนาชนบทเวียดนาม (MARD) ระบุว่า เวียดนามและจีนจะลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) ส่งออกอะโวคาโดและเสาวรส จากเวียดนามไปยังจีนอย่างเป็นทางการ ซึ่งจะทำให้จำนวนผลไม้ที่ส่งออกจากเวียดนามไปยังตลาดจีนมีจำนวนทั้งหมด 8 ชนิด ทั้งนี้ ปัจจุบันเวียดนามมีผลไม้และผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร จำนวน 13 ชนิด ที่ได้ส่งออกอย่างเป็นทางการไปยังประเทศจีน ได้แก่ แก้วมังกร แตงโม กล้วย ลิ้นจี่ ลำไย เงาะ ขนุน มะม่วง มังคุด ทุเรียน เสาวรส ต้นเฉาก๊วย และมันเทศ อย่างไรก็ตาม จนถึงขณะนี้ ผลไม้และสินค้าเกษตรที่ส่งออกภายใต้รูปแบบ MOU ที่ลงนามกับจีน อันเป็นผลจากข้อตกลง Regional Comprehensive Economic Partnership (RCEP) มีเพียง 6 ชนิด ได้แก่ มังคุด ต้นเฉาก๊วย ทุเรียน กล้วย มันเทศ และแตงโม
กรมศุลกากรเวียดนามระบุว่า จีนยังเป็นตลาดส่งออกผักและผลไม้ที่ใหญ่ที่สุดของเวียดนาม โดยมีมูลค่าการซื้อขายในปี 2566 อยู่ที่ 3,640 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 139.5 เมื่อเทียบกับปี 2565 และคิดเป็นร้อยละ 65 ของมูลค่าการส่งออกผักและผลไม้ทั้งหมดของประเทศ และจีนเป็นตลาดใหญ่สำหรับสินค้าเกษตรและประมงคุณภาพสูงของเวียดนาม อย่างไรก็ตาม ภาคส่วนต่างๆ ในเวียดนาม จำเป็นต้องร่วมมือและอำนวยความสะดวกเพื่อส่งเสริมการส่งออกสินค้าเกษตรให้เป็นไปตามกฎระเบียบที่ลงนามอย่างเคร่งครัด
ด้านโลจิสติกส์
สำหรับด้านโลจิสติกส์ เมื่อวันที่ 2 มกราคม 2567 นาย Tran Hong Ha รองนายกรัฐมนตรีเวียดนาม ได้อนุมัติแผนการดำเนินงานจังหวัดกว๋างจิ โดยตั้งเป้าหมายให้กว๋างจิเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เส้นทางการขนส่งสินค้าทางถนนในอาเซียนและอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS) ภายในปี 2573 และเป็นจังหวัดที่มีระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่เข้มแข็งด้วยอุตสาหกรรมและการบริการ และเป็นแรงสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาของภูมิภาคทางเหนือและกลางของเวียดนามภายในปี 2593
ในการนี้ จ. กว๋างจิได้กำหนดกลุ่มอุตสาหกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมที่สำคัญ 4 กลุ่ม ได้แก่ 1. อุตสาหกรรมการก่อสร้าง 2. การบริการ 3. การท่องเที่ยว และ 4.เกษตรกรรม ป่าไม้ และประมง รวมทั้งพัฒนาให้จังหวัดกว๋างจิเป็นศูนย์กลางพลังงานสะอาดของภาคกลาง นอกจากนี้ กว๋างจิจะให้ความสำคัญกับการระดมเงินทุน พัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การส่งเสริมด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การพัฒนาเมืองและชนบท การพัฒนาความเชื่อมโยง และการพัฒนาอย่างยั่งยืน
เวียดนามจะติด 1 ใน 25 เศรษฐกิจชั้นนำภายในปี 2581
ด้วยเป้าหมาย ยุทธศาสตร์ และแผนงานพัฒนาของเวียดนามทั้งด้านการส่งออกสินค้าเกษตรและด้านการเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ ส่งผลให้เวียดนามเป็นประเทศที่น่าจับตามองในศักยภาพด้านเศรษฐกิจ โดยข้อมูลของศูนย์วิจัยเศรษฐศาสตร์และธุรกิจ (CEBR) ระบุว่า เวียดนามจะติด 1 ใน 25 เศรษฐกิจชั้นนำภายในปี 2581 โดยในปี 2566 เวียดนามอยู่อันดับที่ 33 ในรายงาน World Economic League Table (WELT) อันดับที่ 24 ในปี 2576 และอันดับ 21 ของโลกในปี 2581 ตามลำดับ
จากรายงานดังกล่าว ในปี 2566 GDP เวียดนามมีการเติบโตอย่างแข็งแกร่งและอัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับต่ำ ดัชนีราคาผู้บริโภคในปี 2566 ยังต่ำกว่าอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยในช่วง 10 ปีซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 3.8 ในขณะเดียวกัน อัตราการว่างงานลดลงในปีที่แล้วเพื่อช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายของผู้บริโภค และหนี้สาธารณะในปีอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 35 ของ GDP ทั้งหมด
นอกจากนี้ เวียดนามยังได้รับประโยชน์จากการเป็นศูนย์กลางห่วงโซ่อุปทานโลก อีกทั้งสัดส่วนของสินค้าเวียดนามที่ส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้นร้อยละ 2 กอปรกับการไหลเข้าของ FDI จากประเทศอื่นๆ ในเอเชีย รวมทั้งจีน ดังนั้น CEBR จึงคาดการณ์อัตราการเติบโตของ GDP เฉลี่ยต่อปีของเวียดนามอยู่ที่ร้อยละ 6.7 ในช่วงปี 2567-2571 โดยเวียดนามพร้อมที่จะก้าวเป็นประเทศที่มีรายได้สูงภายในปี 2588
ข้อมูล : สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงฮานอย/ศูนย์ข้อมูลธุรกิจไทยในเวียดนาม