บริษัทรีไซเคิลแบตเตอรี่รถยนต์และขยะโลหะอื่นๆ ที่เป็นส่วนประกอบสำคัญของยานยนต์และการขับเคลื่อนด้วยระบบไฟฟ้า (E-Mobility) แห่งแรกของสหภาพยุโรป ดำเนินการโดยบริษัท Elemental Holding ตั้งอยู่ที่เมือง Grodzisk Mazowiecki ทางตอนกลางของโปแลนด์ ซึ่งทางบริษัทมีความเชี่ยวชาญในการรวบรวมและรีไซเคิลขยะอุปกรณ์ไฟฟ้าและโลหะกลุ่มแพลตตินัม โดยยุทธศาสตร์ของบริษัท คือ มุ่งเน้นไปที่การกู้คืนและการสกัดวัตถุดิบที่สำคัญเพื่อนำไปใช้ในเทคโนโลยีและนวัตกรรมคาร์บอนต่ำ
.
บริษัทได้รับการสนับสนุนและได้รับทุนบางส่วนจากศูนย์วิจัยและพัฒนาแห่งชาติของโปแลนด์ (NCBR) รวมไปถึงได้รับเงินกู้จากธนาคารเพื่อการบูรณะและการพัฒนาแห่งยุโรป (EBRD) จำนวน 25 ล้านยูโร ในการสร้างโรงงานบำบัดแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนที่ใช้แล้วของรถยนต์ไฟฟ้า และขยะโลหะอื่นๆ ที่เป็นส่วนประกอบสำคัญของยานยนต์และการขับเคลื่อนด้วยระบบไฟฟ้า (E-Mobility) รวมไปถึงนำสิ่งที่ได้ไปผลิตเป็นโลหะทุติยภูมิและวัสดุอื่น ๆ ที่สามารถนำกลับมาใช้เป็นวัตถุดิบในแบตเตอรี่ใหม่หรือในการใช้งานอื่น ๆ ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับห่วงโซ่คุณค่าของแบตเตอรี่ลิเธียมไอออน
.
การนำแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนกลับมาใช้ใหม่ถือเป็นส่วนสำคัญของการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำเนื่องจากลิเธียมเป็นส่วนประกอบหลักในสินค้าหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ไฟฟ้า แล็ปท็อป แท็บเล็ต และสมาร์ทโฟน ซึ่งการสกัดจะสร้างผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีข้อมูลเกี่ยวกับการรั่วไหลลงสู่แหล่งน้ำใกล้โรงงาน รวมไปถึงการเป็นอันตรายต่อดินและทำให้เกิดการปนเปื้อนในอากาศ
.
จากข้อมูลของ EBRD โรงงานรีไซเคิลแบตเตอรี่แห่งใหม่นี้จะลดการปล่อยมลพิษในโปแลนด์และทั่วทั้งสหภาพยุโรป ตลอดจนสนับสนุนเศรษฐกิจหมุนเวียนของภาคการขับเคลื่อนด้วยระบบไฟฟ้า (E-Mobility) ซึ่งการผลิตและการใช้แบตเตอรี่และโลหะรีไซเคิลดังกล่าวนำไปสู่การประหยัดคาร์บอนได้มากถึงร้อยละ 98 เมื่อเทียบกับแบตเตอรี่แบบดั้งเดิม รวมไปถึงเป็นการใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่หายากอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
.
ทั้งนี้ โครงการนี้ถูกมองว่าเป็นความพยายามของรัฐบาลโปแลนด์ เพื่อแก้ไขภาพลักษณ์ด้านลบในฐานะหนึ่งในผู้ก่อมลพิษรายใหญ่ของยุโรป ตามข้อมูลในรายงานปี 2562 ที่คณะกรรมาธิการยุโรปได้วิพากษ์วิจารณ์โปแลนด์เรื่องอัตราการรีไซเคิลในเขตเทศบาลที่ต่ำที่ร้อยละ 44 ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมายของสหภาพยุโรปที่ร้อยละ 50
.
โปแลนด์ได้จัดตั้งและพัฒนาโรงงานรีไซเคิลแห่งแรกของสหภาพยุโรป ซึ่งจะรีไซเคิลทั้งแบตเตอรี่รถยนต์และขยะโลหะอื่นๆ ที่เป็นส่วนประกอบสำคัญของยานยนต์และการขับเคลื่อนด้วยระบบไฟฟ้า (E-Mobility) เพื่อตอบสนองต่อการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของยานยนต์ไฟฟ้าในสหภาพยุโรป ซึ่งแสดงให้เห็นถึงเป้าหมายในระยะยาวของประเทศที่จะพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ ในสอดคล้องกับนโยบายเศรษฐกิจสีเขียวมากขึ้น
.
โดยในส่วนของประเทศไทย รัฐบาลได้มีการผลักดันให้นโยบายเศรษฐกิจชีวภาพ-หมุนเวียน-สีเขียว (BCG Economy Model) เป็นวาระแห่งชาติสำหรับการฟื้นฟูประเทศอย่างยั่งยืนในโลกยุคหลัง COVID-19 ซึ่งไทยเองมีความได้เปรียบในเรื่องของภูมิรัฐศาสตร์ที่ตั้งซึ่งอยู่ใจกลางของทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จึงส่งผลให้สามารถดึงดูดนักลงทุนและบริษัทชั้นนำของโลกในการย้ายฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าเข้ามาในเขตเศรษฐกิจพิเศษสำคัญ ๆ ของประเทศได้ ดังนั้นผู้ประกอบการและนักลงทุนไทยที่อยู่ในอุตสาหกรรมข้างต้น ควรพิจารณาในเรื่องของกฎเกณฑ์สำหรับการปรับเปลี่ยนมาตรฐานและรูปแบบเพื่อให้สอดคล้องและดึงดูดความต้องการที่เพิ่มมากขึ้นสำหรับอุตสาหกรรมสีเขียวในอนาคต
.
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเวียนนา