กิจการร้านอาหารไทยในสหรัฐอเมริกา เป็นหนึ่งในธุรกิจยอดนิยมที่มีผู้ประกอบการจำนวนมากสนใจ โดยเฉพาะในมหานครอย่างลอสแอนเจลิส ซึ่งเป็นที่ตั้งของไทยทาวน์แห่งแรกและเป็นชุมชนคนไทยขนาดใหญ่ในสหรัฐฯ จนหลายคนต่างขนานนามว่าเป็นจังหวัด 78 ของไทย และมีความสำคัญในฐานะจุดท่องเที่ยวระดับโลก ลอสแอนเจลิสจึงเป็นหนึ่งในพื้นที่สำคัญของร้านอาหารไทยที่จะพบได้เป็นจำนวนมาก [su_spacer size=”20″]
แต่หากพิจารณาถึงอุปสรรคของธุรกิจร้านอาหารไทยในต่างแดนก็จะพบว่า หนึ่งในปัญหาสำคัญนั่นคือ การทำผิดกฎหมายแรงงานและภาษี ซึ่งส่งผลให้ผู้ประกอบการบางรายถูกสุ่มตรวจโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ และยิ่งไปกว่านั้นอาจถูกปรับเป็นจำนวนเงินมหาศาล และอาจถึงขั้นถูกสั่งให้ปิดกิจการ เป็นต้น ดังนั้น เพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการการไทยสามารถดำเนินกิจการได้อย่างถูกต้องมากขึ้น สถานกงสุลใหญ่ ณ นครลอสแอนเจลิส จึงได้รวบรวมข้อมูลด้านแรงงานและภาษีที่เป็นประโยชน์แก่ผู้ประกอบการไทย โดยแบ่งเป็นประเด็นหลัก ๆ ได้แก่ กฎหมายแรงงาน กฎหมายภาษี และแนวทางสนับสนุนธุรกิจร้านอาหารไทยในปัจจุบัน ดังนี้ [su_spacer size=”20″]
ประเด็นแรกเรื่อง กฎหมายแรงงาน ผู้ประกอบการจำเป็นต้องเข้าใจในหลักการว่ากฎหมายแรงงานของสหรัฐฯ แบ่งเป็นระดับ 4 ระดับ ตั้งแต่ระดับรัฐบาลกลาง (Federal) ระดับมลรัฐ (State) ระดับเขต (County) และระดับเมือง (City) โดยการบังคับใช้จะยึดหลักว่า กฎหมายระดับใดที่เข้มที่สุดให้บังคับใช้กฎหมายนั้นก่อน (เช่น กฎหมายเมืองกำหนดค่าแรงขั้นต่ำไว้ที่ 12 ดอลลาร์สหรัฐต่อชั่วโมง ในขณะที่กฎหมายรัฐบาลกลางกำหนดไว้ที่ 7.25 ดอลลาร์สหรัฐต่อชั่วโมง ก็ให้บังคับใช้ค่าแรงขั้นต่ำของระดับเมือง เป็นต้น) [su_spacer size=”20″]
ในประเด็นที่ต่อเนื่องจากเรื่องนี้ กฎหมายมาตรฐานแรงงานที่เป็นธรรม (Fair Labor Standards Act) ของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ มีเงื่อนไขสำคัญ 5 ประการ ได้แก่ [su_spacer size=”20″]
(1) Coverage จะพิจารณาว่าผู้ประกอบธุรกิจ (ทั้งในรูปของบริษัทและบุคคล) มีรายได้ถึงเกณฑ์ที่ต้องบังคับใช้กฎหมายนี้หรือไม่ และมีความสัมพันธ์แบบนายจ้างกับลูกจ้างเกิดขึ้นหรือไม่ [su_spacer size=”20″]
(2) Minimum wage นายจ้างจ่ายค่าแรงขั้นต่ำตามที่รัฐบาลกลางกำหนดหรือไม่ กล่าวคือ 7.25 ดอลลาร์สหรัฐต่อชั่วโมง (ตั้งแต่ปี 2552) อย่างไรก็ดี ค่าแรงขั้นต่ำของแต่ละมลรัฐ/เขต/เมือง อาจกำหนดไว้สูงกว่านี้ (เช่น ปี 2561 มลรัฐแคลิฟอร์เนียกำหนดค่าแรงขั้นต่ำไว้ที่ 11 ดอลลาร์สหรัฐต่อชั่วโมง ในขณะที่นครลอสแอนเจลิสกำหนดไว้ที่ 12 ดอลลาร์สหรัฐต่อชั่วโมง) ดังนั้น นายจ้างจึงจำเป็นต้องศึกษาและปฏิบัติตามกฎหมายท้องถิ่นด้วย [su_spacer size=”20″]
(3) Overtime pay นายจ้างจ่ายค่าล่วงเวลา (1 เท่าครึ่งของค่าแรงขั้นต่ำ) หรือไม่ โดยจะคิดเมื่อลูกจ้างทำงานเกิน 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และคำนวณจากค่าแรงขั้นต่ำของท้องถิ่นนั้น ๆ [su_spacer size=”20″]
(4) Record keeping นายจ้างเก็บเอกสารหลักฐานต่าง ๆ ไว้ครบถ้วน อย่างน้อย 2 – 3 ปีย้อนหลังหรือไม่ หากไม่มีเอกสารหลักฐาน จะถือเอาข้อมูลจากสัมภาษณ์ลูกจ้างเป็นหลัก [su_spacer size=”20″]
(5) Youth employment มีการจ้างงานเยาวชนที่อายุต่ำกว่า 14 ปี หรือไม่ ทั้งนี้ กฎหมายอนุญาตให้เยาวชน 14 – 15 ปี ทำงานได้นอกเวลาเรียน ในงานที่ไม่อันตรายหรือไม่ใช้เครื่องจักร และให้เยาวชน 16 – 17 ปี ทำงานได้เกือบทุกประเภท (ยกเว้นงานในสถานที่ที่จำกัดอายุ เช่น ผับ และไม่จำกัดชั่วโมง) [su_spacer size=”20″]
กฎหมายของรัฐบาลกลางฉบับนี้แตกต่างจากกฎหมายแรงงานระดับท้องถิ่น กล่าวคือ (1) มิได้กำหนดให้นายจ้างต้องให้สิทธิประโยชน์อื่น ๆ แก่ลูกจ้างอีก เช่น วันลาพักผ่อน อาหาร การหยุดพักระหว่างชั่วโมงทำงาน เป็นต้น (2) มิได้กำหนดรูปแบบการจ่ายค่าแรง (สามารถจ่ายเป็นเงินสดได้) และ (3) มิได้กำหนดเรื่องการตอกบัตร (สามารถจดบันทึกเวลาทำงานแบบใดก็ได้) และสามารถนับชั่วโมงการทำงานเป็นรายสัปดาห์ และในส่วนของความผิดตามกฎหมายฉบับนี้มีอายุความ 2 ปี (ในกรณีที่นายจ้างไม่เคยกระทำผิดมาก่อน) และ 3 ปี (ในกรณีที่นายจ้างเคยกระทำผิดซ้ำ) ซึ่งบทลงโทษจะมีทั้งการเสียค่าปรับให้รัฐ (civil money penalty) สูงสุด 10,000 ดอลลาร์สหรัฐ การชดใช้ค่าแรงค้างจ่ายให้ลูกจ้าง การจ่ายค่าทำขวัญ (liquidated damage) ให้ลูกจ้าง และอาจถูกลูกจ้างฟ้องร้องดำเนินคดีทางแพ่งต่อได้ นอกจากนั้น ในขณะนี้กระทรวงแรงงานสหรัฐฯ กำลังมีโครงการนำร่องที่เรียกว่า PAID (Payroll Audit Independent Determination) Program เพื่อให้นายจ้างที่สมัครใจจะปรับปรุงระบบการจ้างงานของตนเองสามารถส่งข้อมูลต่าง ๆ ให้เจ้าหน้าที่ เพื่อทบทวนว่าสิ่งที่ปฏิบัติอยู่หรือเคยปฏิบัติมาในอดีตเข้าข่ายผิดกฎหมายข้อใดบ้าง และดำเนินการแก้ไขให้ถูกต้องโดยไม่ถือเป็นความผิด โดยจ่ายค่าแรงค้างจ่ายให้ลูกจ้างแต่ไม่ต้องเสียค่าปรับและจ่ายค่าทำขวัญ [su_spacer size=”20″]
ทั้งนี้ มีข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อความเข้าใจมากขึ้นต่อประเด็นที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายแรงงาน ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่ผู้ประกอบการร้านอาหารมักจะเจอกันทั่วไป เช่น [su_spacer size=”20″]
(1) กรณีบุตรของเจ้าของร้านที่มีอายุต่ำกว่าเกณฑ์ เช่น เป็นเด็กอายุ 14 ปี สามารถช่วยงานบิดามารดาในร้านได้ แต่ควรเป็นงานที่ไม่เกี่ยวข้องกับลูกค้าโดยตรง (เช่น งานเอกสาร งานบัญชี) เพื่อไม่ให้ถูกตรวจสอบเรื่อง Youth employment [su_spacer size=”20″]
(2) ในการซื้อขายกิจการ ผู้ซื้อและผู้ขายควรใช้ระบบ Escrow เพื่อเป็นตัวกลางในการโอนกรรมสิทธิ์ ในทรัพย์สินตามสัญญา โดยผู้ซื้อควรขอรับใบปลอดหนี้ (Debt Clearance Certificate) จากหน่วยงานทั้ง 4 ระดับ (เมือง/เขต/มลรัฐ/รัฐบาลกลาง) จากผู้ขายด้วย [su_spacer size=”20″]
(3) เจ้าหน้าที่กระทรวงแรงงานสหรัฐฯ จะเข้าตรวจสอบร้านต่าง ๆ เมื่อได้รับเรื่องร้องเรียนจากลูกจ้าง เบาะแสจากสาธารณะ (โดยเฉพาะร้านคู่แข่ง) หรือเป็นการสุ่มตรวจ โดยจะไม่แจ้งเหตุผลของการตรวจ [su_spacer size=”20″]
(4) นายจ้างที่กระทำผิด สามารถผ่อนชำระค่าเสียหายให้ลูกจ้างได้ (ขึ้นอยู่กับการตกลงกันร่วมกับเจ้าหน้าที่ภาครัฐ) แต่ไม่สามารถเรียกเงินคืนจากลูกจ้างในภายหลังได้ เพราะถือเป็นความผิดฐานแก้แค้นเอาคืน (Retaliation) [su_spacer size=”20″]
(5) กฎหมายแรงงานจะบังคับใช้กับนายจ้างและลูกจ้างทุกคน ไม่ว่าจะเข้าเมืองโดยถูกกฎหมายหรือไม่ก็ตาม [su_spacer size=”20″]
ข้อมูลด้านกฎหมายแรงงานและภาษีข้างต้นจึงเป็นสาระสำคัญที่ผู้ประกอบการร้านอาหารไทยในสหรัฐฯ จำเป็นต้องศึกษาให้เข้าใจอย่างแน่ชัด เพื่อประโยชน์ต่อการดำเนินธุรกิจของตนเองให้สามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน ทั้งนี้ ในบทความฉบับถัดไป เรื่อง รู้ลึกรู้จริงถึงแนวทางการทำธุรกิจร้านอาหารไทยในอเมริกา (ตอนจบ) จะมากล่าวถึงเรื่องกฎหมายภาษี และแนวทางการขอรับการสนับสนุนธุรกิจร้านอาหารไทยต่อไป [su_spacer size=”20″]
ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์
กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ
สถานกงสุลใหญ่ ณ นครลอสแอนเจลิส