เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2561 รัฐบาลสหรัฐฯ ได้ประกาศยกเลิกการยกเว้นการบังคับใช้มาตรการตรวจสอบย้อนกลับในสินค้านำเข้าประเภทกุ้งและหอยเป๋าฮื้อทั้งที่จับได้ตามธรรมชาติและที่เพาะเลี้ยง ซึ่งหมายความว่า ต่อจากนี้ไป ผู้ประกอบการไทยที่ส่งสินค้าประเภทกุ้งและหอยเป๋าฮื้อเข้าสหรัฐฯ จะต้องมีหลักฐานแสดงที่มาของสินค้าตลอดห่วงโซ่การผลิตเพื่อให้สามารถนำเข้าสหรัฐฯ ได้อย่างราบรื่น ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ (Effective Date) กับสินค้าทั้งสองประเภท ตั้งแต่ 24 พฤษภาคม 2561 เป็นต้นไป และผู้ประกอบการจะต้องปฏิบัติตาม (Compliance Date) ให้ได้ภายใน 31 ธันวาคม 2561[su_spacer size=”20″]
มาตรการตรวจสอบย้อนกลับนี้มีชื่อเรียกว่า Seafood Import Monitoring Program หรือ SIMP เป็นผลสืบเนื่องมาจากที่สำนักงานมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา (National Oceanic and Atmospheric Administration – NOAA) ภายใต้กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ได้ออกกฎระเบียบเกี่ยวกับโครงการตรวจสอบย้อนกลับตั้งแต่เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2559 โดยมาตรการ SIMP กำหนดให้ผู้นำเข้าสินค้าทะเล 13 รายการ ไปยังสหรัฐฯ จะต้องรายงานและเก็บข้อมูลการทำประมงเริ่มตั้งแต่จุดจับสัตว์น้ำจนถึงจุดที่นำเข้าตลาดสหรัฐฯ สินค้าทะเล 13 รายการ ได้แก่ (1) หอยเป๋าฮื้อ (Abalone) (2) ปลาคอตแอตแลนติก (Atlantic Cod) (3) ปูสีฟ้าแอตแลนติก (Blue Crab Atlantic) (4) ปลากะพงขาว (Dolphinfish หรือ Mahi Mahi) (5) ปลาเก๋า (Grouper) (6) ปูยักษ์สีแดง (King Crab-red) (7) ปลาคอดแปซิฟิก (Pacific Cod) (8) ปลากะพงแดง (Red Snapper) (9) ปลิงทะเล (Sea Cucumber) (10) ปลาฉลาม (Sharks) (11) กุ้ง (Shrimp) (12) ปลาดาบ (Swordfish) (13) ปลาทูน่า (ทูน่าพันธุ์ต่าง ๆ ได้แก่ Albacore, Bigeye, Skipjack, Yellowfin, Bluefin) ทั้งนี้ ในช่วงวันที่เริ่มประกาศใช้กฎระเบียบกับสินค้าทะเลทั้ง 13 รายการนั้น NOAA ได้ยกเว้นสินค้าหอยเป๋าฮื้อและกุ้งไว้ก่อน เนื่องจากยังมีช่องว่างในการปฏิบัติจริง และยังไม่สามารถจัดทำระบบการจัดเก็บข้อมูลจากผู้ผลิตมลรัฐต่าง ๆ ในสหรัฐฯ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตาม ในเดือนพฤษภาคมนี้ SIMP จะเริ่มบังคับใช้กับทั้งกุ้งและหอยเป๋าฮื้อแล้ว ซึ่งในขณะเดียวกัน รัฐบาลก็กำลังหามาตรการตรวจสอบย้อนกลับมาบังคับใช้กับสินค้ากุ้งและหอยเป๋าฮื้อในสหรัฐฯ (U.S. inland, coastal, and marine aquaculture) ตามที่จำเป็นและเห็นเหมาะสมอีกด้วย[su_spacer size=”20″]
ทั้งนี้ การปฏิบัติตามระเบียบ SIMP สำหรับสินค้ากุ้งและหอยเป๋าฮื้อ มีรายละเอียดดังนี้[su_spacer size=”20″]
1.ผู้นำเข้ากุ้งและหอยเป๋าฮื้อสู่สหรัฐฯ จะต้องยื่นเอกสาร 2 ส่วน ประกอบด้วย[su_spacer size=”20″]
1.1 รายงานการเก็บเกี่ยวผลผลิต ณ เวลานำสินค้าเข้าสหรัฐฯ (Report of harvest events at the time of entry)[su_spacer size=”20″]
1.2 ใบอนุญาตและบันทึกข้อมูลการเก็บเกี่ยวผลผลิตตลอดห่วงโซ่การผลิต (Permitting and recordkeeping requirements with respect to both harvest events and chain of custody information)[su_spacer size=”20″]
2.ตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2561 เป็นต้นไป ผู้นำเข้าสินค้าทั้งสองชนิดจะต้องมีใบอนุญาตการค้าสินค้าประมงระหว่างประเทศ (International Trade Fisheries Permit) และยื่นเอกสารในข้อ 1 ผ่านช่องทาง Automated Commercial Environment (ACE) ภายใต้ระบบ International Trade Data System (ITDS) ของศุลกากรสหรัฐฯ (CBP) ซึ่งจะมีการประกาศทาง Federal Register เมื่อระบบ ACE พร้อมใช้อีกครั้งหนึ่ง โดยผู้นำเข้าจะต้องเก็บเอกสารดังกล่าวไว้เป็นหลักฐาน 2 ปี[su_spacer size=”20″]
การทำประมงในตลาดใด ๆ ก็ตาม ผู้ประกอบการในห่วงโซ่การผลิตสินค้าประมงควรใส่ใจกับกระบวนการผลิตที่ไม่ใช้แรงงานผิดกฎหมาย และกระบวนการผลิตที่สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ตลอดเส้นทาง เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคต่อสินค้าประมงไทย ทั้งนี้ ผู้ประกอบการไทยที่ต้องการส่งกุ้งและหอยเป๋าฮื้อเข้าสหรัฐฯ ควรหารือกับคู่ค้าที่นำเข้าและควรเตรียมเอกสารที่สอดคล้องกับมาตรการ SIMP ให้พร้อมแต่เนิ่น ๆ[su_spacer size=”20″]
ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์
กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงวอชิงตัน