หลายท่านที่ได้ติดตามข่าวกรณีที่กระทรวงสาธารณสุขของไทยอนุญาตให้เพาะปลูกกัญชง (Hemp) ได้ โดยต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษ และต้องปลูกในพื้นที่ควบคุมใน 6 จังหวัดภาคเหนือ และผลผลิตที่ได้จะนำไปสกัดเส้นใยเพื่อใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมเสื้อผ้าและกระเป๋า ก็ทำให้หลายคนเกิดคำถามเกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่จะมีการอนุญาตให้ปลูกกัญชาในประเทศไทยได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องติดตามกันต่อไป เนื่องจากเป็นประเด็นที่ละเอียดอ่อนมากในสังคมไทย[su_spacer size=”20″]
สำหรับในต่างประเทศ เมื่อวันที่ 1 มกราคม ที่ผ่านมา มลรัฐแคลิฟอร์เนียของสหรัฐอเมริกาได้ออกกฎหมายใหม่ที่เรียกว่า “Proposition 64” อนุญาตให้ร้านค้าปลีกที่ได้รับอนุญาตอย่างเป็นทางการสามารถขายกัญชาเพื่อการพักผ่อน (Recreation use) ให้แก่ผู้ซื้อที่มีอายุ 21 ปีขึ้นไปได้ โดยผู้ซื้อสามารถซื้อได้คนละไม่เกิน 1 ออนซ์ (28.5 กรัม) ต่อวัน โดยผู้ซื้อจะต้องนำกัญชาไปเสพหรือบริโภคในที่ส่วนบุคคลเท่านั้น และห้ามขับขี่ยานพาหนะขณะที่ได้รับอิทธิพลจากการเสพยา และห้ามนำกัญชาออกนอกมลรัฐ โดยในส่วนของผู้ขายนั้น นอกจากจะต้องขอใบอนุญาตและเสียภาษีในอัตราที่สูงแล้ว ยังห้ามการโฆษณา และห้ามขายในยามวิกาล[su_spacer size=”20″]
การออกกฎหมายใหม่นี้ทำให้มลรัฐแคลิฟอร์เนียกลายเป็นตลาดกัญชาถูกกฎหมายที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยคาดว่าธุรกิจกัญชาในแคลิฟอร์เนียจะมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยจะสร้างรายได้จากภาษีได้ไม่ต่ำกว่าปีละ 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ แคลิฟอร์เนียเป็นมลรัฐลำดับที่ 6 ของสหรัฐฯ ที่ผ่านกฎหมายในลักษณะนี้ ต่อจากอลาสกา โคโลลาโด เมน แมสซาชูเซต ออริกอน เวอมอนต์ และวอชิงตัน[su_spacer size=”20″]
การเปลี่ยนแปลงทางกฎหมายในครั้งนี้ได้เอื้อให้เกิดโอกาสสำหรับผู้ประกอบการที่ต้องการเพาะปลูกกัญชาในมลรัฐแคลิฟอร์เนีย โดยผู้สนใจปลูกกัญชาในพื้นที่ต้องขอใบอนุญาตการปลูกจากมลรัฐฯ ผ่านกรมอาหารและการเกษตรของรัฐ (California Department of Food and Agriculture) ภายใต้โครงการ CalCannabis Program โดยการอนุญาตดังกล่าวเป็นการอนุญาตให้ปลูกเชิงพาณิชย์ภายใน 120 วัน และอาจได้รับการพิจารณาขยายระยะเวลาได้ โดยมลรัฐแคลิฟอร์เนียจะติดตามการเพาะปลูกตลอดจนการจำหน่ายอย่างใกล้ชิด เพื่อให้กัญชาที่ปลูกขึ้นมาถูกจำหน่ายอย่างถูกต้องตามกฎหมายต่อไป[su_spacer size=”20″]
การทำให้กัญชาถูกกฎหมายในรัฐแคลิฟอร์เนียนี้ นอกจากจะเป็นการเปิดโอกาสให้แก่ผู้บริโภคและผู้ปลูกกัญชาแล้ว ก็ยังเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการที่ขายสินค้าแปรรูปจากกัญชาด้วยเช่นกันซึ่งในปัจจุบัน นอกจากการสูบกัญชาโดยตรงแล้ว ก็ยังมีผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของกัญชาอีกมากมายที่ออกวางจำหน่ายในตลาด เช่น เบเกอรี่ สปาเก็ตตี ชา และไอศกรีม เป็นต้น โดยปริมาณการใช้กัญชาในส่วนผสมของอาหารนั้น กฎหมายกำหนดให้สามารถใช้ได้ไม่เกิน 8 กรัมต่อ 1 หน่วยบริโภค ทั้งนี้ ผู้จำหน่ายกัญชาทั้งสำหรับสูบโดยตรงและแบบอาหาร ต้องจดทะเบียนการค้ากับ California Bureau of Cannabis Control โดยตรง[su_spacer size=”20″]
อย่างไรก็ตาม แม้ว่ากฎหมายท้องถิ่นดังกล่าวจะรับรองสถานะการซื้อขายและการเสพกัญชาในพื้นที่มลรัฐ แล้วก็ตาม แต่กฎหมายในชาติก็ยังคงจัดให้กัญชาเป็นสารเสพติดประเภท 1 (Schedule 1 Narcotic)ซึ่งกำหนดห้ามการปลูก การครอบครอง และการซื้อขาย ดังนั้น ธุรกิจกัญชาในแคลิฟอร์เนียจึงประสบปัญหา 2 ประการที่สำคัญคือ (1) ในด้านผู้ทำธุรกิจเกี่ยวกับกัญชา ธนาคารบางแห่งยังไม่รับรองการทำธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับกัญชา เนื่องจากต้องการหลีกเลี่ยงข้อหาการฟอกเงิน ทำให้เกิดปัญหาการโยกย้ายเงินนอกระบบที่ไม่สามารถตรวจสอบได้เป็นจำนวนมาก อีกทั้งหน่วยงานท้องถิ่นภายใต้มลรัฐยังมีนโยบายที่แตกต่างกัน โดยในบาง County เช่น Fresno, Riverside และ Angel Camp ยังคงห้ามซื้อขายกัญชาทุกประเภท และ (2) ในด้านผู้เสพและผู้บริโภค ลูกจ้างอาจมีสิทธิโดนไล่ออกหากนายจ้างพบว่าเสพกัญชา รวมทั้งผู้ที่ได้รับความช่วยเหลือในด้านที่อยู่อาศัยจากรัฐบาลกลางอาจถูกยกเลิกสิทธิในที่อยู่อาศัยนั้น หากพบว่าเสพกัญชาในที่พัก เนื่องด้วยเหตุผลในด้านความปลอดภัยต่องาน ชีวิต ทรัพย์สินของบริษัท และสังคมส่วนรวม ทั้งนี้ สามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้จาก www.cdfa.ca.gov/ และ http://www.bcc.ca.gov/ ซึ่งเป็นเว็บไซต์ของ The California Department of Food and Agriculture และ California Bureau of Cannabis Control ตามลำดับ[su_spacer size=”20″]
ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์
กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ
สถานกงสุลใหญ่ ณ นครลอสแอนเจลิส