ต่อเนื่องจากบทความ “สหรัฐฯ ปรับกฎหมายภาษีใหม่ แล้วไทยต้องปรับตัวอย่างไร (ตอนที่ 1)” ซึ่งได้ชี้แจงรายละเอียดเกี่ยวกับการปฏิรูปภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และการปฏิรูปภาษีนิติบุคคล โดยมีมาตรการต่าง ๆ ที่เน้นส่งเสริมให้บุคคลรายย่อยและผู้ประกอบการธุรกิจในสหรัฐฯ มีเงินทุนในการจับจ่ายมากขึ้น ซึ่งจะช่วยกระตุ้นความต้องการสินค้าและบริการของผู้บริโภคที่มากขึ้น และมีผลต่อเนื่องทำให้สู่ผู้ประกอบการสามารถขยายขนาดธุรกิจของตนเอง สร้างตำแหน่งงานภายในประเทศ และกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศในภาพรวม นั้น สำหรับบทความชิ้นนี้ จะขอกล่าวถึงมาตรการปฏิรูปการจัดเก็บภาษีรายได้จากต่างประเทศ และวิเคราะห์ผลกระทบการปฏิรูปกฎหมายภาษีของสหรัฐฯ ที่มีต่อไทย รวมถึงเรื่องอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ผู้ประกอบการไทยได้เตรียมตัวรับมือในอนาคต[su_spacer size=”20″]
สำหรับมาตรการปฏิรูปการจัดเก็บภาษีรายได้จากต่างประเทศนั้น จะเน้นการดึงเงินทุนจากต่างประเทศกลับเข้าสู่สหรัฐฯ โดยดำเนินการผ่านมาตรการต่าง ๆ เช่น การเปลี่ยนแปลงระบบการจัดเก็บภาษี จากระบบรายได้ทั่วโลก (worldwide) มาเป็นระบบรายได้จากภายในอาณาเขต (territorial) แทน โดยในระบบเดิม ผู้ประกอบการสหรัฐฯ ต้องนำรายได้ที่เกิดขึ้นทั่วโลกมาคำนวนภาษี แต่ระบบใหม่จะนำแค่รายได้ที่เกิดขึ้นภายในสหรัฐฯ มาใช้คำนวณ ทำให้ผู้ประกอบการสหรัฐฯ เสียภาษีให้แก่รัฐบาลกลางน้อยลง ส่งผลให้ขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของประเทศมีเพิ่มมากขึ้น เป็นต้น นอกจากนี้ สหรัฐฯ ยังได้ปรับปรุงกฎระเบียบเพื่อให้ระบบการเสียภาษีมีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้นและลดการใช้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีในทางที่ผิดเจตนารมณ์ เช่น การปรับปรุงบทบัญญัติของ Subpart F ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับการจำกัดการเสียภาษีรายได้จากต่างประเทศ โดยบุคคลสัญชาติสหรัฐฯ ที่ถือหุ้นอยู่ในต่างประเทศทั้งทางตรงและทางอ้อมมากกว่าร้อยละ 10 ของหุ้นใน บริษัทนั้น ๆ จะต้องเสียภาษีตามสัดส่วนที่ได้รับจากหุ้น เป็นต้น[su_spacer size=”20″]
การเปลี่ยนแปลงมาตรการทางภาษีของสหรัฐฯ ในครั้งนี้ แม้จะถูกปรับเปลี่ยนเพื่อกระตุ้นให้ธุรกิจ การค้า และการลงทุนกลับไปรวมอยู่ที่สหรัฐฯ แต่หากพิจารณาผลกระทบในมุมที่ตรงกันข้าม จะพบว่า ผู้ประกอบการไทยยังมีโอกาสได้รับผลประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้อยู่มากเช่นกัน เนื่องจากเมื่อเกิดการจ้างงานภายในสหรัฐฯ มากขึ้น และผู้คนในสังคมมีรายได้สูงขึ้น ก็ย่อมหมายถึงภาคธุรกิจและประชาชนสหรัฐฯ มีกำลังซื้อสินค้าและบริการมากขึ้น ภาคธุรกิจจะมีความต้องการสั่งซื้อวัตถุดิบและสินค้าในห่วงโซ่การผลิตมากขึ้นเพื่อขยายฐานกิจการตามแรงจูงใจจากมาตรการภาษี ในขณะเดียวกัน ผู้คนโดยทั่วไปก็จะมีความสามารถในการจับจ่ายซื้อสินค้าได้มากขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจของประเทศ นอกจากนี้ การที่เงินทุนจากทั่วโลกไหลกลับเข้าสู่สหรัฐฯ มากขึ้น อาจส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นตามลำดับ ส่งผลดีต่อการส่งออกของไทยเนื่องจากราคาสินค้าไทยจะถูกลงเมื่อถูกแปลงค่าเงิน และส่งผลดีต่อภาคการท่องเที่ยวไทย เนื่องจากนักท่องเที่ยวสหรัฐฯ จะสามารถจับจ่ายใช้สอยระหว่างพำนักในไทยเพิ่มมากขึ้น [su_spacer size=”20″]
อย่างไรก็ดี แม้ว่าผลกระทบการเปลี่ยนแปลงมาตรการทางภาษีของสหรัฐฯ ในครั้งนี้จะเอื้อให้เกิดประโยชน์ต่อภาคธุรกิจไทยในเรื่องการส่งออกสินค้าและบริการ แต่ก็อาจเป็นผลข้างเคียงที่รัฐบาลกลางของสหรัฐฯ ไม่ได้ประสงค์ให้เกิดขึ้น เนื่องจากขัดกับนโยบายของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ในความพยายามลดการขาดดุลทางการค้ากับต่างประเทศ โดยในตอนนี้ยังไม่มีมาตรการใด ๆ จากทางรัฐบาลสหรัฐฯ ที่ออกมาแก้ไขสถานการณ์ทางการค้าที่เกิดขึ้น ภาคธุรกิจไทยจึงต้องติดตามในประเด็นเรื่องนี้อย่างใกล้ชิดเพื่อเตรียมตัวรับมือ ในอนาคต[su_spacer size=”20″]
ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์
กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงวอชิงตัน