คงไม่สามารถปฏิเสธได้ว่า โลกในยุคปัจจุบันเป็นโลกที่มีความเชื่อมโยงระหว่างประเทศในทุกด้าน โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ ซึ่งประเทศต่าง ๆ มีการดำเนินการค้าและการลงทุนระหว่างกันอย่างมีพลวัตจนเป็นระบบเศรษฐกิจโลกที่ไร้ขอบเขต การเปลี่ยนแปลงนโยบายทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมภายในประเทศของประเทศใดประเทศหนึ่งย่อมส่งผลกระทบทั้งเชิงบวกและเชิงลบต่อประเทศอื่น ๆ ที่มีปฏิสัมพันธ์ทางการค้าและการลงทุนระหว่างกันไม่มากก็น้อย ดังนั้น ผู้ประกอบการที่ดำเนินธรุกิจระหว่างประเทศย่อมต้องคำนึงถึงปัจจัยหลายประการ อาทิ โครงสร้างพื้นฐานที่พร้อมรองรับการทำธุรกิจข้ามชาติ ลักษณะทางสังคมและเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า แนวโน้มของอุปสงค์และอุปทานในสินค้าและบริการ รวมถึงกฎระเบียบด้านเศรษฐกิจซึ่งเปลี่ยนแปลงไปตามนโยบายของรัฐบาลประเทศนั้น ๆ[su_spacer size=”20″]
สำหรับสหรัฐอเมริกาซึ่งถือเป็นประเทศคู่ค้าอันดับที่ 3 ของไทย รองจากจีนและญี่ปุ่น มีการค้าระหว่างกันในปี 2559 คิดเป็นมูลค่ากว่า 3.65 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (หรือประมาณ 1.19 ล้านล้านบาท) และถือเป็นตลาดส่งออกสำคัญอันดับ 1 ของไทย มีมูลค่ากว่า 2.44 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (หรือประมาณ 796 แสน ล้านบาท) ได้ปฏิรูปกฎหมายการจัดเก็บภาษีระดับชาติในด้านโครงสร้างและหลักเกณฑ์ที่สำคัญในรอบกว่า 30 ปี เพื่อบรรเทาภาระทางภาษีให้แก่คนชั้นกลางและบริษัทผู้ประกอบการขนาดเล็ก โดยสหรัฐอเมริกาตั้งเป้าหมายจะส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในภาพรวม เพื่อขยายการลงทุนและการผลิตภายในประเทศ และสนับสนุนการนำเงินทุนกลับเข้าสู่สหรัฐอเมริกา โดยจะปรับโครงสร้างและหลักเกณฑ์ในการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีนิติบุคคลใน 3 ส่วนหลัก ได้แก่ (1) การปฏิรูปภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (2) การปฏิรูปภาษีธุรกิจ และ (3) การปฏิรูปการจัดเก็บภาษีรายได้จากต่างประเทศ ซึ่งในบทความตอนแรกนี้จะขอกล่าวถึง 2 ส่วนแรก ดังนี้[su_spacer size=”20″]
(1) การปฏิรูปภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา[su_spacer size=”20″]
การปฏิรูปภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในภาพรวมจะเน้นการปรับลดภาษีเพื่อช่วยเหลือประชาชนรายย่อยให้จ่ายภาษีในอัตราที่น้อยลง โดยจะปรับขั้นอัตราภาษีเงินได้ใหม่ ด้วยการลดอัตราภาษีขั้นสูงสุดจาก ร้อยละ 39.6 มาเป็นร้อยละ 37 อีกทั้งยังปรับเพิ่มค่าใช้จ่ายมาตรฐานที่สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้มากขึ้นเกือบ 2 เท่า สำหรับคนโสด จาก 6,350 เป็น 12,000 ดอลลาร์สหรัฐ และสำหรับคู่สมรสที่ยื่นภาษีร่วม จาก 12,700 เป็น 24,000 ดอลลาร์สหรัฐ รวมทั้งยังคืนเครดิตภาษีสำหรับบุตรได้มากขึ้น 2 เท่า จากคนละ 1,000 เป็น 2,000 ดอลลาร์สหรัฐ ตลอดจนปรับปรุงเกณฑ์การหักค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับการออมเพื่อการศึกษา ปรับลดเพดานการหักค่าใช้จ่ายจากดอกเบี้ยเงินกู้ซื้อบ้าน และปรับหลักเกณฑ์เรื่องเงินช่วยเหลือจากนายจ้างสำหรับค่าบ้าน ค่าอาหาร ค่าเลี้ยงดูบุตร ให้ไม่ถือเป็นรายได้ที่ต้องนำมาคำนวนภาษี เป็นต้น[su_spacer size=”20″]
(2) การปฏิรูปภาษีธุรกิจ[su_spacer size=”20″]
การปฏิรูปภาษีธุรกิจในภาพรวมจะปรับลดภาษีเพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการในสหรัฐอเมริกาจ่ายภาษีในอัตราที่น้อยลงเช่นเดียวกันกับการปฏิรูปภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยจะปรับลดอัตราภาษีขั้นสูงสุดจากเดิมร้อยละ 35 มาอยู่ที่ร้อยละ 21 ปรับปรุงการจัดเก็บภาษีเพื่อส่งเสริมธุรกิจขนาดเล็กโดยหักค่าลดหย่อนจากรายได้ได้ร้อยละ 20 จากเดิมที่ไม่มี เพิ่มการหักค่าเสื่อมสภาพของอุปกรณ์ในระบบอุตสาหกรรม โดยเพิ่มเพดานการลดหย่อนภาษีจาก 5 แสนดอลลาร์สหรัฐ เป็น 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้แก่ธุรกิจและคนงาน และเพิ่มมาตรการให้ธุรกิจขนาดเล็กสามารถหักดอกเบี้ยเงินกู้เพื่อใช้ในการขยายธุรกิจและการจ้างงานได้ เป็นต้น[su_spacer size=”20″]
จากการปฏิรูปภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและการปฏิรูปภาษีธุรกิจข้างต้นนั้น จะเห็นได้ว่ามาตรการต่าง ๆ ที่รัฐบาลกลางได้กำหนดออกมาล้วนแล้วแต่ส่งเสริมให้บุคคลรายย่อยและธุรกิจต่าง ๆ มีเงินทุนในการจับจ่ายซื้อสินค้าบริการและขยายขนาดธุรกิจเพื่อสร้างตำแหน่งงานมากขึ้น ตามลำดับ ซึ่งตรงกับแนวคิดของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เมื่อครั้งหาเสียงก่อนการเลือกตั้งสหรัฐอเมริกาที่ผ่านมา[su_spacer size=”20″]
สิ่งที่น่าจับตามองสำหรับผู้ประกอบการไทย คือ เมื่อประชาชนรายย่อยและธุรกิจต่าง ๆ ของสหรัฐอเมริกามีกำลังซื้อมากขึ้น ผู้ประกอบการไทยจะสามารถใช้โอกาสนี้ให้เกิดประโยชน์ได้อย่างไร ในบทความครั้งหน้า เรื่อง “สหรัฐฯ ปรับกฎหมายภาษีใหม่ แล้วไทยต้องปรับตัวอย่างไร (ตอนจบ)” ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์ โดยกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ จะกล่าวถึงมาตรการการปฏิรูปการจัดเก็บภาษีรายได้จากต่างประเทศในส่วนสุดท้าย และจะวิเคราะห์ผลกระทบการปฏิรูปกฎหมายภาษีของสหรัฐอเมริกาต่อไทย รวมถึงโอกาสของธุรกิจไทย ให้ท่านผู้อ่านได้ทราบต่อไป[su_spacer size=”20″]
ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์
กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงวอชิงตัน