๑. เขตเศรษฐกิจที่มีเสรีภาพทางเศรษฐกิจสูงสุด ๕ ลําดับแรก ได้แก่ (๑) สิงคโปร์ (๒) นิวซีแลนด์ (๓) ออสเตรเลีย (๔) สวิตเซอร์แลนด์ และ (๕) ไอร์แลนด์ โดยประเทศเหล่านี้ถือว่าเป็นประเทศที่มีเสรีภาพทางเศรษฐกิจ (free) ขณะที่อีก ๓๓ เขตเศรษฐกิจ เช่น ไต้หวัน สหราชอาณาจักร เอสโตเนีย แคนาดา เดนมาร์ก ค่อนข้างมีเสรีภาพ (mostly free)
.
๒. ประเทศไทยอยู่ในลําดับที่ ๔๒ หรือในกลุ่มเขตเศรษฐกิจที่ระบบเศรษฐกิจมีเสรีภาพปานกลาง (moderately free) โดยอยู่ลําดับที่ ๔ ของกลุ่มเอเชีย-แปซิฟิก และลําดับที่ ๓ ในอาเซียน (มาเลเซียได้ลําดับที่ ๒๒ อยู่ในกลุ่ม mostly free ขณะที่อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม ได้ลําดับที่ ๕๖, ๗๓ และ ๔๐ ตามลําดับ ทั้งหมดอยู่ในกลุ่ม moderately free)
.
๓. บทวิเคราะห์ระบุว่า ประเทศไทยมีพัฒนาการในเรื่องเสรีภาพทางเศรษฐกิจ โดยได้รับคะแนนเพิ่มขึ้น ร้อยละ ๐.๓ เป็น ๖๔.๗ ซึ่งเป็นคะแนนสูงที่สุดที่เคยได้รับ โดยปัจจัยสําคัญมาจากพัฒนาการในเรื่องเสรีภาพในการดําเนิน ธุรกิจ แต่ยังจําเป็นต้องได้รับการปฏิรูปรอบด้าน ทั้งในเรื่องของการคอร์รัปชั่นและประสิทธิภาพของระบบตุลาการ
.
๔. ข้อมูลเพิ่มเติม
.
๔.๑ รายงานฉบับนี้ได้ศึกษานโยบายและสภาวะทางเศรษฐกิจของ ๑๘๔ เขตเศรษฐกิจในช่วง ๑ ก.ค. ๒๕๖๒ – ๓๐ มิ.ย. ๒๕๖๓ โดยพิจารณาจาก ๑๒ ปัจจัยด้วยน้ําหนักที่เท่ากันทั้งหมด (แบ่งเป็น ๔ กลุ่ม) ได้แก่ (๑) หลักนิติธรรม ได้แก่ ทรัพย์สินทางปัญญา ประสิทธิผลของระบบตุลาการ และความซื่อสัตย์ของรัฐบาล (๒) ขนาดของรัฐบาล ได้แก่ การใช้จ่ายงบประมาณ ภาระภาษี และสถานะการคลัง (๓) ประสิทธิภาพของกฎระเบียบ ได้แก่ เสรีภาพในการประกอบธุรกิจ เสรีภาพด้านแรงงานและการเงิน และ (๔) การเปิดตลาด ได้แก่ เสรีภาพในการค้า การลงทุนและการเงิน โดยรายงานในปีนี้ยังคงย้ำให้เห็นว่า การส่งเสริมเสรีภาพทางเศรษฐกิจมีความสัมพันธ์ที่ชัดเจน (clear relationship) กับ การบรรลุการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเฉลี่ยต่อบุคคลและเกี่ยวพันอย่างยิ่ง (highly correlate) กับความอยู่ดีมีสุข ซึ่งโดยเฉลี่ยแล้ว ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกยังถือว่า มีเสรีภาพทางเศรษฐกิจพอประมาณ (moderately free)
.
๔.๒ The Heritage Foundation มีสำนักงานอยู่ที่กรุงวอชิงตัน ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี ๒๕๑๖ โดยเป็นหนึ่งใน think tank แนวคิดอนุรักษ์นิยมที่สําคัญและมีบทบาทต่อการจัดทํานโยบายของรัฐบาลสหรัฐฯ ที่สุดแห่งหนึ่ง โดยเฉพาะ แนวคิดที่สนับสนุนกลุ่มธุรกิจและมีบทบาทอย่างยิ่งต่อการจัดทํานโยบายในสมัยอดีต ปธน.ทรัมป์ โดยการทํา Index of Economic Freedom เป็นรายงานประจําปีที่สําคัญของสถาบันฯ ซึ่งดําเนินการมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี ๒๕๓๘
.
ดังนั้นผู้ประกอบการที่สนใจทำธุรกิจกับต่างประเทศ ในมิติทั้งด้านการค้าและการลงทุน ควรศึกษาสภาวะเศรษฐกิจของประเทศนั้น ๆ เพื่อประกอบการตัดสินใจ และวางแผนการทำธุรกิจอย่างรอบคอบ อันนำมาซึ่งผลประโยชน์และการพัมนาขีดความสามารถในธุรกิจประเภทต่าง ๆ
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงวอชิงตัน