ปัจจุบัน ประชากรใน Los Angeles County มีทั้งหมดประมาณ 10,014,000 ราย ทั้งนี้ ในช่วงระหว่างปี 2555 – 2565 อายุเฉลี่ยของชาว Angelenos เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.5 (2.6 ปี) เป็น 37.4 ปี ซึ่งอัตราดังกล่าวมากกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศถึงร้อยละ 50 โดยจำนวนของผู้มีอายุต่ำกว่า 10 ปี ลดลงกว่าร้อยละ 20 และกลุ่มอายุระหว่าง 10 – 19 ลดลงร้อยละ 14 ในขณะที่กลุ่มอายุ 60 – 69 เพิ่มขึ้นร้อยละ 32 และกลุ่มอายุ 70 – 79 เพิ่มขึ้นร้อยละ 40 ซึ่งแนวโน้มดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงการปรับตัวเข้าสู่สังคมสูงวัย (Aging Society) ที่ชัดเจนยิ่งขึ้น และคาดว่าเกิดจากปัจจัยสำคัญต่าง ๆ ดังนี้
(1) ค่าครองชีพ รัฐแคลิฟอร์เนียเป็นหนึ่งในรัฐที่มีค่าครองชีพและราคาที่อยู่อาศัยสูงที่สุดในสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะในพื้นที่ Los Angeles, Bay Area และ Orange County ทำให้ประชากรหนุ่มสาวไม่มีกําลังพอในการถือครอง และเริ่มที่จะย้ายออกไปอยู่นอกเมืองหรือนอกรัฐ ส่วนเจ้าของบ้านที่อาศัยมาเป็นเวลานานมักไม่ประสงค์จะย้ายออกจากบ้านของตน ส่งผลให้จำนวนบ้านในตลาดลดน้อยลง รวมถึงมีราคาสูงขึ้น โดยมีจำนวนผู้ย้ายออกจากรัฐฯ ระหว่างช่วงปี 2565 – 2566 จำนวน 260,000 ราย ส่วนโรงเรียนต่าง ๆ มีจำนวนนักเรียนสมัครเข้าเรียนลดลงร้อยละ 10 จากเดิม 1.5 ล้านรายในช่วงปี 2561 – 2562 เป็น 1.365 ล้านราย ในช่วงปี 2565 – 2566 จนส่งผลกระทบให้โรงเรียนได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลน้อยลง ซึ่งเสี่ยงต่อการที่โรงเรียนจะต้องปิดตัวลง
(2) การย้ายถิ่นฐาน แม้ว่ารัฐแคลิฟอร์เนียจะมีความโดดเด่นในเรื่องของสภาพอากาศอบอุ่น รวมถึงมีความหลากหลายทางด้านอาหารและวัฒนธรรมเป็นอย่างมาก อย่างไรก็ดี ปัจจัยเหล่านั้นยังไม่เพียงพอที่จะดึงดูดคนจากภายนอกรัฐฯ ให้ย้ายมาอาศัยอยู่ในรัฐฯ จากสถิติจำนวนผู้ที่ย้ายมาที่รัฐฯ ทั้งหมดในปี 2565 มีเพียงร้อยละ 11 ที่ย้ายมาจากรัฐอื่น ๆ ซึ่งน้อยที่สุดในประเทศ และน้อยกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศ ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 20
(3) อัตราการเกิดต่ำที่สุดในรอบ 100 ปี สืบเนื่องจากค่าครองชีพที่สูง โดยเฉพาะราคาที่อยู่อาศัยที่สูงขึ้น ทำให้ความต้องการมีบุตรของชาวแคลิฟอร์เนียลดน้อยลง จะเห็นได้จากสถิติการเกิด 25 คน/ประชากร 1,000 คน ในปี 2500 เป็นการเกิด 11 คน/ประชากร 1,000 คนในปี 2564 และจำนวนบุตรเฉลี่ย/ครัวเรือนอยู่ที่ 2.5 คนในปี 2551 เป็นเฉลี่ย 1.52 คน ในปี 2565 ซึ่งต่ำสุดเป็นอันดับ 8 ของประเทศ
ทั้งนี้ นอกจากรัฐแคลิฟอร์เนียแล้ว รัฐอื่น ๆ ในสหรัฐอเมริกาก็กําลังประสบปัญหา “Youth Drain” เช่นกัน เนื่องจากกลุ่มผู้มีอายุช่วงวัยทำงานระหว่าง 20 – 29 ปี ซึ่งเป็นกำลังสำคัญมีจำนวนลดน้อยลง จนส่งผลให้เกิดปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ซึ่งจะส่งผลให้ผลิตผลของประเทศลดลงตาม จนอาจฉุดรั้งการเติบโตทางเศรษฐกิจนานหลายปี (มีการคาดการณ์ว่า ภายในปี 2575 สหรัฐอเมริกาจะมีจำนวนประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไปมากกว่าประชากรเด็ก)
จากข้างต้น รัฐบาลสหรัฐอเมริกาจึงต้องเตรียมแผนเพื่อแก้ปัญหาระบบโครงสร้าง เพื่อรองรับการเกษียณอายุครั้งใหญ่ที่จะเกิดขึ้น และลดผลกระทบที่จะเกิดต่อระบบสาธารณสุขของประเทศ โครงการของรัฐบาล การเติบโตทางเศรษฐกิจ รวมถึงคนวัยทำงานที่ต้องแบกรับภาระทางการเงินมากขึ้น ทั้งการดูแลสมาชิกสูงอายุในครอบครัว และการจ่ายภาษีในอัตราที่สูงขึ้น เพื่อเป็นรายได้ให้รัฐบาลนําไปจัดสรรเพื่อพัฒนาระบบดูแลผู้สูงอายุต่อไป ทั้งนี้ ปัญหาสังคมสูงวัยไม่ได้เกิดเฉพาะแค่ในสหรัฐอเมริกาเท่านั้น แต่ยังจะกลายเป็นปัญหาระดับโลกที่หลายประเทศกําลังเผชิญ ซึ่งรวมถึงไทยด้วย
ข้อมูล: สถานกงสุลใหญ่ ณ นครลอสแอนเจลิส
เรียบเรียงโดย: ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์