ปธน.ไบเดนเตรียมที่จะผลักดันการเรียกเก็บภาษีต่าง ๆ เพิ่มเติม ดังนี้
.
1. การปรับขึ้นการเก็บภาษีภายในประเทศ เป็นการปรับขึ้นภาษีเพื่อเป็นแหล่งงบประมาณส่วนหนึ่งให้กับรัฐบาล ในการขับเคลื่อนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจชุดต่อไปที่จะมุ่งไปในเรื่องการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและการจ้างงาน (คาดว่า จะมีมูลค่าประมาณ 2 – 4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ) โดยภาษีที่อยู่ระหว่างการพิจารณาปรับขึ้น ได้แก่
.
(1) การขึ้นภาษีนิติบุคคลจากร้อยละ 21 เป็นร้อยละ 28
(2) การลดสิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่ธุรกิจประเภท pass-through
(3) การเพิ่มอัตราภาษีรายได้ส่วนบุคคลสำหรับผู้ที่มีรายได้มากกว่า 4 แสนดอลลาร์สหรัฐ/ปี
(4) การขยายขอบเขตการเก็บภาษีอสังหาริมทรัพย์ และ
(5) การเพิ่มภาษีเงินได้จากกำไรในการขายหลักทรัพย์ (Capital Gains Tax) สำหรับผู้ที่มีรายได้มากกว่า 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี หากแต่ในขณะนี้ไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดอย่างเป็นทางการ
.
2.การกำหนดอัตราภาษีขั้นต่ำสำหรับบริษัทข้ามชาติทั่วโลก โดยนาง Janet Yellen รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กำลังหารือเรื่องดังกล่าวกับประเทศต่าง ๆ ในการประชุม Inclusive Framework (IF) on BEPS เพื่อให้ได้ข้อสรุป โดยคาดว่า อัตราที่ OECD จะเสนอให้ประเทศสมาชิกพิจารณาอยู่ที่ประมาณร้อยละ 12 จากกำไร
.
การปรับขึ้นการเก็บภาษีทั้ง 2 ด้าน นอกจากจะเป็นเรื่องของการหาแหล่งเงินทุนเพื่อสนับสนุนแผนกระตุ้นเศรษฐกิจฉบับใหม่ (ซึ่งแตกต่างจากมาตรการ American Rescue Plan จำนวน 1.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ที่รัฐบาลใช้เงินกู้ทั้งหมด) การดำเนินการดังกล่าวยังเป็นโอกาสของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ที่จะปฏิรูปโครงสร้างภาษีของสหรัฐฯ หากแต่ ประธานาธิบดีโจ ไบเดนจะต้องจัดการกับแรงต่อต้านจากฝ่ายต่าง ๆ ที่ไม่เห็นด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในสภาคองเกรสเองซึ่งมีความแตกแยกสูงระหว่างสองพรรค (partisan)
.
นอกจากนี้ นาง Yellen เคยกล่าวกับ คณะกรรมาธิการการเงินในกระบวนการ confirmation process ถึงความจำเป็นที่สหรัฐฯ จะต้องช่วยยุติการแข่งขันการลดภาษีนิติบุคคลของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก เพื่อดึงดูดการลงทุนและป้องกันการถูกบริษัทย้ายฐานการผลิตไปยัง tax haven (“A global minimum tax could stop the destructive global race to the bottom on corporate taxation and help discourage harmful profit-shifting.”) ซึ่งสะท้อนความต้องการของนาง Yellen ที่จะเพิ่มความสามารถของรัฐบาลสหรัฐฯ ในการเก็บภาษีจากบริษัทข้ามชาติให้มี ประสิทธิภาพมากขึ้น
.
ภายหลังจากที่ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ปรับลดภาษีนิติบุคคลจากร้อยละ 35 เป็นร้อยละ 21 เมื่อปี 2561 อัตราภาษีที่กว่า 500 บริษัทสหรัฐฯ ใน Fortune List จ่ายตามจริง (effective rate) อยู่ที่ร้อยละ 11.3 โดยมีถึง 91 บริษัทที่มีอัตราภาษีจ่ายตามจริงที่ร้อยละ 0 หรือต่ำกว่า ดังนั้น หากนาง Yellen สามารถผลักดันให้การเจรจาที่ OECD บรรลุได้จะถือเป็นความสำเร็จอย่างยิ่งในการใช้กลไกของ OECD ในการปฏิรูปการเก็บภาษีบริษัทข้ามชาติครั้งสำคัญ
.
โดยสรุป ภาษีต่าง ๆ ข้างต้นมีจุดประสงค์ที่สะท้อนค่านิยมของรัฐบาลสหรัฐฯ ในเรื่อง inequality และ level playing field ซึ่งหากดำเนินการได้ รัฐบาลจะมีงบประมาณไปพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ รวมทั้งในด้านดิจิทัลและพลังงาน ตามที่ประธานาธิบดีได้แถลงนโยบายไว้อย่างไรก็ดี ภาษีจากการกำหนดอัตราภาษีขั้นต่ำสำหรับบริษัทข้ามชาติทั่วโลก จะมีผลเป็นการลดแรงจูงใจแก่บริษัทอเมริกันที่ต้องการย้ายธุรกิจ หรือขั้นตอนทางธุรกิจออกไปทำในประเทศที่มีภาษีต่ำ
.
การปรับขึ้นภาษีกลางในครั้งนี้นับเป็นการขึ้นภาษีครั้งใหญ่ในรอบ 28 ปีของสหรัฐฯ ผนวกกับนโยบาย Buy America ที่เน้นการซื้อขายสินค้าที่ผลิตภายในประเทศ ลดการพึ่งพาการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ ซึ่งจะส่งผลให้การส่งออกของไทยได้รับผลกระทบในหลายส่วน เนื่องจากสหรัฐฯเป็นประเทศส่งออกที่สำคัญของไทย ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยด้านการส่งออกควรติดตามสถานการณ์และนโยบายการเก็บภาษีของสหรัฐฯอย่างใกล้ชิด อย่างไรก็ดี สหรัฐฯยังต้องพึ่งพาสินค้าบางประเภทที่ยังไม่สามารถผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพและเพียงพอต่อความต้องการภายในประเทศ เช่น สินค้าประเภทอาหารกระป๋อง อาหารแปรรูป อาหารสำเร็จรูป อาหารสัตว์เลี้ยง โดยเฉพาะโซลาร์เซลล์ ที่มีแนวโน้มความต้องการสูงในสหรัฐฯ จึงยังเป็นที่ต้องการในการนำเข้า รวมถึงการแทนที่ของสินค้าประเภทชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ยาง เฟอร์นิเจอร์ไม้ พลาสติก และเคมีภัณฑ์ ที่ไทยมีโอกาสในการส่งออกไปสหรัฐฯมากขึ้น จากการตั้งกำแพงภาษีต่อจีนซึ่งเป็นผลกระทบของสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน ดังนั้น ผู้ประกอบการส่งออกสินค้าประเภทนี้จึงควรปรับตัวตามแนวโน้มความต้องการของสหรัฐฯ โดยคำนึงถึงผลกระทบในด้านสิ่งแวดล้อมที่สหรัฐฯให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก รวมถึงติดตามท่าทีของสหรัฐฯในการกลับเข้าร่วม CPTPP ซึ่งหากสำเร็จ ไทยอาจสูญเสียความสามารถในการแข่งขันการส่งออกให้กับประเทศที่เป็นสมาชิก CPTPP
.
สอท. ณ กรุงวอชิงตัน
.
แหล่งอ้างอิง
https://kmc.exim.go.th/detail/hot-issues/20210125120925