ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าของสหรัฐฯ เติบโตอย่างมากในช่วงปี 2564 แม้จะประสบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อยอดขายรถยนต์ทุกประเภทในปี 2563-2564 โดยมียอดขายอยู่ที่ประมาณ 6 แสนคันจากยอดขายรถยนต์แบบ light vehicle ทั้งหมด 14.9 ล้านคัน โดยมี Tesla เป็นผู้นําในการทํายอดขายอยู่ที่ 3.02 แสนคัน และขณะนี้การแข่งขันการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าเริ่มมีความรุนแรงมากขึ้น จากทั้งค่าย General Motor และ Ford ที่เริ่มมียอดแบ่งสัดส่วนทางการตลาดมากขึ้นเรื่อย ๆ ยังไม่รวมถึงค่ายรถจากเยอรมนีและญี่ปุ่นที่เริ่มทยอยประกาศแผนการจัดตั้งฐานการผลิตรถไฟฟ้าในตลาดสหรัฐฯ
เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2565 สหรัฐฯ ได้ประกาศแผนงานการพัฒนาเครือข่ายโครงสร้างพื้นฐานสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าในสหรัฐฯ เพื่อบรรลุเป้าหมายการสร้างสถานีชาร์จยานยนต์ไฟฟ้า 5 แสนจุด ภายในปี 2573 โดยมีสาระสําคัญดังนี้
แผนงานที่ดําเนินการแล้ว
ที่ผ่านมาสหรัฐอเมริกาได้จัดทำโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสถานีชาร์จรถไฟฟ้า โดยจัดสรรเงินลงทุนภายใต้กฎหมายโครงสร้างพื้นฐาน จํานวน 7.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ แบ่งเป็น 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ สําหรับโครงการ National Electric Vehicle Infrastructure (NEVI) เพื่อสนับสนุนเงินทุนให้แก่รัฐในการสร้างโครงสร้างพื้นฐานริมทางหลวงและพื้นที่ห่างไกล และ 2.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ สําหรับเป็นเงินสนับสนุน (competitive grant) ให้แก่ผู้ที่ได้รับคัดเลือกในการจัดทําโครงการพัฒนาคุณภาพอากาศ เพื่อส่งเสริมการเข้าถึงการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าและชุมชนด้อยโอกาส พร้อมทั้งจัดสรรเงินลงทุนจํานวน 7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ สําหรับการจัดหาแร่ธาตุที่จําเป็นสําหรับการผลิตแบตเตอรี่ ชิ้นส่วน และการรีไซเคิลอีกด้วย นอกจากนี้ ยังได้สร้างความร่วมมือกับกลุ่มผู้ผลิตและแรงงานในอุตสาหกรรมยานยนต์ เพื่อบรรลุเป้าหมายการผลิตร้อยละ 50 ของรถยนต์ใหม่ให้เป็นรถยนต์ไฟฟ้า ภายในปี2573 ยิ่งไปกว่านั้น สหรัฐฯ ได้กระตุ้นการลงทุนมูลค่ากว่า 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ จากภาคเอกชนในอุตสาหกรรมการผลิตรถไฟฟ้าและชิ้นส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อส่งเสริมการจ้างงาน และความมั่นคงของห่วงโซ่อุปทานภายในประเทศ
สำหรับแผนงานที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ ที่ได้รับการดำเนินการแล้ว ได้แก่ ให้อํานาจแต่ละรัฐในการจัดซื้อยานยนต์ที่ใช้พลังงานสะอาด โดยให้จัดซื้อยานยนต์ขนาดเล็ก (zero-emission light-duty vehicles) ทั้งหมด ภายในปี 2570 และรถยนต์ประเภทอื่น ๆ ภายปี 2578 และกําหนดมาตรฐานสูงสุดของการปล่อยไอเสียยานยนต์ และการประหยัดน้ำมันเชื้อเพลิง
แผนงานที่สำคัญของหน่วยงานรัฐบาลกลางสหรัฐฯ
1. กระทรวงพลังงาน และกระทรวงคมนาคม ได้ร่วมกันจัดตั้ง Joint Office of Energy and Transportation และได้จัดตั้งคณะกรรมการกลาง Electric Vehicle Working Group (EVWG) เพื่อให้คําแนะนําเกี่ยวกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานยานยนต์ไฟฟ้า การคมนาคม และระบบพลังงาน
2. กระทรวงพลังงาน ยังจัดสรรเงินทุนจํานวน 45 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อจัดโครงการ ‘EVs4ALL’ เพื่อส่งเสริมการเข้าถึงการชาร์จยานยนต์ไฟฟ้า
3. หน่วยงานบริการทั่วไป (General Services Administration) จัดทําร่างสัญญา (Blanket Purchase Agreements) สําหรับหน่วยงานรัฐบาลในการจัดซื้ออุปกรณ์และบริการชาร์จไฟฟ้า
4. กระทรวงพาณิชย์จัดตั้งนโยบายเพื่อสนับสนุนการสร้างห่วงโซ่อุปทานการชาร์จยานยนต์ไฟฟ้าภายในประเทศและส่งเสริมการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ ด้านการชาร์จยานยนต์ไฟฟเาและการผลิตอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง ระหว่างวันที่ 26 – 29 มิถุนายน 2565 โดยสหรัฐฯ จะเป็นเจ้าภาพการจัดงาน ‘2022 Select USA Investment Summit’ เพื่อส่งเสริมการลงทุนที่ใหญ่ที่สุดแห่งปี และจะมีการเน้นย้ำถึงโอกาสด้านการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานยานยนต์ไฟฟ้าในสหรัฐฯ ภายใต้กฎหมายโครงสร้างพื้นฐานให้แก่กลุ่มประเทศผู้เข้าร่วมงานอีกด้วย
ที่ผ่านมา แต่ละรัฐของสหรัฐฯ จะมีนโยบายในการส่งเสริมและสนับสนุนการใช้รถยนต์ไฟฟ้าของสหรัฐฯ เช่นการให้ที่จอดรถฟรี การยกเว้นค่าจดทะเบียน การได้รับ tax credit การยกเว้นค่าผ่านทาง และการเพิ่มสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งการประกาศนโยบายของประธานาธิบดีไบเดนข้างต้น อาจช่วยกระตุ้นให้การเติบโตของตลาดรถยนต์ไฟฟ้าของสหรัฐฯ ซึ่งเห็นชัดเจนขึ้นอีกในระยะเวลาอนาคตอันใกล้นี้
จากข้อมูลข้างต้น นับเป็นแนวทางการส่งเสริมการใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้าที่น่าสนใจ โดยประเทศไทยอาจนำเอาแนวทางบางส่วนมาประยุกต์ใช้ได้ ซึ่งนอกจากจะเป็นการใส่ใจสิ่งแวดล้อมโดยการลดมลภาวะทางอากาศสอดคล้องกับเป้าหมายสังคมคาร์บอนต่ำแล้ว ยังเป็นประโยชน์ต่อภาคการผลิตชิ้นส่วนต่าง ๆ ของไทยในการหาช่องทางส่งออกสินค้าไปยังประเทศที่กำลังต้องการอีกทางหนึ่งด้วย