เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2564 สภาผู้แทนฯ ได้ลงมติผ่านแผนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจหรือ American Rescue Plan มูลค่า 1.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นครั้งที่สองด้วยคะแนนเสียง 220 ต่อ 211 ส่งผลให้แผนดังกล่าวได้รับความเห็นชอบจากทั้งสองสภาและพร้อมที่จะให้ประธานาธิบดีไบเดนลงนามเพื่อให้มีผลใช้บังคับ
.
ในช่วงบ่ายของวันเดียวกันประธานาธิบดีไบเดน ออกถ้อยแถลงเรื่อง The House Passage of the American Rescue Plan แสดงความขอบคุณทุกฝ่ายที่ให้การสนับสนุนการลงมติผ่านแผนดังกล่าวเพื่อช่วยเหลือชาวอเมริกันและธุรกิจสหรัฐฯ ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 โดยประธานาธิบดีไบเดนกล่าวว่า จะทำการลงนามแผนมาตรการดังกล่าวในวันศุกร์ที่ 12 มีนาคม 2564
.
สาระสำคัญของแผนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ
1. ให้เงินช่วยเหลือจำนวน 1,400 ดอลลาร์สหรัฐ/คน (เพิ่มเติมจาก 600 ดอลลาร์สหรัฐ/คน) ที่อนุมัติไปเมื่อเดือนธันวาคม 2563 และเงินช่วยเหลือเพิ่มเติมกรณีที่มีผู้อยู่ในอุปถัมภ์ (dependent) จำนวน 1,400 ดอลลาร์สหรัฐ/dependent โดยใช้เกณฑ์ดังต่อไปนี้
– ผู้ยื่นภาษีรายบุคคล (individual taxpayer) ที่มีรายได้ไม่เกิน 75,000 ดอลลาร์สหรัฐ/ปี (จำนวนเงินช่วยเหลือจะค่อย ๆ ลดลงจนถึงผู้มีรายได้ 80,000 ดอลลาร์สหรัฐ/ปี ซึ่งจะไม่ได้รับเงินช่วยเหลือ)
– ผู้ยื่นภาษีร่วมกัน (married couple filing jointly) ที่มีรายได้ไม่เกิน 150,000 ดอลลาร์สหรัฐ/ปี (จำนวนเงินช่วยเหลือจะค่อย ๆ ลดลงจนถึงผู้มีรายได้ 160,000 ดอลลาร์สหรัฐ/ปี ซึ่งจะไม่ได้รับเงินช่วยเหลือ)
– หัวหน้าครัวเรือน (head of household) ที่มีรายได้ไม่เกิน 112,500 ดอลลาร์สหรัฐ/ปี (จำนวนเงินช่วยเหลือจะค่อย ๆ ลดลงจนถึงผู้มีรายได้ 120,000 ดอลลาร์สหรัฐ/ปี ซึ่งจะไม่ได้รับเงินช่วยเหลือ)
.
2. อนุมัติขยายระยะเวลาการให้เงินช่วยเหลือแก่ผู้ว่างงานจำนวน 300 ดอลลาร์สหรัฐ/สัปดาห์ (เดิม 400 ดอลลาร์สหรัฐ/สัปดาห์) ไปจนถึงวันที่ 6 กันยายน 2564 (เดิมจะหมดอายุลงในวันที่ 14 มีนาคม 2564) และยกเว้นการเรียกเก็บภาษีจากผลประโยชน์ที่ได้รับเนื่องจากการว่างงานจำนวนไม่เกิน 10,200 ดอลลาร์สหรัฐ/คน ในปี 2563 แก่ผู้ยื่นภาษีรายบุคคล/ผู้ยื่นภาษีร่วมกันที่มีรายได้ไม่เกิน 150,000 ดอลลาร์สหรัฐ
.
3. ให้เครดิตภาษีจำนวน 3,600 ดอลลาร์สหรัฐ/คน สำหรับบุตรที่มีอายุไม่เกิน 5 ปี และ 3,000 ดอลลาร์สหรัฐ/คน สำหรับบุตรที่มีอายุ 6-17 ปี (สำหรับผู้มีรายได้ตามเกณฑ์ที่กำหนด) และมีแผนแบ่งจ่ายเป็นเงินรายเดือนเริ่ม กรกฎาคม – ธันวาคม 2564 แทนการขอคืนเงินภาษีรายปี
.
4. งบประมาณช่วยเหลือรัฐบาลและท้องถิ่นจำนวน 3.5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ
.
5. งบประมาณช่วยเหลือสถาบันการศึกษาและศูนย์เลี้ยงเด็กจำนวน 1.25 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ
.
6. งบประมาณสนับสนุนการซ่อมแซมโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมจำนวน 3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ
.
7. งบประมาณสนับสนุนการควบคุมการแพร่ระบาดของ COVID-19 (การแจกจ่ายวัคซีนป้องกัน COVID-19 การตรวจหาเชื้อ และการติดตามผู้สัมผัส) จำนวน 6.18 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ
.
8. งบประมาณช่วยเหลือธุรกิจขนาดย่อมจำนวน 2.2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ และช่วยเหลือธุรกิจร้านอาหารจำนวน 2.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ
.
ผลกระทบทางเศรษฐกิจของมาตรการดังกล่าว
1. OECD คาดการณ์ว่า แผนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐฯ จะช่วยเพิ่มอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในปี 2564 ประมาณร้อยละ 1 โดยได้ปรับตัวเลขคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกปี 2564 เพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 1.4 จากเดือนธันวาคม 2563 มาอยู่ที่ร้อยละ 5.6 นอกจากนี้ OECD ยังคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะขยายตัวในอัตราร้อยละ 6.5 ในปี 2564 เพิ่มขึ้นจากเดิมที่เคยคาดการณ์ไว้เมื่อเดือนธันวาคม 2563 ที่ร้อยละ 3.2 และอัตราเงินเฟ้อในประเทศจะปรับตัวขึ้น แต่จะไม่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
.
2. Tax Policy Center คาดการณ์ว่า แผนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจะช่วยลดภาษีให้แก่ครัวเรือนโดยเฉลี่ย 3,000 ดอลลาร์สหรัฐ และเพิ่มรายได้หลังหักภาษีร้อยละ 3.8 โดยครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำกว่า 25,000 ดอลลาร์สหรัฐ/ปี (ร้อยละ 20 ของกลุ่มผู้มีรายได้ต่ำสุด) จะมีรายได้หลังหักภาษีเพิ่มในอัตราเฉลี่ยร้อยละ 20 และครัวเรือนที่มีรายได้สูงสุด (ร้อยละ 20 ของกลุ่มผู้มีรายได้สูงสุด) จะมีรายได้หลังหักภาษีเพิ่มในอัตราเฉลี่ยร้อยละ 0.7
.
ประเทศไทยนั้นมีนโยบายช่วยเหลือและสนับสนุนผู้ประกอบการเช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็น โครงการเราเที่ยวด้วยกัน หรือโครงการคนละครึ่ง ซึ่งผู้ประกอบการควรติดตามข่าวสารจากทางภาครัฐอย่างใกล้ชิด เพื่อที่จะได้รับสิทธิ์อย่างครบถ้วน นอกจากนี้ การที่การที่สหรัฐฯ ใช้นโยบายนี้ ยังส่งผลต่อตลาดหุ้น และตลาดทุนทั่วโลก ทำให้ผู้ประกอบการที่วางแผนจะไปลงทุน หรือเข้าไปลงทุนในตลาดแล้ว ควรติดตามข่าวสารเพื่อดำเนินแนวทางการลงทุนให้สอดคล้องต่อทิศทางของตลาดต่อไป ผู้ประกอบการไทยสามารถพิจารณาส่งออกสินค้าที่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ในสหรัฐฯ เช่น สินค้าด้านสุขอนามัย การให้บริการออนไลน์
.
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงวอชิงตัน
.
ขอบคุณรูปภาพจาก: https://www.bbc.com/news/world-us-canada-56350463