เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2564 สายการบิน United Airlines ได้ออกแถลงการณ์ผ่านเว็บไซต์ว่าได้ทำสัญญาซื้อเครื่องบินความเร็วเหนือเสียง (Supersonic) รุ่น Overture จำนวน 15 ลำ จากบริษัท Boom Supersonic หรือ Boom Technology ซึ่งสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่เมืองเดนเวอร์ มลรัฐโคโลราโด โดยจะทดสอบมาตรการด้านความปลอดภัย และผลกระทบต่อธรรมชาติอย่างยั่งยืน ก่อนนำมาให้บริการ และหากผ่านการทดสอบทั้งหมดแล้ว สายการบินฯ อาจจะสั่งซื้อเครื่องบินรุ่นดังกล่าวเพิ่มอีก 35 ลำ
.
สำหรับเครื่องบินความเร็วเหนือเสียง รุ่น Overture นี้ จะเป็นเครื่องบินพาณิชย์รุ่นแรกในโลกที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net-zero Carbon) ในทุกกระบวนการผลิต ใช้น้ำมันอากาศยานแบบยั่งยืนทั้งหมด (Sustainable Aviation fuel หรือ SAF) มีความเร็ว Mach 1.7 (1,304.36 ไมล์/ชม.) บรรทุกผู้โดยสารได้ 65-88 คน ที่ระดับความสูง 6 หมื่นฟุต โดยคาดการณ์ว่าที่นั่งโดยสารจะเป็นแบบชั้นธุรกิจทั้งหมด และ United Airlines เป็นสายการบินแรกของสหรัฐฯ ที่ได้ทำสัญญาซื้อเครื่องบินดังกล่าว ซึ่งคาดว่าเครื่องบินดังกล่าว จะพัฒนาเสร็จสมบูรณ์ในปี 2568 และเริ่มบินได้ในปี 2569 จากนั้นสายการบิน United Airlines จะเริ่มให้บริการเที่ยวบินแรกในปี 2572
.
โดยเครื่องบินความเร็วเหนือเสียงนี้จะสามารถย่นระยะเวลาในการเดินทางลงได้ครึ่งหนึ่ง เมื่อเทียบกับเครื่องบินโดยสารชนิดอื่น ๆ ในปัจจุบัน โดยจะสามารถใช้เวลาเดินทางจากนครนิวยอร์ก ไปยังกรุงลอนดอนภายในเวลา 3 ชั่วโมงครึ่ง ใช้เวลาเดินทางจากนครนิวยอร์ก ไปยังนครแฟรงก์เฟิร์ตภายในเวลา 4 ชั่วโมง และใช้เวลาเดินทางจากเมืองซานฟรานซิสโก ไปยังกรุงโตเกียวภายในเวลา 6 ชั่วโมง นอกจากนี้มีการยังพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกอื่น ๆ เช่น เบาะนั่งและพื้นที่ส่วนตัวที่กว้างขวางขึ้น มี In-seat Entertainment Screen และใช้เทคโนโลยีไร้สัมผัส เป็นต้น
.
จะเห็นได้ว่า การที่สายการบิน United Airlines ได้ทำสัญญาซื้อเครื่องบินความเร็วเหนือเสียงนี้นั้น เป็นการเตรียมพร้อมในการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ตามนโยบายของประธานาธิบดีไบเดนของสหรัฐฯ ซึ่งไม่ใช่แค่เพียงรัฐบาลสหรัฐฯ เท่านั้น ที่ให้ความสำคัญกับการดำเนินกิจกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ประเทศอื่น ๆ ทั่วโลกต่างหันมาให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ทั้งนั้น เช่นเดียวกับประเทศไทยที่มีการประกาศให้เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG Economy) เป็นวาระแห่งชาติ นอกจากนี้ อุตสาหกรรมอื่น ๆ นอกเหนือจากอุตสาหกรรมการบินได้เริ่มมีการปรับตัวเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ที่มีการพัฒนารถยนต์ไฟฟ้า เพื่อจะได้ประหยัดพลังงาน และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากประเทศไทยมีการส่งออกรถยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์มากที่สุด ผู้ประกอบการไทยจึงควรพิจารณาการพัฒนาเทคโนโลยีต่าง ๆ เพื่อเตรียมพร้อมในการปรับตัวให้ทันต่อกระแสความนิยมในโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว และสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้อย่างยั่งยืน
.
สถานกงสุลใหญ่ ณ นครชิคาโก