กรอบความร่วมมือ C40 Cities เป็นกรอบเครือข่ายเมืองใหญ่ 96 เมืองทั่วโลก รวมถึงกรุงเทพมหานคร ในการมุ่งมั่นแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเมื่อช่วงปี 2563-2564 ที่ผ่านมา นครลอสแอนเจลิสได้ทำหน้าที่ประธานกลุ่ม C40 Cities และได้จัดการประชุม C40 Green Ports Forum เพื่อร่วมหาแนวทางลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในเมืองสําคัญที่เป็นท่าเรือขนส่งสินค้าหลักของโลก เนื่องจากเล็งเห็นว่า การขนส่งทางเรือใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลจำนวนมากและมีส่วนในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงถึงร้อยละ 3 จากปริมาณทั่วโลก
.
ภายใต้กรอบดังกล่าว ท่าเรือนครลอสแอนเจลิสจึงตกลงร่วมมือกับท่าเรือนครเซี่ยงไฮ้ดำเนินแผน Green Shipping Corridor เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในการขนส่งทางเรือและกิจกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับท่าเรือทั้งสองแห่ง และเพื่อเป็นตัวอย่างให้ท่าเรือเมืองใหญ่ต่าง ๆ ได้ใช้เป็นแนวทางการเปลี่ยนแปลงด้วย
.
แผนงาน Green Shipping Corridor มีการดำเนินการที่หลากหลาย ได้แก่ การเปลี่ยนไปใช้เรือขนส่งสินค้าที่ไม่ปลดปล่อย หรือปลดปล่อยก๊าซระดับต่ำ การตั้งเป้าผลิตเรือขนส่งสินค้าข้ามมหาสมุทรแปซิฟิกที่ไม่ปลดปล่อยก๊าซเลยภายในปี 2573 การร่วมกำหนดกรอบแนวปฏิบัติที่ดี (SOP) ลดการปล่อยก๊าซในการขนส่งทางเรือสหรัฐฯ-จีน ตลอดจนการพยายามลดการปล่อยก๊าซทั้งห่วงโซ่อุปทานการขนส่งทางเรือ รวมถึงการพัฒนาคุณภาพอากาศภายในท่าเรือและชุมชนใกล้เคียง ทั้งนี้ ความน่าสนใจ คือ บริษัทเอกชนจำนวนมากของทั้งสองฝ่าย เช่น A.P., Moller, Maersk, SOSCO, Maritime Technology Cooperation Centre-Asia เป็นต้น ได้ตกลงเข้าร่วมโครงการดังกล่าวด้วยแล้ว
.
กรุงเทพมหานครได้เข้าร่วมกรอบ C40 Cities ด้วย ซึ่งการขับเคลื่อนประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมข้างต้นของนครลอสแอนเจลิสและนครเซี่ยงไฮ้ นับเป็นกรณีศึกษาทิศทางในระดับสากลที่มีประโยชน์ต่อทั้งภาครัฐและภาคเอกชนไทยที่เกี่ยวข้องในระบบการขนส่งสินค้าทางเรือและโลจิสติกส์เพื่อการปรับตัวตามค่านิยมสากล เนื่องจากความร่วมมือ Green Shipping Corridor ข้างต้นอาจพัฒนาเป็นความร่วมมือหลายฝ่าย หรือนำไปสู่การกำหนดมาตรฐาน หรือแนวปฏิบัติร่วมกันระหว่างเมืองท่าสำคัญได้ในอนาคต
.
ข้อมูล : สถานกงสุลใหญ่ ณ นครลอสแอนเจลิส
เรียบเรียง : ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์