The Economic Club of Chicago (ECC) ซึ่งสถานกงสุลใหญ่ฯ เป็นสมาชิก ได้เชิญนาย Scott Kirby ประธานกรรมการบริหาร (Chief Executive Officer – CEO) ของสายการบิน United Airlines (UA) มาให้ข้อคิดเห็นเกี่ยวกับความท้าทายต่ออุตสาหกรรมการบินสหรัฐฯ ผ่านระบบประชุมทางไกล เป็นเวลาประมาณ 1 ชั่วโมง ซึ่งสายการบิน United Airlines (UA) มีสำนักงานใหญ่อยู่ในนครชิคาโก มลรัฐอิลลินอยส์ เป็นสายการบินที่ใหญ่เป็นลําดับ 4 ของโลก (วัดจากรายได้ผลประกอบการ) รองจากสายการบิน Delta Airlines, American Airlines และ Lufthansa ตามลําดับ มีเส้นทางการบินภายในประเทศ 238 แห่ง ระหว่างประเทศ 118 แห่งใน 48 ประเทศ มีเครื่องบินทั้งหมด 820 ลํา และมีพนักงานประมาณ 96,000 คน
.
การสัมภาษณ์นาย Scott Kirby ผ่านระบบประชุมทางไกลเป็นหนึ่งในกิจกรรมที่ The Economic Club of Chicago (ECC) ดําเนินเป็นประจําสําหรับสมาชิก ซึ่งประกอบด้วยบริษัทเอกชนในกลุ่มธุรกิจ ต่างๆ ในนครชิคาโกกว่า 1,850 บริษัท และคณะทูตในนครชิคาโก โดยที่ผ่านมา ECC จะเชิญผู้เชี่ยวชาญในด้านต่าง ๆ มาแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เช่น นาย Ban Ki-moon อดีตเลขาธิการสหประชาชาติ อดีต ปธน. George W. Bush อดีต ปธน. บารัค โอบามา นาย J.B. Pritzler ผู้ว่าการมลรัฐอิลลินอยส์ นาง Lori Lightfoot นายกเทศมนตรีนครชิคาโก และนาย Elo Musk ผู้ก่อตั้งและ CEO ของบริษัท Tesla เป็นต้น
.
งานในครั้งนี้ มีนาย Ted Souder ตําแหน่ง Head Industry – Retail ของบริษัท Google และ First Vice Chair, Programs ของ ECC เป็นผู้ดําเนินรายการ โดยได้สอบถามนาย Kirby ถึงผลกระทบจากสถานการณ์ COVID-19 การปรับตัวของสายการบินฯ นโยบายในอนาคต และแนวโน้มของอุตสาหกรรมการบินในอีก 20 – 30 ปีข้างหน้า ซึ่งนาย Kirby ได้ให้ข้อมูลและข้อคิดเห็นในประเด็นที่น่าสนใจ ดังนี้
.
1. ในด้านผลกระทบของสถานการณ์ COVID-19นั้น สายการบินฯ ได้รับผลกระทบอย่างหนัก แต่ในช่วงปลายปี 2563 ประชาชนมีการเดินทางมากขึ้น โดยนโยบายที่สําคัญที่สุดของสายการบินฯ คือ สุขอนามัยและความปลอดภัย ซึ่งสายการบินฯ ได้ติดตั้งระบบฟอกอากาศภายในห้องโดยสารด้วยเงินลงทุนกว่า 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งมีประสิทธิภาพดีกว่าที่ใช้ในห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาล โดยระบบฟอกอากาศดังกล่าวจะถ่ายเทอากาศทุก 2-3 นาที และจะเปิดระบบฟอกอากาศก่อนที่ผู้โดยสารขึ้นเครื่องบิน นอกจากนี้ ได้ระบุให้ประชาชนสวมหน้ากากอนามัยในทุกพื้นที่ของสายการบินฯ และได้ฉีดพ่นทําความสะอาดห้องโดยสารทั้งหมดก่อนเปิดให้ผู้โดยสารขึ้นเครื่องบิน ซึ่งผู้โดยสารส่วนใหญ่พึงพอใจกับการปฏิบัติดังกล่าว และสายการบินก็จะปฏิบัติเช่นนี้ต่อไปถึงแม้ว่าสถานการณ์จะกลับมาสู่ปกติแล้วก็ตาม
.
2. ในด้านวัคซีนป้องกัน COVID-19นั้น วัคซีนและการสวมหน้ากากอนามัยเป็นที่สิ่งสําคัญมาก เพราะจะช่วยเปิดพรหมแดนระหว่างประเทศและกระตุ้นให้มีการเดินทางระหว่างประเทศอีกครั้ง ซึ่งจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจต่อไป โดยมองว่า vaccine passport อาจมีความจําเป็นในชีวิตประจําวันในอนาคต เช่น ใช้สําหรับนั่งรับประทานอาหารในร้านอาหารหรือบาร์ หรือ ใช้ในการเข้าชมเกมส์กีฬาต่าง ๆ เป็นต้น ส่วนนโยบายที่อยากให้พนักงานทุกคนได้ฉีดวัคซีนนั้น ที่ผ่านมา นาย Kirby ได้เขียนจดหมายด้วยตนเองถึงครอบครัวของพนักงานทุกคนที่เสียชีวิตจากเชื้อไวรัส COVID-19 ซึ่งเป็นความรู้สึกที่น่าหดหูมาก จึงคิดว่าการฉีดวัคซีนเป็นสิ่งที่ถูกต้องและช่วยเพิ่มความปลอดภัยให้แก่พนักงาน เนื่องจากต้องติดต่อกับผู้โดยสารจํานวนมาก แต่ทั้งนี้ มีข้อจํากัดอยู่ 3 ประเด็น คือ (1) สายการบินฯ จะต้องจัดหาวัคซีนให้เพียงพอต่อพนักงาน (2) บริษัทอื่นควรให้ความสําคัญและมีนโยบายด้านการฉีดวัคซีนเหมือนกัน และ (3) รัฐบาลต้องให้การสนับสนุนในด้านดังกล่าว พร้อมกล่าวทิ้งท้ายว่า ในช่วงแรก วัคซีนอาจยังไม่ได้รับการยอมรับจากประชาชนทั้งหมด แต่คาดว่าประชาชนจะเปิดใจยอมรับมากขึ้น เหมือนเช่นนโยบายการสวมหน้ากากอนามัยในที่สาธารณะ
.
3. ในด้านการแข่งขันจากทางเลือกในการเดินทางอื่น ๆนั้น การเช่าเหมาลําเครื่องบิน การเดินทางด้วยรถไฟ รถยนต์ หรือเรือสําราญเช่าเหมา ว่า ไม่น่าเป็นที่กังวล เพราะถือเป็นสัดส่วนน้อย ประชากรที่มีอํานาจเข้าถึงมีไม่มากเมื่อเทียบกับประชากรส่วนใหญ่เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายสูงมาก และมีข้อจํากัดด้านการ เดินทางระหว่างประเทศค่อนข้างมาก จึงคาดว่าสายการบินจะไม่ได้รับผลกระทบจากกรณีดังกล่าวนัก
.
4. สำหรับแนวโน้มของอุตสาหกรรมการบินในอีก 20-30 ปีข้างหน้านั้น ช่องทางเดินทางอากาศอื่น ๆ เช่น ความเร็วเหนือเสียง ผ่านชั้นบรรยากาศขั้นสูงของโลก หรือแบบสะเทินน้ําสะเทินบก ยังเป็นสิ่งที่ยาก เนื่องจากมีข้อจํากัดหลายประการ เช่น ด้านการผลิต ค่าใช้จ่ายที่สูง และระบบสาธารณูปโภคก็ยัง ไม่พร้อมที่จะรองรับ แต่ประเด็นที่ธุรกิจในอุตสาหกรรมการบินจะตระหนักถึงมากขึ้น คือ ผลกระทบด้านการเปลี่ยนแปลงทางอากาศ หรือ Climate Change ซึ่งสายการบินฯ ก็ให้ความสําคัญด้านนี้มาก โดยมีนโยบายจะหยุดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ร้อยละ 100 ภายในปี 2593 โดยจะใช้กับทั้งตัวสายการบินเองและบริษัทผู้ผลิต หรือบริษัทคู่ค้าอื่นด้วย รวมทั้งวางแผนการทําวิจัยและทดลองโครงการต่าง ๆ เพื่อพัฒนาด้านดังกล่าวอีกด้วย
.
การสัมภาษณ์ในครั้งนี้จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการด้านอุตสาหกรรมการบิน ซึ่งได้รับผลกระทบจากโรคระบาด COVID-19 ทั่วโลก ซึ่งการปรับตัวและกำหนดนโยบายด้านสาธารณสุขและความปลอดภัยสำหรับผู้เดินทาง เช่น การใส่หน้ากากอนามัย การทำความสะอาดด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ การเว้นระยะห่าง การเฝ้าระวังอาการตนเองหากไปในพื้นที่เสี่ยง เป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างมาก ณ ช่วงเวลานี้ เพราะจะสร้างความเชื่อมั่นและไว้วางใจให้แก่ผู้ใช้บริการ ซึ่งการกำหนดมาตรการอย่างรัดกุมนี้จะช่วยลดอัตราการแพร่กระจายของโรคระบาดอย่างมีประสิทธิภาพ และจะนำมาซึ่งการเติบโตในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว หากได้รับวัคซีนป้องกันอย่างทั่วถึงทั้งโลกในอนาคตแล้ว จะนำไปสู่การเปิดเที่ยวการบินระหว่างประเทศที่เพิ่มมากขึ้นและกระตุ้นธุรกิจการบินให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ซึ่งในปัจจุบันนี้ มีการกระจายวัคซีนไปยังประเทศต่างๆอย่างแพร่หลายแล้ว นี่จึงถือเป็นสัญญาณที่ดีของผู้ประกอบการการบินเป็นอย่างมาก อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมการบิน โดยเฉพาะภาคชิ้นส่วน และการบริการที่เกี่ยวข้อง ควรศึกษาและติดตามแนวโน้มสากลใหม่ๆ ที่จะส่งผลต่อธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปรับตัวให้สอดคล้องกับนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมที่หลายประเทศและองค์กรให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก เพราะจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์และสิ่งมีชีวิตในระยะยาว
.
สถานกงสุลใหญ่ ณ นครชิคาโก