เศรษฐกิจไต้หวันยังมีสัญญาณปรับตัวดีขึ้น โดย GDP ไตรมาส 2 ขยายตัว 5.62% เมื่อเทียบกับไตรมาสแรก และคาดว่าจะขยายตัวต่อเนื่องเป็น 11.33% ในไตรมาส 3 และคาดว่า เศรษฐกิจไต้หวันในปี 2567 จะขยายตัวที่ 3.32% จากการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ (AI) ทั่วโลกที่กระตุ้นการลงทุนของนักลงทุน
ทั้งนี้ สรุปความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจไต้หวัน ดังนี้
สถานการณ์เงินเฟ้อ
ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ไตรมาสที่ 3 ของปี 2566 ปรับตัวขึ้น 2.44% โดยมีปัจจัยหลักจากราคาอาหารที่เพิ่มสูงจากผลกระทบของพายุไต้ฝุ่น และราคาเชื้อเพลิงที่เพิ่มสูงตามราคาน้ำมันดิบโลก
ขณะที่ธนาคารกลางไต้หวันมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.875% ติดต่อกันเป็นไตรมาสที่สอง โดยธนาคารกลางจะยังคงดำเนินนโยบายที่เข้มงวดต่อไปเพื่อรับมือกับราคาสินค้าที่ผันผวนจากปัจจัยความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ และการค้าโลก
การลงทุน
การลงทุนของไต้หวันในต่างประเทศระหว่างเดือนมกราคม – กันยายน 2566 มีมูลค่ารวม 17,480 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 190.06% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2565 โดยมีแรงหนุนหลักจากแผนการลงทุนของ TSMC ในการสร้างโรงงานผลิตชิปขั้นสูงสองแห่งในรัฐแอริโซนา
การลงทุนของไต้หวันในประเทศเป้าหมาย (Outward FDI) ตามนโยบายมุ่งใต้ใหม่ระหว่างเดือนมกราคม – กันยายน 2566 คิดเป็นมูลค่า 4,330 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 65.49% ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในสิงคโปร์ เวียดนาม และไทย ขณะที่การลงทุนจากประเทศเป้า (Inward FDI) หมายตามนโยบายมุ่งใต้ใหม่ในไต้หวัน คิดเป็นมูลค่า 2,460 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 25.59% โดยส่วนใหญ่มาจากสิงคโปร์ ไทย และมาเลเซีย
การจ้างงาน
อัตราการว่างงานเฉลี่ยระหว่างเดือนกรกฎาคม – กันยายน 2566 คิดเป็น 3.53% โดยมีผู้ว่างงานทั้งสิ้น 423,000 คน ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า 1.27% ทั้งนี้ ตลาดแรงงานในไตรมาสที่ 3 มีเสถียรภาพเนื่องจากภาคอุตสาหกรรมบริการมีความต้องการแรงงานสูงขึ้น รวมถึงการลดขนาด ปิดกิจการของภาคธุรกิจมีอัตราลดลง
มูลค่าการค้า
การส่งออกในไตรมาสที่ 3 มีมูลค่ารวม 114,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 5.1% เปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2565 ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่ารวม 87,490 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 19% ทำให้ไต้หวันได้เปรียบดุลการค้า ซึ่งเพิ่มขึ้น 111.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2565 โดยการส่งออกในเดือนกันยายน 2566 กลับมาขยายตัวเป็นบวก และมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องในไตรมาสที่ 4
สำหรับ การค้าระหว่างไทย – ไต้หวัน ในไตรมาสที่ 3 มีมูลค่ารวม 4,398.30 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไต้หวันส่งออกไปยังไทย 3,018.16 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และนำเข้าจากไทย 1,380.14 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งไทยเป็นคู่ค้าลำดับที่ 12 ของไต้หวัน
สินค้านำเข้าจากไทยมาไต้หวัน 3 อันดับแรก ได้แก่ (1) เครื่องจักรและอุปกรณ์ไฟฟ้า มูลค่า 728.17 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (2) อาหารปรุงสำเร็จ เครื่องดื่ม สุรา น้ำส้มสายชู และยาสูบ มูลค่า 134.83 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และ (3) ยานพาหนะ เครื่องบิน เรือ และอุปกรณ์การขนส่ง 83.02 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ขณะที่สินค้าส่งออกจากไต้หวันไปยังไทย 3 อันดับแรก ได้แก่ (1) เครื่องจักรและอุปกรณ์ไฟฟ้า มูลค่า 2,302.68 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (2) แร่โลหะ มูลค่า 238.48 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และ (3) พลาสติกและยาง มูลค่า 134.08 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ข้อมูล: สำนักงานการค้าและเศรษฐกิจไทย
เรียบเรียงโดย: ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์