- การเพิ่มมูลค่าของเหลือใช้จากอุตสาหกรรมการเลี้ยงหอยมุก สู่การต่อยอดเชิงพาณิชย์ในอุตสาหกรรมเพื่อสุขภาพและความงาม
- สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ให้ทุนสนับสนุนแก่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในการต่อยอดผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพและความงามจากหอยมุก หลังพบว่า เมือกหอยมุกประกอบด้วยโมเลกุลของเพปไทด์ โปรตีน และคอลลาเจน ซึ่งมีส่วนช่วยชะลอริ้วรอย คงความชุ่มชื้นให้ผิว และยับยั้งการสร้างเม็ดสีเมลานินในเซลล์ ซึ่งหอยมุกที่นำมาสกัดมี 3 สายพันธุ์ ได้แก่ หอยมุกกัลปังหา หอยมุกจาน และหอยมุกเปลือกดำ โครงการดังกล่าว นอกจากจะเป็นการช่วยเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงหอยมุกแล้วยังเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ อีกทั้งยังถือเป็นการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าด้วย เนื่องจากเปลือกหอยมุกที่เหลือจากการกระบวนการผลิต สามารถนำมาใช้ตกแต่ง และนำมาบดเป็นผงผสมปูนซีเมนต์เพื่อใช้ก่อสร้างได้
- การพัฒนาเทคโนโลยีไฮโดรเจนจากวัตถุดิบก๊าซชีวภาพจากบ่อขยะชุมชน เพื่อผลิตพลังงานสะอาดที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
- โครงการวิจัยดังกล่าว เป็นผลงานของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ที่มุ่งผลิตก๊าซไฮโดรเจนจากก๊าซชีวภาพจากบ่อขยะชุมชนในประเทศไทย ซึ่งมีกระบวนการผลิตหลัก คือ นำก๊าซชีวภาพมาทำความสะอาด ขจัดสิ่งปฏิกูลบางส่วนออก เช่น ก๊าซซัลเฟอร์ (กำมะถัน) และก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ จากนั้นนำก๊าซที่ได้ไปเข้าสู่เครื่องปฏิกรณ์หลัก ซึ่งประกอบด้วยตัวเร่งปฏิกิริยาที่มีศักยภาพในการแตกสลาย การแปรสภาพมีเทนและคอร์บอนเป็นไฮโดรเจน รวมถึงการกำจัดคาร์บอนมอนอกไซด์เพื่อเพิ่มปริมาณไฮโดรเจน โครงการดังกล่าวมีส่วนช่วยเพิ่มมูลค่าและทางเลือกในการใช้ก๊าซชีวภาพจากบ่อขยะ ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยจะมีการต่อยอดความร่วมมือกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) ในการนำก๊าซไฮโดรเจนที่ได้ไปใช้ร่วมกันกับเซลล์เชื้อเพลิงอื่น ๆ เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าต่อไป
ที่มา : จดหมายข่าว วช. ปีที่ 18 ฉบับที่ 148 ประจำเดือนกรกฎาคม 2566 สํานักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) https://nrct.go.th/e-publish1//newsletter/shelf/shelf.html
เรียบเรียง ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์