ในปี พ.ศ. 2565 เศรษฐกิจโอมานปรับตัวดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งเป็นผลมาจากระดับราคาเฉลี่ยของน้ำมันดิบในตลาดโลกในปีดังกล่าวได้เพิ่มขึ้นถึง 94 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล ส่งผลให้หนี้สาธารณะลดลงจากเดิม 83% เหลือ 44% ของ GDP (17.7 พันล้านริยาล/ 46 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) ในขณะที่ GDP ขยายตัว 4.7% และมีอัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 2.8% ล่าสุด บริษัท Credit Rating S&P ได้ปรับอันดับเครดิตของโอมานอยู่ในระดับที่ดีขึ้นเป็น BB (stable outlook) จาก BB-
ทั้งนี้ ในแต่ละภาคส่วนเศรษฐกิจของโอมานยังคงมีความแข็งแกร่ง โดยภาค oil and gas ในปี พ.ศ. 2565 โอมานสามารถผลิตน้ำมันและคอนเดนเสทได้เพิ่มขึ้นถึง 9.6% กำลังผลิตเฉลี่ย 1.06 ล้านบาร์เรล/วัน โดยการส่งออกน้ำมันและก๊าซธรรมชาติคิดเป็น 60% ของการส่งออกทั้งหมด จากการคาดการณ์เชื่อว่าในอนาคตกำลังผลิตน้ำมันและคอนเดนเสทของโอมานจะมีอัตราเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องถึง 10% ไปจนถึงปี พ.ศ. 2568 อีกทั้งภาคการผลิต/สำรวจน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ยังมีการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) สูงถึง 70%
ในปีเดียวกันนี้ การส่งออกของภาค non-oil ยังขยายตัวถึง 50.1% โดยภาคอุตสาหกรรมการผลิตและโลจิสติกส์เป็นสาขาที่มีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว โดยในภาคอุตสาหกรรมการผลิต Fitch Rating ได้ประเมินว่า สินแร่มีการขยายตัวมากถึง 172% ในขณะที่พลาสติกและเคมีภัณฑ์ มีอัตราการขยายตัวเท่ากันอยู่ที่ 42% นอกจากนี้ โอมานยังเป็นแหล่งวัตถุดิบแร่ธาตุสำคัญที่ใช้ในการผลิตแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ EV เช่น นิเกิล และลิเธียม
ในภาคโลจิสติกส์ โอมานตั้งเป้าเป็นแหล่งกระจายสินค้าสู่ภูมิภาคและอนุภูมิภาคแอฟริกาเหนือโดยใช้ข้อได้เปรียบในการมีที่ตั้งอยู่นอกอ่าวฮอร์มุซและการมีความสัมพันธ์ที่ดีกับทุกประเทศ โดยที่ผ่านมา รัฐบาลได้ดำเนินการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ ท่าเรือ และโครงสร้างพื้นฐานหลายโครงการ เช่น ท่าเรือน้ำลึกขนส่งสินค้าทางตอนเหนือที่โซฮาร์ (Sohar) ท่าเรือแบบ dry dock ทางตอนกลางที่ดูคุม (Duqm) และท่าเรือขนส่ง containers ทางตอนใต้สุดที่ซาลาลาห์ (Salalah)
อีกทั้งภาคการผลิตไฮโดรเจนสีเขียว ปัจจุบัน การพัฒนาไฮโดรเจนสีเขียวถือเป็นวาระแห่งชาติที่รัฐบาลให้ความสำคัญ โดยองค์กร International Energy Agency (IEA) ประเมินว่า โอมานมีข้อได้เปรียบทางด้านภูมิประเทศที่เอื้อต่อการผลิตไฮโดรเจนสีเขียว และรัฐบาลโอมานส่งเสริมการลงทุนด้านนี้ หากโอมานสามารถพัฒนาโครงการไฮโดรเจนสีเขียวให้บรรลุได้ตามเป้าหมายภายในปี พ.ศ. 2573 โอมานจะก้าวขึ้นมาเป็นผู้ส่งออกไฮโดรเจนสีเขียวในอันดับ 6 ของโลก และเป็นอันดับ 1 ของกลุ่มประเทศความร่วมมืออ่าวอาหรับ Gulf Cooperation Council (กลุ่มประเทศ GCC) ซึ่งส่วนแบ่งการส่งออกจากตัวเลขการประเมินโครงการของแต่ละประเทศ โดยซาอุดีอาระเบียอยู่ที่ 16% ยูเออีอยู่ที่ 20% และโอมานสูงถึง 61% เนื่องจากการคาดการณ์ของ IEA ที่ประเมินอัตราราคาไฮโดรเจนสีเขียวที่โอมานผลิตได้ในช่วงปี พ.ศ. 2573 อยู่ที่ประมาณ 1.6 ดอลลาร์สหรัฐ/กิโลกรัม ซึ่งเป็นอัตราที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของราคาประเมินในตลาดโลก 2 ดอลลาร์สหรัฐ/กิโลกรัม
โอกาสสำหรับประเทศไทย
จากเศรษฐกิจโอมานฟื้นตัวดีขึ้น ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจในเกือบทุกด้านกลับสู่โหมดปกติ รวมถึงได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐมากขึ้น จึงเป็นโอกาสสำหรับประเทศไทยจะได้รับประโยชน์จากความร่วมมือในด้านต่าง ๆ กับโอมานด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะด้านโลจิสติกส์ เนื่องจากโอมานเป็นประเทศทางเลือกสำหรับการกระจายสินค้าในภูมิภาค หากประเทศไทยได้เปิดเส้นทางเดินเรือขนส่งสินค้า ทั้งท่าเรือโซฮาร์และท่าเรือซาลาลาห์กับทางโอมาน ซึ่งจะเป็นยุทธศาสตร์หนึ่งที่สามารถช่วยส่งเสริมการค้าและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยได้เป็นอย่างดี
ที่ผ่านมา ประเทศไทยและโอมานได้มีความร่วมมือในด้านต่าง ๆ ร่วมกันแล้ว ได้แก่ (1) ด้านพลังงาน เช่น การผลิตน้ำมัน การผลิตไฟฟ้าและน้ำจืด (2) ด้านการท่องเที่ยวและบริการ เช่น ธุรกิจโรงแรม ธุรกิจร้านอาหารไทย และสายการบิน โดยได้มีการเพิ่มเที่ยวบินและเปิดเส้นทางบินใหม่ระหว่างโอมาน-ประเทศไทย จากกรุงมัสกัตไปยังกรุงเทพมหานคร ภูเก็ต กระบี่ และพัทยา ซึ่ง ณ สิ้นปี พ.ศ. 2565 มีนักท่องเที่ยวจากโอมานเดินทางมายังประเทศไทยจำนวน 26,745 คน และ (3) ด้านสาธารณสุข เช่น การส่งต่อผู้ป่วยมารักษาในประเทศไทย รวมถึงการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ในการรักษาและเทคโนโลยีด้านการแพทย์
ทั้งนี้ ไทย-โอมานมีมูลค่าการค้า 94,484.94 ล้านบาท (2.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) แบ่งเป็นไทยส่งออกไปยังโอมาน 16,132 ล้านบาท (468 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) และไทยนำเข้าจากโอมาน 80,352.32 ล้านบาท (2.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) โดยสินค้าหลักที่ไทยส่งออกไปยังโอมาน ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง และข้าว และสินค้าหลักที่ไทยนำเข้าจากโอมาน ได้แก่ ก๊าซธรรมชาติ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ น้ำมันดิบ เคมีภัณฑ์ ปุ๋ยและยากำจัดศัตรูพืชและสัตว์ สัตว์น้ำสด แช่แข็ง แปรรูป และกึ่งสำเร็จรูป
ข้อมูล: สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงมัสกัต
เรียบเรียงโดย: ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์