.
หลาย ๆ คนคงรู้จัก SDGs บ้างแล้ว ซึ่งจะยิ่งทวีคูณความสำคัญเข้าไปในทุกภาคส่วนของธุรกิจ นโยบายระดับประเทศ จนถึงความร่วมมือระดับประเทศ ซึ่ง “Sustainable Development Goals (SDGs)” คือ เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 17 ข้อ ขององค์การสหประชาชาติ (UN) เช่น การขจัดความยากจน การรองรับสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี การส่งเสริมอุตสาหกรรม นวัตกรรม และโครงสร้างพื้นฐานที่ยั่งยืน เป็นต้น ในปัจจุบัน เริ่มมีการประยุกต์เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence – AI) เข้ามาช่วยบรรลุเป้าหมายดังกล่าว ซึ่งจะครอบคลุมการขับเคลื่อนและพัฒนาความยั่งยืนของมนุษย์ เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ร่วมกับเทคโนโลยีได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำยิ่งขึ้น
.
AI สามารถช่วยบรรลุ SDGs ได้อย่างไร ?
.
ทูตรักษาการด้านเทคโนโลยีประจำ UNSG กล่าวว่า AI สามารถช่วยส่งเสริมการบรรลุเป้าหมายถึง 134 ข้อของ SDGs หรือคิดเป็นร้อยละ 79 แต่ AI อาจถูกใช้ในทางที่ผิดได้ เช่น อคติในอัลกอริทึม (biased algorithm) ข้อมูลเท็จ (misinformation) คลิปปลอม (deep fake) หรือการละเมิดสิทธิมนุษยชน UNSG จึงได้เสนอ “Roadmap for digital cooperation” เพื่อให้อนาคตทางดิจิทัลเปิดกว้าง มีเสรีภาพ และความปลอดภัย และกำหนดให้ AI เป็นหนึ่งในความท้าทายเร่งด่วนที่ต้องมีระเบียบข้อบังคับที่ดี มีวิจัยและแนวทางด้านนโยบายที่เหมาะสมเพื่อไม่ให้เกิดช่องว่างเรื่องความโปร่งใส ความปลอดภัย และ มาตรฐานด้านจริยธรรม
.
ในการนี้ หน่วยงาน International Research Centre on Artificial Intelligence (IRCAI) จึงได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในการสนับสนุน Global Digital Compact เพื่อบรรลุโครงสร้างความร่วมมือระดับโลกที่มีส่วนร่วมในการตอบสนองต่อกรอบการทำงาน และสภาพแวดล้อมทางดิจิทัล โดยเน้นมนุษย์เป็นศูนย์กลาง จนสามารถบรรลุ Recommendation on the ethics of artificial intelligence ของ UNESCO ที่ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล นโยบาย มาตรฐาน โครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีดิจิทัล ตามเป้าหมายการบรรลุ SDGs และสินค้าสาธารณะ เช่น การจัดทำกรอบด้านนวัตกรรมสำหรับ SDGs บ่งชี้ทางแก้ไขปัญหาด้านสิทธิมนุษยชน และจริยธรรมในการใช้เทคโนโลยี การประเมินความต้องการ AI ในแอฟริกา หรือการรับรอง Recommendation on Open Educational Resources ในการประชุม UNESCO General Conference เมื่อปี 2562 เป็นต้น
.
ปัจจุบัน มีหลายโครงการที่ริเริ่มใช้ AI เพื่อสนับสนุนการบรรลุ SDGs เช่น
Rewire – Al เพื่อจัดการการแสดงความเกลียดชังและรังแกผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์
ASMSpotter – AI ในซูรินาม กายอานา และเปรู ที่ตรวจตราการทำเหมืองแร่อัตโนมัติผ่านดาวเทียมเพื่อตรวจสอบว่าสอดคล้องกับกฎระเบียบหรือไม่
NASA Harvest – AI สนับสนุนข้อมูลเพื่อความมั่นคงทางอาหารและการเกษตร สภาพภูมิอากาศ สภาพพันธุ์พืช การจัดการศัตรูพืช และการเตรียมการให้ความช่วยเหลือในสถานการณ์ความไม่มั่นคงทางอาหารล่วงหน้า
Logically Intelligence – AI การจัดการข้อมูลที่ผิดและข้อมูลบิดเบือน
Nature Alpha – AI ด้านข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบจากการลงทุนต่อความหลากหลายทางชีวภาพ SkillLab – AI ช่วยเหลือด้านการจ้างงาน โดยใช้ AI สัมภาษณ์และคัดเลือกความสามารถ)
Aspire Darwin AI – การพัฒนาระบบ AI และหุ่นยนต์เพื่อผลิตแหล่งโปรตีนจากแมลงในพื้นที่ที่มีทรัพยากรจำกัด
.
ไทยเปิดสวิตช์ เตรียมเดินสายสู่ความยั่งยืน
.
หลายบริษัทในประเทศไทยเริ่มนำเทคโนโลยี AI มาประยุกต์ใช้ในธุรกิจ ซึ่งนอกจากจะสามารถวิเคราะห์ข้อมูลการทำงานได้อย่างแม่นยำ และรวดเร็วแล้ว ยังสามารถสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ แก่ผู้ประกอบการ โดยเฉพาะด้านการแพทย์และระบบสาธารณสุขของไทยได้เริ่มนำ AI มาใช้ในโรงพยาบาลแล้ว เช่น การตรวจคัดกรองและวินิจฉัยโรคด้วย AI และโครงการพัฒนา AI รังสีการแพทย์ ทดแทนการขาดแคลนนักรังสีการแพทย์ ซึ่งจะช่วยรักษาผู้ป่วยได้อย่างแม่นยำ ลดปัญหาการขาดแคลนทางบุคลากร และยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของประชากร ตามเป้าหมายของ SDGs ด้านการมีสุขภาพ และความเป็นอยู่ที่ดี
.
นอกจากนี้ ยังมีการสร้างหุ่นยนต์เมือนครู ‘ครู EDU’ ในจังหวัดบุรีรีมย์ ที่สื่อสารได้หลายภาษา เพื่อส่งเสริมเทคโนโลยีทางการศึกษาของนักเรียนไทย ซึ่งสอดคล้องกับ SDGs ด้านการศึกษาที่เท่าเทียม ตลอดจนพัฒนาการประมวลข้อมูลเพื่อประกอบการตัดสินใจเชิงนโยบาย การผลิตอาหารและการเพาะปลูก การจัดการทรัพยากรน้ำ และการควบคุมการจราจรเพื่อลดมลพิษและลดความหนาแน่นของการจราจร
.
ทั้งหมดนี้จึงเป็นหนึ่งในโอกาสสำคัญสำหรับนักพัฒนาระบบ AI นักซ่อมแซมระบบ นักธุรกิจด้าน AI รวมถึงผู้ประกอบการนำเข้า-ส่งออกที่จะนำเทคโนโลยีเหล่านี้เข้ามาพัฒนาคุณภาพชีวิต ความเป็นอยู่ การอำนวยความสะดวกแก่บุคลากร และประชากรในประเทศ ในขณะเดียวกัน ก็ควรคำนึงถึงความสะดวกสะบายของระบบต่อผู้ใช้งาน ความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ผลกระทบต่อระบบนิเวศ รวมถึงจริยธรรมด้านมนุษย์และความเป็นส่วนตัว เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยก้าวไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนทั้ง 17 ข้อได้รวดเร็วยิ่งขึ้น
.
คณะผู้แทนถาวร ณ นครนิวยอร์ก