ทิศทางเศรษฐกิจของสหราชอาณาจักร
.
ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติของสหราชอาณาจักร (Office for National Statistics – ONS) รายงานว่าเศราฐกิจโดยรวมของสหราชอาณาจักรในเดือนพฤษภาคม 2564 ขยายตัวเป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกันแต่ปรับตัวขึ้นจากเดือนเมษายน เพียงร้อยละ 0.8 ซึ่งต่ํากว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ร้อยละ 1.5 และต่ำกว่าช่วงก่อนวิกฤต COVID-19 ร้อยละ 3.1 ทั้งนี้ ภาคบริการโดยรวมขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.9 โดยมีปัจจัยหนุนจากการที่ประชาชนออกมารับประทานอาหารที่ร้านอาหารและผับเพิ่มขึ้นทําให้ ธุรกิจร้านอาหาร ผับ รวมถึงโรงแรมขยายตัวถึงร้อยละ 37.1 อย่างไรก็ดี ภาคอุตสาหกรรมการผลิตโดยรวมปรับตัว เพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 0.1 เนื่องจากภาคการผลิตรถยนต์ในสหราชอาณาจักรได้รับผลกระทบจากการขาดแคลนไมโครชิปทั่วโลกที่ทําให้ต้องชะลอการผลิตอุปกรณ์รถยนต์และรถยนต์บางส่วนชั่วคราว ผลผลิตจึงปรับตัวลดลงร้อยละ 16.8 นอกจากนี้ ปัจจัยจาก สภาพอากาศแปรปรวนได้ส่งผลกระทบต่อความต่อเนื่องของภาคการก่อสร้างทําให้ผลผลิตปรับตัวลดลงร้อยละ 0.8 แต่ยัง ถือว่าอยู่ในระดับที่สูงกว่าช่วงก่อนวิกฤตโควิดร้อยละ 0.3
.
รายงานอีกฉบับของ ONS ระบุว่ายอดการส่งออกสินค้าโดยรวมของสหราชอาณาจักรในเดือนพฤษภาคมปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.9 (หรือคิดเป็นมูลค่า 1.3 พันล้านปอนด์) โดยมีปัจจัยจากยอดการส่งออกสินค้าไป EU ที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 4 อย่างไรก็ดี ยอดการส่งออกสินค้าของสหราชอาณาจักรไป EU ยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าประเทศ non-EU โดยคิดเป็นมูลค่า 1.29 หมื่นล้านปอนด์และ 1.37 หมื่นล้านปอนด์ ตามลําดับ นอกจากนี้สหราชอาณาจักรยังนําเข้าสินค้าจากประเทศ non-EU มากกว่า EU เป็นเดือนที่ 5 ติดต่อกันโดยคิดเป็นมูลค่า 2 หมื่นล้านปอนด์ และ 1.84 หมื่นล้านปอนด์ ตามลําดับ ทั้งนี้ สถิติการ นําเข้า-ส่งออกระหว่างสหราชอาณาจักรกับ EU ที่ถือว่าปรับตัวสูงขึ้นกว่าช่วงต้นปีนี้สะท้อนว่าผู้ประกอบการของทั้งสองฝ่ายสามารถปรับตัวภายใต้กฎระเบียบใหม่หลัง Brexit ได้มากขึ้นแล้ว
.
ข้อมูลจากองค์กรการค้าปลีกของสหราชอาณาจักร (British Retail Consortium – BRC) ระบุว่า ยอดขายของแหล่งชอปปิ้ง (high street) ในไตรมาสที่สองของปีนี้ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากที่สุดในประวัติศาสตร์ซึ่งมีปัจจัยจากการผ่อน คลายการล็อกดาวน์โดยยอดขายในเดือน มิถุนายน 2564 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วร้อยละ 28.4 และมากกว่า ช่วงเดียวกันของปี 2562 ร้อยละ 10.4 และมีปัจจัยจากสภาพอากาศที่ดีที่ช่วยกระตุ้นยอดขายเสื้อผ้าและรองเท้า ในขณะที่ ปัจจัยจากการแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์ยุโรป (UEFA Euro 2020) ทําให้ยอดขายของโทรทัศน์ ขนมขบเคียว และเบียร์ เพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว เป็นต้น นอกจากนี้ บริษัท Barclaycard ให้ข้อมูลว่าประชาชนในสหราชอาณาจักรมีการจับจ่ายใช้สอยผ่านบัตรเครดิตหรือเดบิตเพิ่มขึ้นในเดือนมิถุนายนคิดเป็นร้อยละ 11.1 (เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562) โดยเฉพาะในส่วนของการท่องเที่ยวซึ่ง สะท้อนจากยอดการใช้จ่ายเกี่ยวกับน้ํามันเชื้อเพลิง โรงแรม รีสอร์ท และห้องพักต่างอากาศ ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรก ตั้งแต่ช่วงแรกของวิกฤตโควิด ในขณะที่ยอดการใช้จ่ายในส่วนของร้านค้าปลีกเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.7 ซึ่งพัฒนาการต่าง ๆ เป็นสัญญาณเชิงบวกที่สะท้อนการหมุนเวียนของเศรษฐกิจสหราชอาณาจักรในภาพรวมเนื่องจากประชาชนจํานวนมากมีสภาพคล่องสูงจากนโยบายจ่ายเงินช่วยเหลือการจ้างงานของรัฐบาลสหราชอาณาจักรที่มีมาตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 และจะสิ้นสุดในเดือนกันยายนนี้
.
ผลกระทบจากวิกฤต COVID-19 ต่อภาคธุรกิจและอุตสากรรมต่าง ๆ ของสหราชอาณาจักร
.
อุตสาหกรรมรถยนต์
บริษัทผลิตรถยนต์ Stellantis ซึ่งมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 5 ของ โลก ประกาศแผนการผลิตรถตู้ระบบไฟฟ้ายี่ห้อ Vauxhall ที่ศูนย์ผลิตในเมือง Ellsemere Port ของอังกฤษในปี 2565 คิดเป็นมูลค่าการลงทุนประมาณ 100 ล้านปอนด์ โดยแผนดังกล่าวได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลสหราชอาณาจักรบางส่วนและจะขยายการจ้างงานอย่างน้อย 1,200 ตําแหน่ง นอกจากนี้ บริษัท Britishvolt มีแผนเปิดศูนย์ผลิตแบตเตอรี่สําหรับรถยนต์ไฟฟ้า มูลค่า 2.6 พันล้านปอนด์ภายในปี 2566 ซึ่งเป็นโครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่สุดที่เคยมาในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอังกฤษ คาดว่าจะทําให้เกิดการจ้างงานจํานวน 3,000 ตําแหน่งในบริเวณใกล้เคียงและรองรับการผลิตแบตเตอรี่สําหรับรถยนต์ไฟฟ้าได้จํานวน 300,000 คันต่อปีภายในปี 2570 ทั้งนี้ การขยายการลงทุนในสหราชอาณาจักรของทั้งสองบริษัทข้างต้นสะท้อน ให้เห็นถึงความมั่นใจของนักลงทุนที่มีต่อสหราชอาณาจักร หลังวิกฤต COVID-19 และส่วนหนึ่งเป็นผลจากนโยบายส่งเสริมการลงทุน ที่มีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศของรัฐบาลสหราชอาณาจักรด้วย
.
อุตสาหกรรมแฟชั่น
บริษัท Gap ประกาศแผนปิดกิจการถาวรในสหราชอาณาจักรและไอร์แลนด์จํานวน 81 แห่ง ภายในเดือนกันยายน 2564 โดยจะจําหน่ายทางออนไลน์ผ่านหน้าเว็บไซต์เท่านั้น เนื่องจากวิกฤตโควิดที่ผ่านมาเป็นปัจจัยหลักที่ทําให้บริษัทต้องปรับแผนธุรกิจที่เน้นการจําหน่ายในช่องทางออนไลน์มากขึ้นกว่าเดิม นอกจากนี้ บริษัท Asos ซึ่งเป็นเว็บไซต์ที่จําหน่ายสินค้าแฟชั่นยี่ห้อต่าง ๆ ทางออนไลน์ให้ข้อมูลว่า ยอดขายของบริษัทในไตรมาสที่สองเพิ่มขึ้นเกือบร้อยละ 20 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้วโดยยอดขายในช่วงเดือน มีนาคม – มิถุนายน 2564 คิดเป็นมูลค่า 1.3 พันล้านปอนด์ อย่างไรก็ดี ยอดขายและกําไรของ Asos ในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือน มิถุนายน 2564 เริ่มส่งสัญญาณการหดตัวจากความไม่แน่นอนของสถานการณ์ การแพร่ระบาดที่เชื่อมโยงกับการออกจากมาตรการล็อกดาวน์ในสหราชอาณาจักร และความเชื่อมั่นของผู้บริโภค โดยอีกส่วนหนึ่งเกิดจากปัจจัยต้นทุนการขนส่งที่เพิ่มขึ้นอย่างมากจากวิกฤต COVID-19 โดย Asos ให้ข้อมูลว่า ต้นทุนการขนส่งจากจีนเพิ่มขึ้นกว่า 10 เท่าตัวในขณะที่การขนส่งทางอากาศมีทางเลือกน้อยลงจากเที่ยวบินที่มีจํากัด ทั้งนี้ แนวโน้มดังกล่าวสะท้อนว่าปัจจัยจากวิกฤต COVID-19 จะยังคงส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานและทําให้ต้นทุนการขนส่งปรับตัวสูงขึ้น แม้ด้านอุปสงค์จะทยอยฟื้นตัวดีขึ้นตามลําดับแต่กําไรมีแนวโน้มลดลงจนกว่าสถานการณ์ตึงตัวในภาคการขนส่งจะปรับตัวดีขึ้น
.
อุตสาหกรรมค้าปลีก
Sainsbury’s ซึ่งเป็นซุปเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่อันดับที่สองของสหราชอาณาจักรให้ข้อมูลว่า ยอดขายออนไลน์ในช่วงไตรมาสที่หนึ่งของปี 2564 ปรับตัวเพิ่มขึ้นกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้วร้อยละ 29 และสูงกว่าช่วงก่อนวิกฤตโควิดถึงร้อยละ 142 อย่างไรก็ดี การผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์เป็นปัจจัยทําให้ประชาชนเริ่มเปลี่ยนพฤติกรรม การบริโภคอีกครั้งและมีแนวโน้มกลับมาดําเนินชีวิตตามปกติมากขึ้น ซึ่งสะท้อนให้เห็นจากยอดขายออนไลน์ที่ปรับตัวลดลง ในขณะที่ยอดขายในซุปเปอร์มาร์เก็ตปรับตัวเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ยอดขายออนไลน์โดยรวมของ Sainsbury’s คิดเป็นร้อยละ 18 ของยอดขายทั้งหมด (เทียบกับร้อยละ 8 ในช่วงปี 2562- 2563) ในขณะเดียวกัน จากข้อมูลของ Ocado ซึ่งเป็นซุปเปอร์มาร์เก็ตออนไลน์โดยเฉพาะ ยอดขายโดยรวมในช่วง 5 เดือนที่ผ่านมา (ถึงวันที่ 30 พฤษภาคม 2564) ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 19.8 มาอยู่ที่มูลค่า 1.2 พันล้านปอนด์ แต่ปัจจัยจากการที่ประชาชนรับประทานอาหารที่ร้านอาหารและผับมากขึ้นทําให้ยอดการ ซื้อสินค้าในแต่ละครั้งมีปริมาณลดลงโดยปรับตัวลดลงไปใกล้เคียงกับช่วงก่อนวิกฤต COVID-19 ตั้งแต่ช่วงเดือน มิถุนายน 2564 เป็นต้นมา ซึ่งต่ํากว่าอัตราเฉลี่ยของช่วงครึ่งปีแรกของปีนี้ถึงร้อยละ 10
.
ธุรกิจห้างสรรพสินค้า
บริษัท John Lewis ประกาศปรับโครงสร้างการดําเนินธุรกิจโดยมีแผนเลิกจ้างพนักงานของห้างสรรพสินค้า John Lewis และซุปเปอร์มาร์เก็ต Waitrose รวม 1,000 ตําแหน่ง เพื่อลดต้นทุนและรองรับกลยุทธ์ทางการตลาดใหม่ที่เน้นการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์มากขึ้น โดยทุกโครงการของ บริษัทจะมีบริการ Concierge service และมีซุปเปอร์มาร์เก็ต Waitrose ตั้งอยู่ใกล้บริเวณทางเข้าของอาคารหรือบ้านพัก โดยผู้เช่าสามารถเลือกเช่าบ้านพักที่ตกแต่งพร้อมเข้าอยู่ด้วยเฟอร์นิเจอร์ของ John Lewis ได้ด้วย ทั้งนี้ บริษัทมองว่าการใช้ พื้นที่เพื่อธุรกิจอสังหาริมทรัพย์จะมีผลกําไรมากกว่าเพื่อการค้าปลีกในสหราชอาณาจักรยุคหลังวิกฤต COVID-19 โดยคาดว่าในอนาคต ยอดขายมากกว่าร้อยละ 50 จะมาจากช่องทางออนไลน์ จึงให้ความสําคัญกับพื้นที่เพื่อการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์มากขึ้น โดย John Lewis ถือเป็นธุรกิจห้างสรรพสินค้ารายแรกในสหราชอาณาจักรที่ปรับเปลี่ยนแนวทางมาดําเนินธุรกิจในลักษณะนี้
.
ธุรกิจการบิน
เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2564 รัฐบาลสหราชอาณาจักร ประกาศนโยบายให้ผู้มีถิ่นพํานักในสหราชอาณาจักร ที่ได้รับการฉีดวัคซีนต้านโควิดโดย NHS ครบสองโดสที่เดินทางกลับเข้ามาในสหราชอาณาจักรจากประเทศที่มีรายชื่อในกลุ่มเสี่ยงปานกลาง (Amber List) ไม่ต้องกักตัวเป็นเวลา 90 วัน โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 19 กรกฎาคม 2564 เป็นต้นไป (แต่ยังต้องแสดงผลตรวจหาเชื้อโควิด เป็นลูบก่อนการเดินทางและหลังกลับเข้ามา) เพื่อสนับสนุนการฟื้นฟูภาคการเดินทางและการท่องเที่ยว จึงส่งผลให้ยอดการซื้อบัตรโดยสารของสายการบินต่าง ๆ ในสหราชอาณาจักรเพิ่มสูงขึ้น โดยสายการบิน EasyJet ให้ข้อมูลว่า ยอดการซื้อบัตรโดยสาร จากสหราชอาณาจักรไปยังประเทศกลุ่ม Amber List โดยเฉพาะเกาะและเมืองชายทะเลของฝรั่งเศส สเปน โปรตุเกสและกรีซ ปรับตัวเพิ่มขึ้น ถึงร้อยละ 400ในขณะที่ สายการบิน British Airways รายงานว่า จํานวนผู้ที่ค้นหาเที่ยวบินบนเว็บไซต์ของบริษัทเพิ่มขึ้น ร้อยละ 96 เมื่อเทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา นอกจากนี้ นาย Grant Shapps รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า ขณะนี้รัฐบาลสหราชอาณาจักรกําลังพิจารณาขยายมาตรการยกเว้นกักตัวดังกล่าวไปยังผู้เดินทางจากประเทศต้นทางอื่นที่ได้รับวัคซีนที่ผ่าน การรับรองจาก WHO ครบสองโดสแล้วในระยะต่อไป แต่อุปสรรคสําคัญคือประเทศต่าง ๆ ใช้ระบบการตรวจสอบข้อมูลการ ฉีดวัคซีนที่แตกต่างกันโดยจะประกาศความคืบหน้าเพิ่มเติมในภายในสิ้นเดือนกรกฎาคมนี้
.
สามารถเห็นได้ว่า เศรษฐกิจโดยรวมของสหราชอาณาจักรปรับตัวไปในทิศทางที่ดีขึ้น โดยเฉพาะอุตสาหกรรมรถยนต์และอุตสาหกรรมค้าปลีก ผู้ประกอบการไทยจึงสามารถใช้โอกาสนี้ในการส่งออกชิ้นส่วนยานยนต์และสินค้าอุปโภคบริโภคสำหรับจำหน่ายในซุปเปอร์มาร์เก็ตไปยังสหราชอาณาจักรได้ ถึงอย่างไรก็ตาม สหราชอาณาจักรยังมีปัจจัยความไม่แน่นอนจากตัวเลขผู้ติดเชื้อไวรัสที่กำลังเพิ่มสูงขึ้น ดังนั้นผู้ประกอบการไทยควรติดตามพัฒนาการในด้านเศรษฐกิจควบคู่ไปกับสถานการณ์การแพร่ระบาดในสหราชอาณาจักรอย่างต่อเนื่อง เพื่อนำมาปรับกลยุทธ์ทางธุรกิจให้เหมาะสมกับสถานการณ์
.
สอท. ณ กรุงลอนดอน