ธนาคารกลางของอังกฤษ (Bank of England –BoE) ประกาศเตือนว่าสหราชอาณาจักรกําลังเข้าสู่สภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่รุนแรงที่สุดในช่วงประวัติศาสตร์ที่ไม่ใช่สภาวะสงคราม โดยปัจจัยจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 จะส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจสหราชอาณาจักรหดตัวลงโดยเฉลี่ยในอัตราร้อยละ 14 โดยคาดว่า มูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมแห่งชาติ (GDP)ของสหราชอาณาจักรในไตรมาสที่ 2 ของปี 2563 จะลดลงมากที่สุดถึงร้อยละ 25 และอัตราการว่างงานจะเพิ่มขึ้นสูงสุดในอัตราร้อยละ 9 ทั้งนี้ นาย Andrew Bailey ผู้ว่าการ BoE ให้ข้อมูลว่า ในกรณีที่ไม่มีการแพร่ระบาดของ COVID-19 ระลอกที่สอง (หลังรัฐบาลสหราชอาณาจักรผ่อนคลายมาตรการ lockdownแล้ว)เศรษฐกิจสหราชอาณาจักรจะสามารถฟื้นตัวกลับมาเทียบเท่ากับช่วงก่อนการแพร่ระบาดของ COVID-19 ได้อย่างเร็วที่สุดในช่วงครึ่งหลังของปี 2564 โดยเศรษฐกิจอาจขยายตัวในอัตราร้อยละ 15 นอกจากนี้ BoE ประเมินว่า อัตราเงินเฟ้อโดยเฉลี่ยของปี 2563 จะปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 0.6 (จากร้อยละ 1.8 ในปี 2562) และร้อยละ 0.5 ในปี 2564 ซึ่งขณะนี้ BoE จําเป็นต้องคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ร้อยละ 0.1 ต่อไป
[su_spacer]
รายงานสถิติเศรษฐกิจสหราชอาณาจักรไตรมาสที่ 1 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ(Office for National Statistics – ONS) ระบุว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจสหราชอาณาจักรในเดือน มี.ค. 2563 หดตัวลงอย่างฉับพลันถึงร้อยละ 5.8 และทําให้ภาพรวมของเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 1 ของปี 2563 ปรับตัวลดลงร้อยละ 2 ซึ่งถือเป็นการปรับตัวลดลงต่อไตรมาสที่รุนแรงที่สุดนับตั้งแต่วิกฤตเศรษฐกิจปี 2551 โดยมีผลประกอบการของภาคบริการ (ซึ่งมีสัดส่วนถึง 4 ใน 5 ของ GDP ของสหราชอาณาจักร) ปรับตัวลดลงมากกว่าร้อยละ 6 ในเดือน มี.ค. ในขณะที่ภาคอุตสาหกรรมการผลิตปรับตัวลดลงร้อยละ 4.2 และภาคอุตสาหกรรมก่อสร้างลดลงร้อยละ 5.9 ทั้งนี้ มีเพียงบริษัทด้าน IT support บริษัทผลิตยารักษาโรค และผลิตภัณฑ์ทําความสะอาดเท่านั้นที่ขยายตัวในทิศทางบวกในช่วงเดือน มี.ค.
[su_spacer]
รายงานการวิเคราะห์ของสถาบันวิจัย National Institute of Economic and Social Research(NIESR) ประเมินว่าสหราชอาณาจักรอาจสูญเสียรายได้มากถึง 8 แสนล้านปอนด์ภายใน 10 ปีข้างหน้านี้จากผลกระทบของมาตรการ lockdown และอัตราการว่างงานที่กําลังเพิ่มสูงขึ้นเป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อภาคเอกชน ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาการ lockdown ทําให้ GDP ของสหราชอาณาจักรลดลงร้อยละ 30 และจะส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจสหราชอาณาจักรในปี 2563 หดตัวลงร้อยละ 7.5 อย่างไรก็ดี คาดว่า GDP ของสหราชอาณาจักรจะฟื้นตัวและปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.8 ได้ในปี 2564 (ในขณะที่เศรษฐกิจโลกจะหดตัวในอัตราร้อยละ 3 ในปี 2563 และจะขยายตัวในอัตราร้อยละ 7 ในปี 2564) นอกจากนี้ รายงานของ NIESR ระบุว่า ปัจจุบันรัฐบาลสหราชอาณาจักรได้กู้เงินไปแล้วจํานวน 7.5 หมื่นล้านปอนด์เพื่อช่วยเหลือเยียวยาภาคธุรกิจ ภาคครัวเรือน และภาคประชาสังคมที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19และคาดว่ารัฐบาลอาจต้องกู้เงินเพิ่มอีกกว่า 2 แสนล้านปอนด์ในปี 2564 เพื่อใช้ในมาตรการกระตุ้นภาคธุรกิจและจะทําให้อัตราหนี้สาธารณะต่อ GDP โดยเฉลี่ยสูงขึ้นอยู่ในระดับร้อยละ 95
[su_spacer]
โดยภาพรวมเศรษฐกิจสหราชอาณาจักรในขณะนี้นั้น ช่วงครึ่งแรกของเดือน พ.ค. 2563 ยังเป็นที่น่ากังวลโดยนักวิเคราะห์หลายสํานักต่างจัดทํารายงานผลการประเมินเศรษฐกิจไปในทิศทางเดียวกันว่าสหราชอาณาจักรจะเข้าสู่ช่วงเศรษฐกิจถดถอยรุนแรงจากมาตรการ lockdown ในช่วงไตรมาสที่ 2 เป็นต้นไป แม้ว่ารัฐบาลมีมาตรการช่วยเหลือภาคธุรกิจอย่างครอบคลุมแล้วก็ตาม แต่นโยบายดังกล่าวเป็นการช่วยเหลือในระยะสั้นและมีแนวโน้มว่าในระยะยาวผู้ประกอบการต้องแบ่งเบาภาระทางงบประมาณนี้เพิ่มขึ้นด้วย ในขณะนี้ที่ยังไม่ชัดเจนว่ากําลังซื้อและพฤติกรรมผู้บริโภคจะสามารถฟื้นคืนสภาพเดิมได้เมื่อใด จึงปรากฏว่ามีผู้ประกอบการส่วนหนึ่งตัดสินใจปิดกิจการถาวรหรือเลิกจ้างพนักงานบางส่วนเพื่อลดรายจ่ายและหลีกเลี่ยงปัญหาที่อาจเกิดในระยะยาวแล้ว โดยขณะนี้เป็นที่ชัดเจนว่า ภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดในสหราชอาณาจักรได้แก่ ธุรกิจการบิน การท่องเที่ยว Hospitality (โรงแรม ที่พักร้านอาหาร และผับ) และการบริการเสริมความงามเนื่องจากจะเป็นภาคส่วนที่เริ่มฟื้นคืนได้ในระยะสุดท้ายของแผนการผ่อนคลายมาตรการ lockdownของรัฐบาลสหราชอาณาจักรซึ่งปัจจัยความกังวลต่อสภาวะเศรษฐกิจดังกล่าวส่งผลให้ตลาดค่าเงินปอนด์ปรับตัวลดลง(ลดลงประมาณร้อยละ 1.7) โดยอัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ระดับ 1 ปอนด์ ต่อ 1.13 ยูโร และที่ 1 ปอนด์ต่อ 1.22 ดอลลาร์สหรัฐ (ณ วันที่ 15 พ.ค. 2563)
[su_spacer]
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงลอนดอน