สภาวะเงินเฟ้อและค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องได้ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของภาคครัวเรือนทั่วไปในสหราชอาณาจักรอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และล่าสุดสำนักงานสถิติแห่งชาติของสหราชอาณาจักร (Office for National Statistics – ONS) รายงานว่า อัตราค่าครองชีพในรอบ 12 เดือน (พฤษภาคม 2564 – พฤษภาคม 2565) ปรับขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 9.1 จากร้อยละ 9 ในเดือนเมษายน ถือเป็นสถิติที่สูงที่สุดในรอบ 40 ปี โดยธนาคารกลางของอังกฤษ (Bank of England – BoE) คาดการณ์ว่า อัตราค่าครองชีพมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับร้อยละ 11 ได้ภายในปีนี้ ในขณะที่ข้อมูลการทำสำรวจความคิดเห็นของประชาชนจำนวน 4,011 คน ของสำนักข่าว BBC พบว่าร้อยละ 56 ของผู้ทำการสำรวจจับจ่ายสินค้าและอาหารลดลงร้อยละ 84 ลดการซื้อเสื้อผ้าร้อยละ 72 ทั้งนี้ ร้อยละ 82 เห็นว่าบริษัทนายจ้างควรปรับขึ้นค่าจ้างเพื่อให้สอดคล้องกับค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น
ในด้านผู้ประกอบการ ข้อมูลของบริษัท Kantar เปิดเผยว่า ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคพื้นฐานในรอบ 1 เดือนที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 8.3 ซึ่งสูงสุดในรอบ 13 ปี ส่งผลให้ยอดขายของซูเปอร์มาร์เก็ตในสหราชอาณาจักรโดยรวมลดลงร้อยละ 1.9 ระหว่าง 21 พฤษภาคม – 12 มิถุนายน 2565 แม้ว่าจะมีปัจจัยช่วยจากการใช้จ่ายของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้นมากกว่าค่าเฉลี่ยในช่วงก่อนเทศกาลวันหยุดยาว Jubilee Weekend ถึง 87 ล้านปอนด์แล้วก็ตาม ซึ่งสะท้อนว่าอัตราเงินเฟ้อและวิกฤตค่าครองชีพยังเป็นอุปสรรคต่อการเติบโตของภาคการบริโภค
นอกจากนี้ ยังพบว่าปัญหาค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้นทำให้ผู้บริโภคนิยมเลือกซื้อสินค้าจากราคาแทนการเลือกจากยี่ห้อ โดยผลสำรวจพบว่า ยอดขายของสินค้ายี่ห้อที่ได้รับความนิยมปรับตัวลดลงร้อยละ 1 ในขณะที่ยอดขายของสินค้าที่ผลิตโดยซูเปอร์มาร์เก็ตเอง (supermarkets’ own-label products) ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.9 และยอดขายสินค้ากลุ่มราคาประหยัด (value range) ที่ผลิตโดยซูเปอร์มาร์เก็ตปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 12 ทั้งนี้ ยอดขายของซูเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่ลดลงร้อยละ 0.7 ในขณะที่ยอดขายของซูเปอร์มาร์เก็ตแบบสะดวกซื้อเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.2 สะท้อนว่า ผู้บริโภคจับจ่ายสินค้าต่อครั้งในจำนวนที่ลดลงแต่บ่อยครั้งมากขึ้นเพื่อควบคุมค่าใช้จ่ายได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ สินค้าที่มียอดขายลดลงมากที่สุดได้แก่ เสื้อผ้าแฟชั่น อุปกรณ์ตกแต่งบ้าน และอุปกรณ์ของเล่น เป็นต้น
จากสภาวะเศรษฐกิจของสหราชอาณาจักรข้างต้น สำหรับภาคเอกชนและผู้ประกอบการไทยที่ส่งออกสินค้าจำเป็นหรือที่สามารถบริโภคในชีวิตประจำวัน เช่น ข้าว ไก่แปรรูป และอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูปจะยังคงได้ประโยชน์ แต่ในส่วนของผู้ส่งออกสินค้าฟุ่มเฟือย อาทิ อัญมณีและเครื่องประดับ จะถูกลดขีดความสามารถในการแข่งขัน เนื่องจากอุปสงค์ต่อสินค้าฟุ่มเฟือยลดลง ทั้งนี้ ภาคเอกชนหรือผู้ประกอบการไทยที่เข้าไปลงทุนหรือดำเนินธุรกิจในสหราชอาณาจักรนั้นจะต้องเตรียมรับมือกับสภาวะเงินเฟ้อและค่าครองชีพที่พุ่งสูงขึ้น รวมถึงการปรับขึ้นค่าจ้างในอนาคต เนื่องจากคนวัยทำงานในสหราชอาณาจักรหลากหลายอาชีพได้เริ่มออกมาประท้วงเรียกร้องให้ปรับขึ้นค่าจ้างให้สอดคล้องกับค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อต้นทุนการประกอบธุรกิจของไทยในสหราชอาณาจักรเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน
อ้างอิง: