การส่งออกของสหราชอาณาจักรในยุคหลัง Brexit
ข้อมูลจากการสำรวจของ Make UK ซึ่งเป็นสมาคมภาคอุตสาหกรรมการผลิตของสหราชอาณาจักร พบว่า EU ยังคงเป็นตลาดหลักอันดับ 1 สำหรับภาคการผลิตเพื่อการส่งออกของสหราชอาณาจักร ในยุคหลัง Brexit แม้กระทั่งในพื้นที่ที่สนับสนุน Brexit เช่น แคว้นเวลส์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคกลางของสหราชอาณาจักรล้วนมีการส่งออกไปยัง EU มากขึ้นในช่วงปี 2563 – 2564 โดยแคว้นไอร์แลนด์เหนือ ซึ่งคะแนนเสียงส่วนใหญ่คัดค้าน Brexit มีการส่งออกสินค้าไป EU มากที่สุด (ร้อยละ 63) รองลงมาเป็นแคว้นเวลส์ซึ่งส่งออกไปยัง EU ร้อยละ 60 ส่วนพื้นที่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือส่งออกสินค้าไป EU เพิ่มจากร้อยละ 56 ในปี 2563 เป็นร้อยละ 58 ในปี 2564 และภาคกลางเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 48 ในปี 2563 เป็นร้อยละ 51 ในปี 2564 ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการพึ่งพาตลาด EU อย่างต่อเนื่อง ถึงแม้ว่าสหราชอาณาจักร จะออกจาก EU แล้วก็ตาม
Make UK ประเมินแนวโน้มดังกล่าวว่าเป็นผลมาจากระยะทางที่ใกล้กันระหว่างสหราชอาณาจักร กับ EU และเชื่อว่า EU จะยังคงเป็นตลาดส่งออกหลักของสหราชอาณาจักรต่อไป ทั้งนี้ Make UK ได้เรียกร้องให้รัฐบาลสหราชอาณาจักรตระหนักถึงข้อเท็จจริงในความสำคัญของตลาด EU และพยายามคลี่คลายปัญหาการค้ากับ EU โดยเร็ว เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการและกระตุ้นเศรษฐกิจสหราชอาณาจักร ในภาพรวม
ผลกระทบจากสภาวะเงินเฟ้อและปัญหาค่าครองชีพสหราชอาณาจักร
สภาวะเงินเฟ้อและปัญหาค่าครองชีพในสหราชอาณาจักรเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องมาอยู่ที่ร้อยละ 9.4 ในเดือนมิถุนายน 2565 ซึ่งสูงที่สุดในประเทศกลุ่ม G7 โดยเยอรมนีอยู่ที่ร้อยละ 8.2 และฝรั่งเศสที่ร้อยละ 6.5 ส่งผลให้ภาคครัวเรือนลดการใช้จ่ายลงตามลำดับ โดยข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติของสหราชอาณาจักร (Office for National Statistics – ONS) พบว่ายอดขายเสื้อผ้าในเดือนมิถุนายน 2565 ปรับตัวลดลงร้อยละ 4.7 ยอดขายน้ำมันเชื้อเพลิงลดลงร้อยละ 4.3 ในขณะที่บริษัท Kantar คาดการณ์ว่าปัญหาค่าครองชีพดังกล่าว จะทำให้ภาคครัวเรือนรับภาระค่าอาหารเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 454 ปอนด์ต่อปี โดยการปรับขึ้นค่าธรรมเนียมไฟฟ้าและก๊าซหุงต้มในเดือนตุลาคมนี้ จะยิ่งส่งผลซ้ำเติมให้อัตราค่าครองชีพปรับขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 11 ภายในปีนี้ ทั้งนี้ แนวโน้มดังกล่าวทำให้เกิดกระแสข่าวว่า ธนาคารกลางสหราชอาณาจักร (Bank of England – BoE) กำลังพิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกร้อยละ 0.5 จากปัจจุบันที่ร้อยละ 1.25 เป็นร้อยละ 1.75 ในวาระการประชุมครั้งต่อไปในเดือนสิงหาคมนี้ เพื่อชะลอการปรับขึ้นของอัตราเงินเฟ้อ และรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ
ทิศทางเศรษฐกิจของสหราชอาณาจักร
นอกจากนี้ IMF ได้ปรับรายงานประจำเดือนกกฎาคม 2565 เรื่องการประเมินการเติบโตทางเศรษฐกิจของสหราชอาณาจักรสำหรับปี 2566 ลดลงมาอยู่ที่ระดับร้อยละ 0.5 (จากเดิมประเมินไว้ที่ร้อยละ 1.4 เมื่อเดือนเมษายน) และคาดว่าจะต่ำที่สุดในกลุ่มประเทศ G7 ซึ่งโดยรวม กลุ่ม G7 มีแนวโน้มจะประสบปัญหาภาวะเศรษฐกิจถดถอยเพิ่มขึ้น 4 เท่าตัวจากปัญหาเงินเฟ้อ จึงได้ประเมินว่า ประเทศต่าง ๆ ควรหันมาแก้ไขสถานการณ์ด้วยนโยบายทางการเงินที่รัดกุมมากขึ้น เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบรุนแรงในระยะยาว ทั้งนี้ IMF ไม่เห็นด้วยกับนโยบายการรณรงค์หาเสียงของผู้สมัครตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักรคนใหม่ที่มุ่งเน้นการปรับลดอัตราภาษีเงินได้ และภาษีธุรกิจ (corporate tax) ซึ่งอาจส่งสัญญาณให้เกิดการใช้จ่ายมากขึ้นเกินความจำเป็น และอาจทำให้ภาวะเงินเฟ้อแย่ลงกว่าเดิม
ทั้งนี้ นักวิเคราะห์มองว่าเศรษฐกิจสหราชอาณาจักรเติบโตช้ากว่าประเทศคู่แข่งหลายราย นับตั้งแต่วิกฤตทางการเงินในปี 2550 เป็นต้นมา โดยมีปัจจัยจากการขาดการลงทุน โดยเฉพาะในด้านทักษะวิชาชีพ และโครงสร้างพื้นฐานด้านสาธารณูปโภค ทำให้ค่าแรงและผลผลิตทางเศรษฐกิจอยู่ในระดับต่ำ อีกทั้งปัจจัย Brexit และวิกฤตโควิด-19 ยังซ้ำเติมให้การลงทุนของภาคธุรกิจในประเทศชะลอตัวลง นับตั้งแต่ช่วงปี 2559 โดย IMF ได้เสนอแนะให้รัฐบาลเพิ่มการลงทุนแทนการลดภาษีเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ในปัจจุบันอย่างยั่งยืน
นโยบายรับมือสภาวะเงินเฟ้อและปัญหาค่าครองชีพ
เพื่อบรรเทาผลกระทบจากสภาวะเงินเฟ้อและปัญหาค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ รัฐบาลสหราชอาณาจักรประกาศมาตรการลดค่าครองชีพเพิ่มเติมในโครงการ “Help for Households” มูลค่า 3.7 หมื่นล้านปอนด์ โดยเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2565 รัฐบาลสหราชอาณาจักร ได้ทำข้อตกลงกับซุปเปอร์มาร์เก็ต และบริษัทชั้นนำ เพื่อมอบส่วนลดในการซื้อสินค้าและบริการแก่ภาคครัวเรือนของสหราชอาณาจักรในช่วงปิดเทอมภาคฤดูร้อนไปจนถึงปลายปีนี้ เช่น โครงการ “Kids eat for £1” ของซุปเปอร์มาร์เก็ต Asda โครงการ “Feed your family for a fiver” ของซุปเปอร์มาร์เก็ต Sainsbury’s โปรโมชันให้เด็กเข้าชมการแสดงละครเวที (West End Show) โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายพร้อมกับผู้ใหญ่ที่จ่ายราคาเต็มตลอดเดือนสิงหาคมนี้ โครงการค่าบริการโทรศัพท์มือถือราคาพิเศษ 10 ปอนด์ต่อเดือน สำหรับผู้ที่มีรายได้ต่ำหรือว่างงานของบริษัท Vodafone เป็นต้น โดยก่อนหน้านี้รัฐบาลสหราชอาณาจักรได้ประกาศมาตรการให้เงินช่วยเหลือภาคครัวเรือนภายใต้โครงการดังกล่าวแล้ว เช่น การลดอัตราภาษีสวัสดิการสังคมสำหรับกลุ่มผู้มีรายได้ต่ำและปานกลาง และการให้เงินส่วนลดค่าธรรมเนียมพลังงานจำนวน 400 ปอนด์ต่อครัวเรือน ทั้งนี้ รัฐบาลสหราชอาณาจักรใช้โอกาสนี้เปิดเว็บไซต์ https://costoflivingsupport.campaign.gov.uk/ เพื่อเป็นศูนย์กลางด้านข้อมูล และการตรวจสอบสิทธิการได้รับความช่วยเหลือต่าง ๆ ของรัฐเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนด้วย
ภาวะเงินเฟ้อในสหราชอาณาจักรที่สูงมาก และมีแนวโน้มยืดเยื้อนั้น ส่งผลกระทบอย่างมากต่อผู้บริโภคที่ต้องเริ่มปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการซื้อสินค้าโดยมีแนวโน้มหันมาซื้อสินค้าที่ราคาถูกกว่า แต่มีคุณภาพใกล้เคียงกันมากขึ้นเพื่อประหยัดรายจ่าย โดยเฉพาะสินค้าโภคภัณฑ์ทั่วไปที่เป็นของห้างเอง (own-label products) โดยเป็นการจ้างผลิตจากผู้ผลิตโดยตรง ซึ่งมีต้นทุนการผลิตและการตลาดถูกกว่า จึงน่าจะเป็นโอกาสของผู้ผลิตสินค้าไทยที่จะสามารถรองรับอุปสงค์ในส่วนดังกล่าวได้หากมีการย้ายแหล่งผลิตหรือหาแหล่งผลิตใหม่ของผู้ประกอบการสหราชอาณาจักร รวมถึงโอกาสจากความเป็นไปได้ที่รัฐบาลสหราชอาณาจักรอาจพิจารณาลดภาษีนำเข้าสินค้าจำเป็นชั่วคราวเพื่อบรรเทาค่าครองชีพต่อไปด้วย ผู้ประกอบการไทยที่สนใจควรติดตามสถานการณ์เหล่านี้อย่างใกล้ชิด และศึกษาช่องทางการขนส่งมายังสหราชอาณาจักรล่วงหน้า เพื่อเตรียมความพร้อมและพิจารณาช่องทางหรือโอกาสทางธุรกิจสำหรับสินค้าของตน