หลังจากที่สหราชอาณาจักรใช้อัตราภาษีนำเข้าแบบใหม่ภายใต้นโยบาย UK Global Tariff – UKGT สำหรับประเทศคู่ค้าที่สหราชอาณาจักรยังไม่มีความตกลงการค้าด้วยตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาหลังออกจาก EU ซึ่งคาดว่าเกิดผลกระทบต่อภาคการส่งออกของไทย พบว่า นโยบายของ UKGT มีส่วนช่วยยกเว้นภาษีนำเข้าสินค้ามากถึง ร้อยละ 60 ของรายการสินค้าที่สหราชอาณาจักรนำเข้าทั้งหมด และสำหรับสินค้าที่ยังมีภาษีนำเข้ามีอัตราภาษีต่ำลงเมื่อเทียบกับอัตราที่ EU เรียกเก็บเนื่องจากใช้สกุลเงินปอนด์ในการคำนวณและการปัดเศษทศนิยมลง ซึ่งข้อดีดังกล่าวส่งผลให้สินค้าส่งออกของไทยที่นำเข้ามายังสหราชอาณาจักรจำนวน ๒๔ รายการ จากสินค้านำเข้าจากไทย 50 ลำดับแรก เช่น เครื่องปรับอากาศ ยางรถยนต์ ชิ้นส่วนยานยนต์ ชื้นส่วนเครื่องจักร และเครื่องประดับทำจากเงิน เป็นต้น ได้รับประโยชน์จากการมีต้นทุนการนำเข้ามายัง สอ. ที่ถูกลง รวมถึงสินค้าประเภทอาหารและเครื่องปรุงดังนั้น การปรับ อัตราภาษีดังกล่าวจึงเอื้อต่อธุรกิจอาหารไทยใน สอ. ด้วยถึงแม้ว่า สอ. จะยังคงอัตราภาษีนำเข้ารถยนต์และ รถจักรยานยนต์ไว้คงเดิมที่ร้อยละ ๑๐ และร้อยละ ๖ ตามลำดับเพื่อปกป้องอุตสาหกรรมภายในประเทศไว้แต่ก็ไม่น่า จะส่งผลกระทบต่อโครงสร้างสินค้าส่งออกของไทยมายังสหราชอาณาจักร
.
แนวทางการค้ากับสหราชอาณาจักรหลัง Brexit
.
เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2563 สหราชอาณาจักรและสหภาพยุโรปได้บรรลุผลการเจรจาความตกลงหลัง Brexit (UK – EU Trade and Cooperation Agreement) โดยในความตกลงมีผลให้ทั้งสองฝ่ายลดภาษีเป็น ศูนย์และไม่มีโควตาระหว่างกัน ทั้งนี้ สินค้าที่ได้รับสิทธิดังกล่าวจะต้องเป็นสินค้าที่เป็นไปตามกฎถิ่นกำเนิดสินค้าที่ได้ตกลงกันเท่านั้น และเปิดให้มีการสะสมถิ่นกำเนิดสินค้าระหว่างกันทั้งสองฝ่าย (Full Bilateral Cumulation) ซึ่งจะเป็นการเปิดโอกาสให้ทั้งสองฝ่ายยังคงเคลื่อนย้ายสินค้าระหว่างกันได้ดังเดิมหลังสิ้นสุด Transition Period โดยส่งผลกระทบต่อระบบ supply chain เดิมน้อยที่สุด และเกิดประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมของทั้งสองฝ่ายอย่างแท้จริง ทั้งนี้ ขั้นตอนการพิสูจน์ถิ่นกำเนิดสินค้าจะต้องมีค่าใช้จ่ายที่เหมาะสม และมีกระบวนการที่ไม่ซับซ้อนจนเป็นอุปสรรคทางการค้า
.
สหราชอาณาจักรได้ประกาศอัตราภาษีนำเข้า UK Global Tariff – UKGT มีการยกเว้นภาษีสินค้ามากถึง 60% ของสินค้าทั้งหมด มีการปรับปรุงอัตราภาษีให้มีความซับซ้อนน้อยลงเมื่อเทียบกับอัตราภาษีนำเข้าของสหภาพยุโรป และมีการเปลี่ยนอัตราภาษีเฉพาะให้มีหน่วยเป็นสกุลเงินปอนด์ซึ่งสหราชอาณาจักรมีการ ปรับเปลี่ยนอัตราภาษีมากถึง 6,000 รายการ โดยคำนึงการอำนวยความสะดวกต่อภาคธุรกิจในด้านต้นทุน และรักษาผลประโยชน์ของผู้ผลิตภายในประเทศให้สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ รวมถึงรักษาอุตสาหกรรมสำคัญในประเทศ เช่น สินค้าเกษตร รถยนต์ และสินค้าประมง ซึ่งเป็นกลุ่มสินค้าที่ไม่ได้มีการลดภาษีจากเดิม ทั้งนี้ สามารถตรวจสอบอัตราภาษีนำเข้าของสหราชอาณาจักรได้ที่ https://www.gov.uk/trade-tariff ทั้งนี้ สหราชอาณาจักรมีการปรับมาตรฐานสินค้าอุตสาหกรรม และการติดฉลากสินค้าจากเดิม ในขณะที่ สินค้าอาหารและเครื่องดื่ม ในระยะนี้สหราชอาณาจักรยังคงใช้แนวทางเดียวกับสหภาพยุโรป และยังคงใช้มาตรฐานแนวทางเดิมก่อนหน้า แต่มีแนวโน้มว่าสหราชอาณาจักรจะพิจารณาปรับมาตรการต่าง ๆ ให้เหมาะสม กับสถานการณ์ของผู้บริโภคและอุตสาหกรรมในประเทศในอนาคต
.
การส่งออกของไทยจะได้รับประโยชน์จากอัตราภาษี UKGT ต่อสินค้าที่สหราชอาณาจักรนำเข้าจากไทย 50 ลำดับแรก จำนวน 24 รายการซึ่งเป็นการลดภาษีโดยการปัดเศษทศนิยม (round down) และการจัดระเบียบโครงสร้างอัตราภาษีของสหราชอาณาจักร ส่งผลให้อัตราภาษีนำเข้าของสหราชอาณาจักรมีอัตราต่ำกว่าอัตราภาษีนำเข้าของสหภาพยุโรป ซึ่งครอบคลุมสินค้า อาทิ เครื่องปรับอากาศ ยางและล้อรถยนต์ ชิ้นส่วนยานยนต์ ชิ้นส่วนเครื่องจักร ชิ้นส่วนเครื่องปรับอากาศ และเครื่องประดับทำจากเงิน สำหรับสินค้าประเภทอาหารไทยจะได้รับประโยชน์จากการปรับลดอัตราภาษีเช่นเดียวกัน ซึ่งครอบคลุมถึง ซอสปรุงรส เส้นพาสตา อาหารปรุงแต่ง ปลากระป๋อง รวมถึงการได้รับโควตาภาษีที่มีการปรับ เป็นสกุลเงินปอนด์ ครอบคลุมสินค้าสัตว์ปีก และข้าว อย่างไรก็ตาม สหราชอาณาจักรยังคงอัตราภาษีรถยนต์ไว้คงเดิมทีร้อยละ 10 และรถจักรยานยนต์ที่ร้อยละ 6
.
การประกาศใช้อัตราภาษีนำเข้า UKGT ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2564 มีอัตราภาษีต่ำกว่าเดิมหลายรายการ แต่ยังคงภาษีในสินค้าหลายรายการเพื่อปกป้องอุตสาหกรรมภายในประเทศ เช่น รถยนต์ ในขณะที่อัตราภาษีส่วนประกอบรถยนต์ ล้อ และยางรถยนต์มีการลดภาษีเพียงเล็กน้อย อย่างไรก็ตาม ถึงแม้อัตราภาษีระหว่างสหราชอาณาจักรกับสหภาพยุโรปจะมีการลดลงเป็นศูนย์ทุกรายการ แต่การเคลื่อนย้ายสินค้าระหว่างสหราชอาณาจักรกับสหภาพยุโรปจะต้องผ่านกระบวนการทางศุลกากรทุกรายการ โดยผู้ส่งออกหรือผู้นำเข้าจะต้องจัดทำเอกสารรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าที่แสดงได้ว่าสินค้าดังกล่าวมีถิ่นกำเนิดสินค้าตามความตกลงการค้าหลัง Brexit เมื่อมีการเคลื่อนย้ายสินค้าระหว่างกัน
.
ไทยและสหราชอาณาจักรอาจพิจารณาใช้โอกาสที่มีการจัดทำ Joint Trade Review ร่วมกับสหราชอาณาจักรเป็นประตูสู่ความร่วมมือทางการค้าระหว่างกันต่อไป ทั้งนี้ การนำเข้าสินค้า 50 ลำดับแรกคิดเป็นร้อยละ 61 ของการนำเข้าจากไทย โดยในจำนวนนี้สหราชอาณาจักรได้ปรับอัตราภาษีนำเข้า UKGT ลดลงถึง 24 รายการ ซึ่งล้วนแต่เป็นสินค้าที่ส่งเสริมอุตสาหกรรมการผลิตของสหราชอาณาจักร และรองรับความต้องการของผู้บริโภคของสหราชอาณาจักรได้เป็นอย่างดี
.
ผู้ประกอบการอาจศึกษาและพิจารณาการส่งออกไปยังสหราชอาณาจักรภายใต้นโยบาย UK Global Tariff พร้อมกับแสวงหาอุตสาหกรรมที่สามารถทำกำไรในสหราชจักรได้อย่างยั่งยืนด้วย ทั้งนี้ จากการที่ สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงลอนดอนจะดำเนินกิจกรรมเพื่อส่งเสริมการส่งออกและสินค้าไทยอย่างต่อเนื่องในปี 2564 ผู้ประกอบการอาจพิจารณาเข้าร่วมโครงการดังกล่าวเพื่อขยายตลาดสู่สหราชอาณาจักร
.
ข้อมูลเพิ่มเติมจาก สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงลอนดอน
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงลอนดอน