สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงลอนดอน ได้วิเคราะห์แนวโน้มการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคใน สหราชอาณาจักรหลังออกจากการล็อกดาวน์ที่อาจมีผลกระทบต่อธุรกิจของไทย โดยอ้างอิงข้อมูลการสำรวจของนิตยสาร The Grocer ซึ่งมีประเด็นสำคัญ ดังนี้
.
รายได้ของผู้บริโภคเริ่มเพิ่มสูงขึ้น ประชาชนในสหราชอาณาจักรมีเงินออมในบัญชีมากขึ้น
.
ข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ (Office for National Statistic – ONS) ของสหราชอาณาจักร ประจำเดือนมีนาคม 2564 ระบุว่า รายได้โดยเฉลี่ยของประชนในสหราชอาณาจักร มีอัตราเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.1 และฐานอัตรารายได้โดยเฉลี่ย เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.4 ถือเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่าผู้บริโภคมีความสามารถในการใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ พบว่าประชาชนในสหราชอาณาจักรใช้จ่ายเงินน้อยลงในช่วงการล็อกดาวน์ทำให้อัตราเงินฝากของสหราชอาณาจักรในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมามีจำนวนมากถึง 1.25 แสนล้านปอนด์ (ประมาณ 5.5 ล้านล้านบาท) ทำให้มีกำลังซื้อและน่าจะมีความมั่นใจในการใช้จ่ายมากขึ้นหลังจากนี้ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของสหราชอาณาจักรหลังออกจากการล็อกดาวน์
.
รายได้ที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้ผู้บริโภคยอมรับราคาสินค้าอาหารที่เพิ่มสูงขึ้น
.
จากการสำรวจพบว่า ผู้บริโภคบางรายตระหนักว่าราคาสินค้าอาหารบางรายการปรับตัวสูงขึ้น ทั้งนี้ 3 ใน 4 ของผู้บริโภคคาดการณ์ว่าราคาสินค้า มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นอีกภายใน 12 เดือนนี้ ซึ่งสะท้อนว่าผู้บริโภคจะยังคงเลือกซื้อสินค้าเช่นเดิมแม้ว่าต้องจ่ายเงินเพิ่มขึ้นก็ตาม
.
สินค้าบางประเภทมียอดขายเพิ่มสูงขึ้น
.
การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้ส่งผลให้ยอดขายสินค้าแฟชั่น ของใช้ และเทคโนโลยีสำหรับสัตว์เลี้ยงในสหราชอาณาจักรเพิ่มขึ้น ยกตัวอย่างเช่น บริษัท Pets at Home ซึ่งเป็นร้านจำหน่ายสินค้าสำหรับสัตว์เลี้ยงรายใหญ่ มียอดจำหน่ายสินค้าในช่วงระหว่างเดือนมีนาคม 2563 – มีนาคม 2564 เป็นมูลค่าถึง 1.1 พันล้านปอนด์ (ประมาณ 4.8 หมื่นล้านบาท) ซึ่งเป็นครั้งแรกที่บริษัทฯ มียอดขายเกิน 1 พันล้านปอนด์นับตั้งแต่การก่อตั้งบริษัทเมื่อปี 2534 ในขณะที่สมาคมอาหารสัตว์ในสหราชอาณาจักร (Pet Food Manufacturers’ Association – PFMA) ได้ให้ข้อมูลว่าในช่วง 12 เดือนตั้งแต่การล็อกดาวน์ครั้งแรก (มีนาคม 2563 – มีนาคม 2564) ประชาชนต้องอยู่บ้านมากขึ้น ทำให้มีการนำสัตว์เลี้ยง เช่น สุนัข และแมว มาเลี้ยงเพิ่มขึ้น ส่งผลให้จำนวนสัตว์เลี้ยงในสหราชอาณาจักรเพิ่มขึ้นร้อยละ 8 ในช่วงดังกล่าว หรือคิดเป็นจำนวน 3.2 ล้านครัวเรือนในสหราชอาณาจักร ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของ ผู้บริโภคดังกล่าว ได้ส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงต่อตลาดสินค้าสัตว์เลี้ยงในสหราชอาณาจักร โดยเฉพาะสินค้าอาหารสัตว์ที่มีคุณภาพสูง สินค้า luxury สำหรับสัตว์เลี้ยง
.
ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงของตลาดในข้างต้นถือเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยในการทบทวนกลยุทธ์เพื่อทำการตลาดในสหราชอาณาจักรและกลุ่มประเทศยุโรป โดยเฉพาะผู้ประกอบการไทยด้านสินค้าที่เกี่ยวข้องกับสัตว์เลี้ยง เช่น สินค้าอาหารสัตวของไทยที่มีคุณภาพตามมาตรฐานของสหราชอาณาจักรและ EU ซึ่งผู้ประกอบการไทยที่สนใจควรศึกษาข้อกำหนดที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้สินค้าของไทยเป็นที่ต้องการของสหราชอาณาจักรและตลาดยุโรปมากยิ่งขึ้น
.
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงลอนดอน
.
แหล่งอ้างอิง
https://www.thegrocer.co.uk/the-grocer-blog-daily-bread/how-food-and-drink-spending-will-change-in-the-covid-recovery-phase/656376.article
http://www.thaitradelondon.com/category/category/news-reports/