เดือนมีนาคม 2564 ยอดขายสินค้าโดยรวมในสหราชอาณาจักรเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.4 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า โดยยอดขายอาหารเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.5 ซึ่งมีปัจจัยจากเทศกาล Easter โดยบริษัท Gousto ที่ให้บริการขายและจัดส่งชุดอาหารพร้อมปรุง (meal kit) ในสหราชอาณาจักรรายงานว่า ยอดขายของบริษัทฯ ในปี 2563 ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากถึงร้อยละ 129 คิดเป็นกำไรมูลค่า 18.2 ล้านปอนด์ ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่บริษัทฯ ได้รับกำไร เทียบกับปี 2562 ที่ขาดทุนมูลค่า 9.1 ล้านปอนด์ ปัจจุบัน บริษัทฯ ได้ประกาศแผนจ้างพนักงงานเพิ่มจำนวน 1,000 ตำแหน่ง โดยมีปัจจัยหนุนจากวิกฤตโควิดและมาตรการล็อกดาวน์ทำให้ผู้บริโภคนิยมสั่งซื้อชุดอาหารพร้อมปรุงมากขึ้น ทั้งนี้ บริษัทฯ เชื่อว่าแนวโน้มของธุรกิจชุดอาหารพร้อมปรุงจะขยายตัวต่อไปหลังการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ เนื่องจากสินค้าดังกล่าวมีราคาถูกว่าการรับประทานอาหารที่ร้านอาหารและสะดวกกว่าการเดินทางไปจับจ่ายอาหารที่ซุปเปอร์มาร์เก็ต นอกจากนี้ บริษัทฯ มีแผนปรับปรุงบรรจุภัณฑ์ทั้งหมดของบริษัทให้สามารถนำกลับมาใช้ใหม่หรือย่อยสลายได้ภายในสิ้นปี 2565 เพื่อให้สอดคล้องกับรสนิยมของผู้บริโภคในสหราชอาณาจักรที่กำลังปรับตัวไปทาง health convenience and sustainability มากขึ้น
.
จากตัวอย่างของบริษัท Gousto สะท้อนให้เห็นแนวโน้มการทำธุรกิจอาหารในสหราชอาณาจักรและการปรับธุรกิจเพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์และความสนใจของผู้บริโภคและจะเป็นประโยชน์สำหรับผู้ประกอบธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอาหารของไทย ทั้งนี้ บริษัท Navitas ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาด้านความปลอดภัยอาหาร (Food Safety) ในสหราชอาณาจักรจึงได้จัดทำสรุป “คำแนะนำสำหรับผู้ประกอบการร้านอาหารและผู้ผลิตอาหารในยุคหลังวิกฤต New Normal” ซึ่งได้วิเคราะห์แนวโน้มสำคัญของตลาดสหราชอาณาจักร 3 ประเด็น ได้แก่
.
(1) ด้านบรรจุภัณฑ์อาหาร : สหราชอาณาจักรได้แก้ไขกฎระเบียบเกี่ยวกับการติดฉลากอาหารเพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภคซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในเดือนตุลาคม 2564 โดยผู้ประกอบการที่ผลิตและขายอาหารที่บรรจุอยู่ในบรรจุภัณฑ์พร้อมขาย (prepacked for direct sale -PPDS) เช่น แซนวิช และสลัดต้องติดฉลากอาหาร โดยระบุชื่ออาหาร ส่วนผสม พร้อมกับสาร/ส่วนผสมที่อาจก่อให้เกิดการแพ้ให้ชัดเจน นอกจากนี้ กระทรวงสาธารณสุขของสหราชอาณาจักรยังประกาศเป้าหมายที่จะเพิ่มกฎระเบียบเกี่ยวกับข้อมูลในฉลากอาหารโดยให้มีการระบุปริมาณแคลอรี่และเกลือในผลิตภัณฑ์อาหารแบบซื้อกลับบ้านในอนาคตอีกด้วย
.
(2) การให้ข้อมูลผู้บริโภคผ่านช่องทางออนไลน์/แอพลิเคชั่น: ร้านอาหารที่ให้บริการสั่งอาหารผ่าน ช่องทางออนไลน์จำเป็นต้องระบุข้อมูลเกี่ยวกับสารที่ก่อให้เกิดการแพ้ให้ชัดเจน และอาจให้ผู้บริโภคสามารถเลือก/ไม่เลือก ส่วนผสมบางรายการได้เพื่อเอื้อให้ผู้บริโภคสามารถตัดสินใจในการเลือกรับประทานอาหารได้อย่างมั่นใจ
.
(3) การใช้เทคโนโลยีและดิจิทัลในการบริหารจัดการและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม: ปัจจุบันร้านอาหาร หลายแห่งได้นำเทคโนโลยีและระบบดิจิทัลเข้ามาใช้ในการบริหารจัดการร้าน เช่น การวางระบบจัดการครัวแบบดิจิทัล การใช้ระบบตรวจสอบความปลอดภัยของอาหารเพื่อลดขยะ การทำรายการอาหารออนไลน์ การใช้ระบบ Cloud ในการจัดเก็บข้อมูลแทนการพิมพ์เอกสาร และการใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในการจัดส่งอาหาร
.
จากข้อมูลข้างต้นถือเป็นพัฒนาการของตลาดที่ผู้ประกอบการที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับอาหารควรศึกษามาตรการของทางรัฐและติดตามแนวโน้มความสนใจด้านสิ่งแวดล้อมของผู้บริโภคในสหราชอาณาจักร เพื่อประกอบการวางแผนการทำธุรกิจและปรับตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจร้านอาหารและสินค้าอาหาร ทั้งนี้ สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงลอนดอน ได้จัดเวิร์คชอปออนไลน์ หัวข้อ “ข้อควรรู้ก่อนเปิดร้านอาหารไทยในสหราชอาณาจักรหลังวิกฤต COVID-19” ภายใต้โครงการอบรม entrepreneurial skills เมื่อวันที่ 26 เมษายน วันที่ 3 พฤษภาคม และวันที่ 10 พฤษภาคม 2564 ที่ผ่านมา โดยผู้เข้าร่วมได้รับทราบและเพิ่มพูนทักษะรอบด้าน นอกจากนี้ ผู้อ่านสามารถติดตามกิจกรรมส่งเสริมผู้ประกอบการไทยของสถานเอกอัครราชทูตฯ ได้ที่ https://london.thaiembassy.org/th/content-category/5d6636c215e39c3bd0006cb6 และ Globthailand
.
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงลอนดอน