สภาวะเศรษฐกิจระดับมหภาคของอังกฤษมีความผันผวนลดลงและทรงตัวดีขึ้นภายหลังการประกาศลาออกจากตำแหน่งของนาง Truss เมื่อวันที่ 20 ตุลาคมที่ผ่านมา พร้อมกับการเข้ารับตำแหน่ง นายกรัฐมนตรีอังกฤษคนใหม่ นาย Rishi Sunak ทำให้ตลาดมีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจอังกฤษมากขึ้น จึงทำให้อัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงินปอนด์เทียบกับสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ 1.16 ปอนด์/ดอลลาร์สหรัฐ (ณ วันที่ 26 ตุลาคม 2565) ซึ่งถือเป็นระดับสูงที่สุดนับตั้งแต่มีการประกาศนโยบายกระตุ้น เศรษฐกิจที่เป็นปัญหาของนาง Truss ในขณะที่อัตราดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลระยะยาว (อายุ 10 ปีและ 30 ปี) ได้ปรับตัวลดลงมาอยู่ในระดับที่เทียบเท่ากับก่อนหน้าการประกาศนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลอังกฤษชุดก่อนแล้ว สะท้อนถึงการตอบรับเชิงบวกและแนวโน้มความเชื่อมั่นที่เพิ่มขึ้นของนักลงทุน
ด้านอัตราเงินเฟ้อ สำนักงานสถิติแห่งชาติอังกฤษ (Office for National Statistics – ONS) พบว่าอัตราเงินเฟ้อในรอบ 1 ปี (จนถึงเดือนกันยายน 2565) ปรับขึ้นมาอยู่ที่ระดับ ร้อยละ 10.1 (จากร้อยละ 9.9 ในเดือนสิงหาคม 2565) โดยมีปัจจัยหลักจากราคาพลังงาน อาหาร และขนส่งที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น
โดยส่วนหนึ่งเป็นผลจากอัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงินปอนด์เทียบกับดอลลาร์สหรัฐที่ปรับตัวลดลงในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ส่งผลให้ราคาสินค้านำเข้าปรับเพิ่มสูงขึ้นในภาพรวม โดยเฉพาะสินค้าประเภทอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ที่ปรับขึ้นถึงร้อยละ 14.6 ถือเป็นสถิติที่สูงที่สุดในรอบ 42 ปี นอกจากนี้ ข้อมูลการสำรวจของบริษัท Kantar พบว่ายอดขายของซุปเปอร์มาร์เก็ตส่วนใหญ่ โดยเฉพาะกลุ่มที่เน้นราคาย่อมเยา เช่น Lidl และ Aldi ในช่วง 12 สัปดาห์ที่ผ่านมาปรับเพิ่มขึ้น ร้อยละ 20.9 และร้อยละ 20.7 ตามลำดับ โดยเป็นผลจากการที่ผู้บริโภคเลือกซื้อสินค้าผักผลไม้สดที่ใกล้เกินอายุการบริโภคที่วางจำหน่ายมากขึ้น ซึ่งสะท้อนว่าผู้บริโภคพยายามลดค่าใช้จ่ายภายในครัวเรือนท่ามกลางวิกฤตเงินเฟ้อและค่าครองชีพที่คาดว่าจะรุนแรงขึ้นอีกในไตรมาสที่ 4 ของปีนี้
ในส่วนของความเคลื่อนไหวในด้านอื่น ๆ อย่างเช่น ธุรกิจค้าปลีก บริษัท Asos ซึ่งเป็นเว็บไซต์จำหน่ายสินค้าแฟชั่นของอังกฤษ ให้ข้อมูลว่าผลประกอบการของบริษัทในช่วงหนึ่งปีจนถึงเดือนสิงหาคม 2565 ปรับตัวลดลงจำนวน 31.9 ล้านปอนด์ เทียบกับในช่วงเดียวกันของปีที่แล้วที่บริษัทมีผลกำไร 177.1 ล้านปอนด์ โดยบริษัทมองว่าผลดังกล่าวมีปัจจัยจากการที่ประชาชนพยายามลดค่าใช้จ่ายท่ามกลางภาวะเงินเฟ้อและปัญหาค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น อสังหาริมทรัพย์ ข้อมูลจากธนาคารกลางของอังกฤษ (Bank of England –BoE) พบว่ า ตลาดอสังหาริมทรัพย์เริ่มชะลอตัวลงตามภาวะเงินเฟ้อสูงและต้นทุนกู้ยืมที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง สนามบิน การฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการบินและการบริการสนามบินให้กลับมาเทียบเท่ากับช่วงก่อนวิกฤตโควิด-19 ยังต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง เนื่องจากพบอุปสรรคด้านการขาดแคลนแรงงาน
อย่างไรก็ดี เสถียรภาพทางเศรษฐกิจในขณะนี้ยังถือเป็นระยะสั้น และยังคงต้องติดตามการแถลงแผนงบประมาณรายจ่ายประจำฤดูใบไม้ผลิ (Autumn Budget Statement 2022) รวมทั้งรายงานการประเมินความเสี่ยงภาพรวมทางเศรษฐกิจและการคลังของอังกฤษ โดย Office for Budget Responsibility (OBR) ในวันที่ 17 พฤศจิกายนอีกครั้ง เนื่องจากจะมีรายละเอียดนโยบายของรัฐบาลอังกฤษชุดใหม่มากขึ้น ซึ่งหากตลาดเห็นว่ามีความเหมาะสมรัดกุมก็จะช่วยฟื้นฟูความเชื่อมั่นและเป็นปัจจัยกำหนดความมั่นคงทางการเมืองและเศรษฐกิจในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงลอนดอน
เรียบเรียงโดย ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์