ด้านนโยบายต่าง ๆ ของรัฐบาลสหราชอาณาจักร
.
นโยบายภาษีประกันสังคม
.
เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2564 รัฐบาลสหราชอาณาจักรประกาศปรับขึ้นภาษีประกันสังคม (National Insurance) ในอัตราร้อยละ 1.25 และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 6 เมษายน 2565 เป็นต้นไป ภายใต้ กฎหมายภาษีสาธารณสุขและสวัสดิการสังคม (Health and Social Care Levy Bill) ซึ่งมีจุดประสงค์เพื่อปรับปรุงระบบ National Health Service (NHS) และสวัสดิการสังคมของสหราชอาณาจักรให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นหลังวิกฤต COVID-19 โดยในปีงบประมาณ 2565 รัฐบาลจะเรียกเก็บภาษีดังกล่าวจากผู้ที่มีรายได้จากการทำงานทั้งหมดตั้งแต่ปีงบประมาณ 2566 เป็นต้นไป ยกเว้นผู้ที่มีอายุ 66 ขึ้นไป ซึ่งคาดว่าจะสามารถระดมเงินงบประมาณได้จำนวน 1.2 หมื่นล้านปอนด์/ปี ทั้งนี้ รัฐบาลจะจัดสรรเงินสนับสนุนจำนวน 5.4 พันล้านปอนด์ เพื่อพัฒนาระบบสวัสดิการสังคมของสหราชอาณาจักรภายใน 3 ปีข้างหน้า นอกจากนี้ ยังประกาศมาตรการจำกัดค่าใช้จ่ายด้านค่ารักษาพยาบาลตลอดชีวิตไม่เกินมูลค่า 86,000 ปอนด์/คน สำหรับประชาชนในอังกฤษ โดยรัฐจะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลทั้งหมดให้แก่ผู้ที่มีทรัพย์สินไม่เกิน 20,000 ปอนด์ และจะช่วยเหลือด้านค่าใช้จ่ายบางส่วนสำหรับผู้ที่มีทรัพย์สินตั้งแต่ 20,000 – 100,000 ปอนด์
.
นโยบายแก้ไขปัญหาการขาดแคลนพนักงานขับรถ HGV
.
เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2564 นาย Grant Shapps รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ประกาศมาตรการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนพนักงานขับรถ HGV ในสหราชอาณาจักร เพื่อเร่งลดปัญหาการขนส่งในระบบห่วงโซ่อุปทาน และผลกระทบต่อภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนที่สำคัญ ได้แก่ (1) ผู้ขับขี่รถยนต์ทั่วไปสามารถขับรถลากจูงรถพ่วงหรือคาราวานได้โดยไม่ต้องสอบขอใบอนุญาต โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 20 กันยายน 2564 เป็นต้นไป เพื่อลดปริมาณคำร้องการสอบใบอนุญาตขับขี่โดยรวม ซึ่งคาดว่าจะสามารถเพิ่มวันและเวลาสอบใบขับขี่รถ HGV ได้มากขึ้นประมาณ 30,000 คน ภายในปีนี้ (2) ลดระยะเวลาการสอบให้สั้นลง โดยยกเลิกการสอบทักษะขับขี่บางรายการ (3) ผู้ที่ต้องการสอบใบขับขี่สำหรับรถ HGV พ่วงไม่จำเป็นต้องสมัครขอใบขับขี่สำหรับรถบรรทุกขนาดเล็กก่อน ซึ่งขั้นตอนที่สั้นลงนี้จะเพิ่มวันและเวลาสอบได้มากขึ้นประมาณ 20,000 คน
.
นโยบายขยายการผ่อนผันการนำเข้าสินค้าจาก EU ชั่วคราว
.
เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2564 รัฐบาลสหราชอาณาจักรประกาศขยายการผ่อนผันชั่วคราวในการบังคับใช้กฎระเบียบใหม่ในการนำเข้าสินค้าจาก EU (grace period) สำหรับขั้นตอนการแจ้งก่อนการนำเข้าผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากสัตว์และพืช (pre-notification of SPS goods) ออกไปจนถึงวันที่ 1 มกราคม 2565 (จากเดิมมีกำหนดวันที่ 1 ตุลาคม 2564) และสำหรับขั้นตอนการตรวจสอบใบรับรองสุขภาพสัตว์และพืช (Export Health Certificates) ให้บังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2565 (จากเดิมวันที่ 1 มกราคม 2565) เพื่อลดอุปสรรคแก่ผู้ประกอบการในสหราชอาณาจักร ให้สามารถฟื้นตัวจากผลกระทบของปัจจัยวิกฤตโควิด และปัญหาการปรับตัวของระบบห่วงโซ่อุปทาน อย่างไรก็ดี National Farmers’ Union (NFU) และสหพันธ์อาหารและเครื่องดื่ม (Food and Drink Federation) มองว่า การที่สหราชอาณาจักรขยายช่วง grace period ดังกล่าวเพียงฝ่ายเดียว ไม่ได้ช่วยแก้ไขปัญหาขาดแคลนสินค้าวางจำหน่าย แต่จะยิ่งเพิ่มความได้เปรียบทางการค้าให้แก่ผู้ประกอบการของ EU
.
ด้านทิศทางเศรษฐกิจของสหราชอาณาจักร
.
ข้อมูลจากองค์กรการค้าปลีกของสหราชอาณาจักร (British Retail Consortium – BRC) และ บริษัท Sensormatic Solutions ซึ่งเป็นบริษัทด้านข้อมูลเกี่ยวกับภาคธุรกิจค้าปลีก ระบุว่า จำนวนผู้เข้าใช้บริการจับจ่ายใช้สอยที่ร้านค้าปลีกต่าง ๆ ของสหราชอาณาจักรในเดือนสิงหาคม 2564 มีปริมาณเพิ่มขึ้นจากเดือนกรกฎาคม คิดเป็นร้อยละ 10 และถือเป็นสถิติที่สูงที่สุดนับตั้งแต่ช่วงต้นของวิกฤต COVID-19 ซึ่งมีปัจจัยกระตุ้นจากการท่องเที่ยวภายในประเทศ และจำนวนผู้ที่เดินทางไปทำงานที่อาคารสำนักงานเพิ่มขึ้นด้วย อย่างไรก็ดี สถิติโดยรวมข้างต้นยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปี 2562 คิดเป็นร้อยละ 18 ซึ่งสะท้อนถึงความท้าทายในระยะยาวที่ร้านค้าปลีกของสหราชอาณาจักร อาจต้องประสบโดยเฉพาะร้านค้าในกรุงลอนดอนที่มีจำนวนผู้สัญจรไปมา และเข้าใช้บริการต่ำกว่าช่วงก่อนวิกฤต COVID-19 ถึงร้อยละ 30 ซึ่งถือว่าต่ำที่สุดเมื่อเทียบกับเมืองและภูมิภาคอื่นของสหราชอาณาจักร
.
รายงานของสำนักงานสถิติแห่งชาติ (Office for National Statistics – ONS) ระบุว่า เศรษฐกิจสหราชอาณาจักร ขยายตัวเพียงร้อยละ 0.1 ในเดือน กรกฎาคม 2564 ซึ่งต่ำกว่าการคาดการณ์ ทำให้ เศรษฐกิจสหราชอาณาจักรยังอยู่ในระดับต่ำกว่าช่วงก่อนวิกฤต COVID-19 ร้อยละ 2.1 ซึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจสหราชอาณาจักรชะลอตัวมาจากการขาดแคลนแรงงาน เนื่องจากมาตรการกักตนเองกรณีได้รับการแจ้งเตือนจากแอปพลิเคชัน NHS COVID-19 รวมถึงปัญหาในระบบห่วงโซ่อุปทาน สะท้อนจากการที่อุตสาหกรรมก่อสร้างปรับตัวลดลงเป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกัน ซึ่งล่าสุดมีการปรับลดอัตราลงร้อยละ 1.6 เนื่องจากผลกระทบของการขาดแคลนวัสดุก่อสร้าง กอปรกับราคาวัสดุที่เพิ่มสูงขึ้น รวมถึงภาคธุรกิจบริการแบบที่ต้องติดต่อใกล้ชิดกับลูกค้ายังชะลอตัวลง จากความหวาดกลัวกับเชื้อไวรัสที่ยังมีอยู่ อย่างไรก็ดี ปัจจัยที่สนับสนุนการขยายตัวในช่วงเดือนกรกฎาคม ได้แก่ การเปิดทำการของศูนย์ขุดเจาะน้ำมันที่ช่วยกระตุ้นผลผลิตของสหราชอาณาจักร เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.2 และการเปิดให้บริการของภาคธุรกิจบันเทิงและสันทนาการ เช่น สวนสนุก เทศกาลดนตรีและศิลปะต่าง ๆ สืบเนื่องมาจากการออกจากล็อกดาวน์โดยมีการขยายตัวร้อยละ 9
.
นอกจากนี้ รายงานอีกฉบับของ ONS ได้ระบุว่า ดัชนีบ่งชี้ด้านราคาของสินค้าอุปโภคบริโภค (Consumer Price Index – CPI) ซึ่งเป็นการวัดระดับอัตราเงินเฟ้อในช่วงเดือนสิงหาคม 2563 – สิงหาคม 2564 ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 3.2 จากร้อยละ 2 ในเดือนกรกฎาคม 2564 ซึ่งถือว่าเป็นสถิติที่สูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2555 โดยมีปัจจัยจากการปรับขึ้นราคาในส่วนของการบริการขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิงอาหารและแอลกอฮอล์ ร้านอาหารและโรงแรม บ้านพักที่อยู่อาศัย รวมถึงกิจกรรมด้านศิลปะและสันทนาการ ซึ่งมีปัจจัยจากการคลายมาตรการล็อกดาวน์ ทำให้ปริมาณอุปสงค์มีมากเกินกว่าปริมาณอุปทาน กอปรกับปัญหาในระบบห่วงโซ่อุปทาน การขาดแคลนแรงงานในบางสาขาที่เป็นผลสืบเนื่องมาจากปัจจัยวิกฤต COVID-19 และ Brexit ทั้งนี้ ONS มองว่า CPI ดังกล่าวมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นชั่วคราวเท่านั้นและคาดว่าจะปรับลดลงในอนาคต ในขณะที่ธนาคารกลางสหราชอาณาจักร (Bank of England – BoE) คาดการณ์ว่า อัตราเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้นถึงระดับร้อยละ 4 ภายในปีนี้
.
ข้อมูลเศรษฐกิจสหราชอาณาจักรในช่วงครึ่งเดือนแรกของเดือนกันยายน 2564 ยังสะท้อนแนวโน้มการปรับขึ้นราคาสินค้าและการบริการต่าง ๆ ในสหราชอาณาจักร ซึ่งเป็นผลจากการปรับตัวของตลาดแรงงาน และสถานการณ์ติดขัดในระบบห่วงโซ่อุปทานที่เริ่มปรากฏชัดขึ้นหลังจากวิกฤต COVID-19 ที่เริ่มคลายตัวลง และมาตรการช่วยเหลือในช่วงการปรับตัวหลัง Brexit ทยอยหมดลงตามลำดับ โดยข้อมูลจากบริษัท Kantar ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาด้านธุรกิจค้าปลีก ระบุว่า ราคาสินค้าในสหราชอาณาจักรมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในระยะยาว และจากการสำรวจพบว่าสินค้าอาหารและของใช้ในบ้านมีราคาเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.4 เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ทั้งนี้ สภาวะเศรษฐกิจในขณะนี้ทำให้ผู้ผลิตจำเป็นต้องผลักภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้นให้แก่ผู้บริโภค ดังนั้น แนวโน้มดังกล่าวจึงน่าจะเป็นโอกาสของการส่งออกสินค้าเกษตรกรรมและปศุสัตว์ของไทยที่มีคุณภาพและราคาไม่สูงมากนัก ซึ่งสามารถเป็นทางเลือกให้แก่ผู้จำหน่ายและผู้บริโภคในสหราชอาณาจักรได้ อย่างไรก็ดี ผู้ส่งออกไทยยังต้องติดตามสถานการณ์ของภาคการขนส่งระหว่างประเทศที่มีการปรับตัวด้านค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นมากเช่นกัน โดยเฉพาะปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์บรรทุกสินค้าทางเรือที่ส่งผลกระทบทั่วโลก รวมทั้งสหราชอาณาจักร และปัญหาการขาดแคลนพนักงานขับรถ HGV ในสหราชอาณาจักรที่ยังต้องใช้ระยะเวลาอีกระยะหนึ่งในการบรรเทาปัญหา ซึ่งผู้ส่งออกไทยควรต้องหาหนทางบริหารต้นทุนด้านการขนส่งเพื่อให้สามารถแข่งขันได้ในสหราชอาณาจักรต่อไป
.
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงลอนดอน