เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2565 ยูเออี อียิปต์ และจอร์แดนได้ลงนามความเป็นหุ้นส่วนทางอุตสาหกรรมเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืน (Industrial Partnership for Sustainable Economic Growth) ที่ ADNOC Business Center กรุงอาบูดาบี โดยความเป็นหุ้นส่วนฯ ดังกล่าว มีจุดประสงค์เพื่อส่งเสริมความร่วมมือและพัฒนาอุตสาหกรรม รวมถึงการจัดตั้งกองทุนมูลค่า 1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อสนับสนุนงานและโครงการต่าง ๆ ซึ่งจะช่วยขับเคลื่อนอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพใน 5 สาขา ดังนี้
(1) การเกษตร อาหาร และปุ๋ย มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความมั่นคงทางอาหาร โดยยูเออี อียิปต์ และจอร์แดนมีศักยภาพและความเชี่ยวชาญทางเกษตรที่แตกต่างกัน ซึ่งหากร่วมมือกันจะช่วยส่งเสริมให้อุตสาหกรรมในสาขาดังกล่าวเติบโตมากขึ้นได้ในอนาคต โดยเฉพาะการผลิตปุ๋ย การผลิตสินค้าการเกษตร การแปรรูปอาหาร และบรรจุภัณฑ์
(2) เภสัชกรรม ยูเออี อียิปต์ และจอร์แดน เป็นประเทศผู้ผลิตยาและเวชภัณฑ์รายใหญ่ในภูมิภาค โดยมีโรงงานผลิตยารวมกันกว่า 200 โรงงาน และส่งออกยาไปยัง 90 กว่าประเทศทั่วโลก มูลค่าตลาดยาและเวชภัณฑ์ในสามประเทศรวมกันมากถึง 9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีอัตราการเติบโตร้อยละ 7 ต่อปี
(3) เสื้อผ้าและสิ่งทอ อียิปต์มีแรงงานที่มีทักษะและค่าแรงในอัตราที่ไม่สูง จอร์แดนมีความเชี่ยวชาญด้านการผลิตสิ่งทอและเสื้อผ้าสําเร็จรูปและสามารถส่งออกไปยังประเทศต่าง ๆ โดยใช้ประโยชน์จากความตกลง ด้านการค้า โดยเฉพาะกับสหรัฐฯ ในขณะที่ยูเออีสามารถช่วยสนับสนุนวัตถุดิบในกระบวนการผลิต และจัดหาตลาดส่งออก โดยใช้ประโยชน์จากความตกลง CEPA ที่เพิ่งจัดทำกับอินเดียและอิสราเอล ดังนั้น เมื่อทั้ง 3 ประเทศร่วมมือกัน จึงสามารถพัฒนาอุตสาหกรรมในสาขาดังกล่าวได้อย่างมีนัยสําคัญ
(4) ปิโตรเคมี เป็นสาขาที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมสาขาอื่น ๆ จึงมีความจําเป็นที่ต้องร่วมมือกันพัฒนาเพิ่มมากขึ้น
(5) แร่โลหะ ยูเออี อียิปต์ และจอร์แดนต่างมีทรัพยากรแร่โลหะเป็นจำนวนมาก โดยอียิปต์และจอร์แดนมีซิลิกาคุณภาพสูงเป็นจำนวนมาก ในขณะที่ยูเออีเป็นผู้ผลิตอะลูมิเนียมรายใหญ่ 1 ใน 5 ของโลก ซึ่งแร่โลหะต่าง ๆ เป็นวัตถุดิบสำคัญใช้ผลิตสินค้ามูลค่าสูงต่าง ๆ เช่น ส่วนประกอบรถยนต์ แก้ว แผงโซลาร์เซลส์ และไมโครชิป ทั้งนี้ มูลค่าของตลาดแร่โลหะ (เหล็ก อะลูมิเนียม เหล็กหล้า) ใน 3 ประเทศมีมูลค่ารวมกันกว่า 1.3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีอัตราการเติบโตร้อยละ 2 ต่อปี
นอกจากนี้ ความสามารถด้านอุตสาหกรรมของทั้ง 3 ประเทศรวมกัน คิดเป็นร้อยละ 22 ของ GDP รวม ของภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ มีมูลค่าประมาณ 7.65 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ รวมถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และการขนส่งทางเรือและอากาศที่มีประสิทธิภาพ เช่น ท่าเรือ Jebel Ali ของยูเออี และคลองสุเอชของอียิปต์ จะส่งผลให้ยูเออี อียิปต์ และจอร์แดน เป็นประเทศที่มีศักยภาพด้านอุตสาหกรรมสูงกว่าประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาค ทั้งนี้ ทั้ง 3 ประเทศยังมีประชากรวัยแรงงานมากถึง 122 ล้านคน ซึ่งจะเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมในอนาคต ซึ่งผู้ประกอบการและภาคเอกชนไทยที่มีศักยภาพในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ข้างต้น สามารถแสวงหาโอกาสจากการสร้างความร่วมมือกับทั้ง 3 ประเทศ เพื่อต่อยอดธุรกิจและขยายขนาดเศรษฐกิจไทยต่อไป