ความร่วมมือทางนวัตกรรมระหว่างยูเออีกับจีน
.
ยูเออีและจีนร่วมมือกันในการพัฒนาคิดค้นและสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ เพื่อนํามาใช้ประโยชน์ใน อุตสาหกรรมต่าง ๆ ในอนาคตที่จะพึ่งพาการใช้เทคโนโลยีขั้นสูง โดยยูเออีให้ความสําคัญกับการพัฒนานวัตกรรมขั้นสูง ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยสําคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ในปี 2560 ยูเออีและจีนจึงได้ร่วมมือกันในโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกในเขต Al Dhafra ของอาบูดาบี
.
นอกจากนี้ ยูเออีและจีนยังได้ร่วมกันพัฒนาและผลิตวัคซีนป้องกันโควิด-19 และได้รับผลลัพธ์เป็นที่น่าพอใจ ซึ่งส่งผลให้ยูเออีกลายเป็นประเทศผู้ผลิตวัคซีนป้องกันโควิด (Hayat-Vax/Sinopharm) แห่งแรกในภูมิภาคตะวันออกกลาง
.
ในปี 2564 ซึ่งเป็นปีครบรอบ 50 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างยูเออีกับจีน ทั้ง สองประเทศได้ร่วมจัดการประชุมภายใต้หัวข้อ “Innovation for a better life for humanity เพื่อนําเสนอและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมใหม่ ๆ ระหว่างกัน
.
ยูเออีร่วมกับสหรัฐฯ สนับสนุนการฟื้นฟูแนวปะการังใน Florida Keys
.
ยูเออีและสหรัฐฯ ได้หารือร่วมกันเนื่องในวันมหาสมุทรโลก (Worlds Ocean Day) เกี่ยวกับโครงการ ฟื้นฟูแนวปะการัง 7 แห่ง ใน Florida Keys ที่ได้รับความเสียหายจากพายุเฮอริเคน Irma ในช่วงปี 2560 ทั้งนี้ ในช่วงปลายปี 2563 ยูเออีได้บริจาคเงินจํานวน 109 ล้านบาท (3.5 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ) เพื่อใช้ในโครงการฟื้นฟูดังกล่าว ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความสําคัญของการอนุรักษ์แนวปะการังเพื่อรักษาสมดุลของระบบนิเวศทางสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ ยังได้มีการดําเนินโครงการ Reef Futures 2021 ซึ่งตั้งเป้าเพิ่มจํานวนปะการังให้ได้ร้อยละ 25 จากแนวปะการังเดิม และเงินกองทุนจากยูเออีจะถูกนําไปใช้เพื่อสนับสนุนโครงการนี้ต่อไป
.
ลานจอดรถพลังงานแสงอาทิตย์ภายในท่าอากาศยานกรุงอาบูดาบี
.
นอกจากความร่วมมือกับต่างประเทศแล้ว รัฐบาลรัฐอาบูดาบียังได้ดําเนินการก่อสร้างลานจอดรถพลังงานแสงอาทิตย์ขนาด 3 เมกะวัตส์ภายในท่าอากาศยานกรุงอาบูดาบีเสร็จแล้ว โดยโครงการดังกล่าวพัฒนาโดยบริษัท Masdar มีการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ในการผลิตไฟฟ้าจํานวน 7,542 แผง บนหลังคาที่จอดรถของอาคารผู้โดยสารแห่งใหม่ (Midfield Terminal) โดยจุดประสงค์หลักของโครงการดังกล่าวนี้ เพื่อเป็นการลดการใช้พลังงานลงและร่วมสร้างความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อมตามนโยบายรณรงค์การใช้พลังงานสะอาด UAE’s Energy Strategy 2050 ของภาครัฐ และ คาดว่าจะสามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนลงได้ประมาณ 5,300 ตัน/ปี
.
จะเห็นได้ว่า ความร่วมมือต่างๆ ของยูเออี ทั้งภายในและต่างประเทศ จะเน้นไปที่การพัฒนาคุณภาพชีวิต สิ่งแวดล้อม และความยั่งยืน ผู้ประกอบการไทยจึงอาจพิจารณาสร้างความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี พลังงาน และการสัมปทานน้ำมันระหว่างประเทศ โดยเฉพาะด้านอาหาร Plant-based food และสินค้าฮาลาล ที่เป็นจุดแข็งของไทย ในการส่งออกไปเจาะตลาดกลุ่มผู้ที่ใส่ใจด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมที่เพิ่มมากขึ้น และเป็นการต่อยอดความยั่งยืนในการลงทุนด้านอาหารของยูเออี นอกจากนี้ ผู้ประกอบการไทยควรศึกษาการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ และมาตรฐานการผลิต เพื่อต่อยอดการส่งออกสินค้าไปยังยูเออีในอนาคต
.
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงอาบูดาบี