Sheikh Ahmed Bin Saeed AI Maktoum ประธาน Dubai Supreme Council of Energy การประชุมสุดยอด World Green Economy Summit (WGES) ครั้งที่ 7 เมื่อตุลาคม 2564 ที่ดูไบ กล่าวว่า เศรษฐกิจสีเขียวในยูเออีและภาคตะวันออกกลางกำลังเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วดังเช่นแนวโน้มจากทั่วโลกในการป้องกันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
.
Mr. Saeed Mohammed AI Tayer CEO ของ Dubai Electricity and Water Authority (DEWA) และประธาน WGES กล่าวว่าการจัดประชุมครั้งนี้เป็นไปตามวิสัยทัศน์ในอนาคตของเจ้าผู้ครองรัฐดูไบและนายกรัฐมนตรีสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ Sheikh Mohammed Bin Rashid AI Maktoum ที่จะเปลี่ยนสิ่งท้าทายให้เป็นโอกาสในการลงทุนในเศรษฐกิจที่หลากหลายให้เป็นตัวขับเคลื่อนด้านใหม่ ๆ ซึ่งในปีนี้ได้จัดงานใน Theme “Galvanizing Action for a Sustainable Recovery” และเน้นย้ำความสำคัญใน 4 ด้าน ได้แก่ 1) เยาวชน 2) นวัตกรรมและเทคโนโลยีอัจฉริยะ 3) เศรษฐกิจสีเขียวและนโยบาย 4) การเงินสีเขียว และคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจสีเขียวจะมีมูลค่าถึง 12 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2030
.
การประชุมสุดยอดในครั้งนี้เป็นแพลตฟอร์มที่เน้นการพัฒนาเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและป้องกันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อความมั่นคงและการพัฒนาอย่างยั่งยืนในอนาคตก่อนจะมีการประชุม COP26 ในเดือนพฤศจิกายน ซึ่งการจัดประชุมสุดยอดในช่วง Expo 2020 Dubai ทำให้บทบาทของยูเออีและดูไบมีความสำคัญในฐานะศูนย์กลางด้านเทคโนโลยีที่ส่งเสริมการลงทุนในการพัฒนาอย่างยั่งยืนและเศรษฐกิจสีเขียวที่มีคุณภาพในตะวันออกกลาง
.
Ms. Mariam bint Mohammed Saeed AImheiri รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมยูเออี ได้กล่าวว่า ทุกคนควรตระหนักถึงสภาพความร้ายแรงของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกซึ่งทำให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้นเพื่อป้องกันอุณหภูมิไม่ให้สูงขึ้นกว่า 1.5 องศาเซลเซียส ภายในปี 2030 ดังนั้น เศรษฐกิจสีเขียวจึงเป็นหนทางเดียวที่จะสร้างความหวังในโลก และจะต้องเร่งดำเนินการอย่างทันที ขณะที่นาย Ahmad Belhoul AI Falasi รัฐมนตรีแห่งรัฐด้าน SMEs ย้ำถึงความสำคัญที่ยูเออีให้ความสำคัญสูงสุดต่อเศรษฐกิจสีเขียวและเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ของสหประชาชาติ และในการประชุมสุดยอด World Green Economy Summit นี้ เป็นไปตาม 2030 Agenda for Sustainable Development และเป็นเป้าประสงค์ในการแปลงเศรษฐกิจสีเขียวของยูเออี
.
นอกจากนี้ Mr. Philippe Diez รองประธานบริษัท Schneider Electric กล่าวว่า แบรนด์สินค้าต่าง ๆ ขณะนี้จะต้องลด carbon footprint ลงและเริ่มหันมาใช้พลังงานหมุนเวียนแทน ซึ่งทุกบริษัทต่างมีแผนยุทธศาสตร์ทั้งในด้านพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์ซึ่งกำลังเริ่มต้นที่จะผลิตในประเทศต่าง ๆ มากขึ้น โดยไฟฟ้าจะเป็นแหล่งพลังงานที่สำคัญสำหรับเมืองอัจฉริยะในอนาคต ดังนั้น การผลิตไฟฟ้าสีเขียวที่ยั่งยืนโดยใช้พลังงานหมุนเวียนซึ่งคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 50% ของการผลิตพลังงานของโลกในปี 2030 จะมีความจำเป็นอย่างมากสู่การพัฒนาโลกไปสู่ความสมดุลที่ยั่งยืนและครอบคลุม
.
ในส่วนของประเทศไทย รัฐบาลได้ผลักดันนโยบายเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy Model) ให้เป็นวาระสำคัญของชาติ ในการฟื้นฟูอย่างครอบคลุม รอบด้าน และยั่งยืนหลังวิกฤต COVID-19 โดยในการประชุม COP26 ที่สหราชอาณาจักร รัฐบาลไทยได้ประกาศเป้าหมายที่ไทยจะบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน (carbon neutrality) ภายในปี 2050 และจะปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (net zero greenhouse gas emission) ภายในปี 2065 ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยในภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมในเศรษฐกิจสีเขียว เช่น ด้านพลังงานสะอาด ยานยนต์ไฟฟ้า (EVs) จึงมีความจำเป็นอย่างมากที่จะต้องปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ในการประกอบธุรกิจ โดยสามารถเรียนรู้ผ่านการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมจากบริษัทชั้นนำในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของโลกที่สมดุลต่อไปในอนาคตได้
.
สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองดูไบ