ตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจของดูไบในไตรมาสแรกของปี 2567
ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (Gross Domestic Products – GDP) ในไตรมาสแรกของ ปี 2567 รัฐดูไบมีอัตราการเติบโตร้อยละ 3.2 คิดเป็นมูลค่าประมาณ 1.15 แสนล้านดีแรห์ม (ประมาณ 1.09 ล้านล้านบาท)
โดยอัตราการเติบโตของ GDP ในแต่ละภาคเศรษฐกิจของรัฐดูไบ มีดังนี้
- การคมนาคมขนส่งและคลังสินค้า เติบโตร้อยละ 5.6 โดยภาคเศรษฐกิจนี้มีสัดส่วนใน GDP ประมาณร้อยละ 13.4 และการเดินทางขนส่งทางอากาศเป็นส่วนสําคัญที่ผลักดันให้เติบโต เนื่องจากอุปสงค์การบริการของสายการบินประจําชาติที่เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นผลจากการเพิ่มจํานวนผู้โดยสารร้อยละ 6.8 ในช่วงไตรมาสแรกของปี
- การเงินและการประกันภัย เติบโตร้อยละ 5.6 โดยภาคเศรษฐกิจนี้มีสัดส่วนใน GDP ประมาณร้อยละ 13.1
- การค้าส่งและค้าปลีก เติบโตร้อยละ 3 โดยเป็นภาคเศรษฐกิจที่มีสัดส่วนของ GDP รวมมากที่สุด คือประมาณร้อยละ 22.9
- สารสนเทศและการสื่อสาร เติบโตร้อยละ 3.9
- ที่พักและอาหาร เติบโตร้อยละ 3.8 โดยในไตรมาสแรกของปี 2567 โรงแรมที่พักในดูไบมีอัตราการเข้าพัก (occupancy rate) ที่สูงเฉลี่ยร้อยละ 83 และมีนักท่องเที่ยวต่างชาติมาเยือน 5.2 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2566 ร้อยละ 11
- ภาคอสังหาริมทรัพย์ เติบโตร้อยละ 3.7 ซึ่งเป็นผลมาจากอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นและการประกาศโครงการอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่ทั่วดูไบ
- สาธารณูปโภค (ไฟฟ้า แก๊ซ และน้ําประปา) และการจัดการขยะ เติบโตร้อยละ 7.5
- ภาคการผลิต เติบโตร้อยละ 1.6
- ภาคอื่น ๆ เช่น การทําเหมืองแร่ เกษตรกรรม ก่อสร้าง การบริการด้านวิชาชีพและการบริหารจัดการ เติบโตร้อยละ 0.46
ข้อสังเกต ในไตรมาสแรกของปี 2567 การเติบโตของดูไบส่วนใหญ่พึ่งพาและขับเคลื่อนด้วยภาคเศรษฐกิจ 3 ส่วน ได้แก่ การค้าส่งและค้าปลีก การคมนาคมและคลังสินค้า และการเงินและการประกันภัย ซึ่งรวมกัน แล้วคิดเป็นสัดส่วนเกือบร้อยละ 50 ของ GDP
โครงการและแผนการพัฒนาเศรษฐกิจ
H.H. Sheikh Maktoum bin Mohammad bin Rashid Al Maktoum (รองเจ้าผู้ครองรัฐดูไบพระองค์ที่ 1 รองนายกรัฐมนตรี/รัฐมนตรีว่าการคลัง แห่งสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์) รองประธานสภาบริหารดูไบ (The Executive Council of Dubai – TEC) ได้ประกาศโครงการและแผนการพัฒนาเศรษฐกิจต่าง ๆ ดังนี้
- แผนการพัฒนาการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ให้บรรลุเป้าหมายมูลค่า FDI รวม 6.5 แสนล้านดีแรห์ม (ประมาณ 6.18 ล้านล้านบาท) ภายในปี 2576 (ค.ศ. 2033) ตามพระราโชบายการพัฒนาเศรษฐกิจ D33 ที่เจ้าผู้ครองรัฐดูไบประกาศไว้ตั้งแต่ต้นปี 2566 และเป้าหมายการผลักดัน ให้ดูไบติด 1 ใน 3 ของเมืองเศรษฐกิจชั้นนําของโลก เพื่อดึงดูดการลงทุนจากบริษัทต่างชาติและกระตุ้นให้มีการขยายการลงทุนของบริษัทที่ตั้งอยู่ในเมืองดูไบอยู่แล้ว โดยเน้นความได้เปรียบของดูไบในด้านโครงสร้างพื้นฐาน ที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ ศูนย์รวมของผู้มีความสามารถ และการเป็นศูนย์กลางการค้าของโลก
- Dubai Economic Model เป็นระบบที่พัฒนาภายใต้การกํากับของ Department of Economy and Tourism โดยวางรูปแบบ ประมวลผล และจัดการข้อมูลจาก Dubai Digital Authority และใช้เทคโนโลยี AI เข้ามาช่วย ซึ่งประกอบด้วย 3 ส่วน คือ ฐานข้อมูลที่รวมตัวชี้วัดทุกระดับ 3,000 ข้อ ระบบวัดผลและพยากรณ์สมรรถนะทางเศรษฐกิจ และเครื่องมือรายงานผลด้านเศรษฐกิจและกระดาน interactive สําหรับติดตามผลการดําเนินงานและแนวโน้ม เพื่อเป็นข้อมูลแก่ผู้บริหารในการวิเคราะห์ กําหนดนโยบาย ซึ่งระบบดังกล่าวนี้ยังจะช่วยสร้างความโปร่งใส ของนโยบายและเพิ่มความมั่นใจแก่ผู้บริโภคและนักลงทุนด้วย
- โครงการพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานีรถไฟฟ้า (Metro Station) เป็นการสนับสนุนแนวคิด 20-minutes city กล่าวคือ การวางระบบสัญจรของเมืองให้ประชาชนสามารถเดินทางได้ทั้งทางเท้าและด้วยจักรยานไปยังสถานที่ต่าง ๆ ภายใน 20 นาที ซึ่งโครงการดังกล่าวจะเพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจและความสะดวกสบายแก่ประชาชน (เพิ่มจํานวนผู้ใช้บริการรถไฟฟ้า สร้างความยั่งยืนและคุณภาพชีวิตแก่ประชาชน) โดยเป้าหมายหลักของโครงการคือการขยายเครือข่าย ระบบขนส่งสาธารณะเป็นร้อยละ 45 ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้เหลือ 16 ตันต่อหัวประชากร รวมถึงพัฒนาคุณภาพของพื้นที่สาธารณะเพื่อสนับสนุนให้ประชากรเดินมากขึ้น และเพิ่มพื้นที่ที่มีร่มเงา
นอกจากนี้ ยังเป็นการเพิ่มความหนาแน่นของประชากรโดยรอบสถานีรถไฟฟ้า โดยเป็นทั้งที่อยู่อาศัย ร้านค้า และสํานักงาน โดยโครงการนี้กําหนดเพิ่มจํานวนสถานีรถไฟฟ้าจากเดิม 64 สถานี ครอบคลุมพื้นที่ 84 ตร.กม. เป็น 96 สถานี ครอบคลุมพื้นที่ 140 ตร.กม. ภายในปี 2573 (ค.ศ. 2030) และเป็น 140 สถานี ครอบคลุมพื้นที่ 228 ตร.กม. ภายในปี 2583 (ค.ศ. 2040) ตามลําดับ - โครงการสนับสนุนแผนพัฒนาสังคมดูไบ (Dubai Social Agenda 33) เพื่อสร้างครอบครัวที่เข้มแข็ง และความภูมิใจในค่านิยมและอัตลักษณ์ โดยให้ประชาชนท้องถิ่นรวมถึงเยาวชนมีส่วนในการสร้างเศรษฐกิจ ให้เจริญและสามารถพึ่งพาตัวเองด้านการเงินได้ ประกอบด้วย
- โครงการ Manbar เป็นการแต่งตั้งอิหม่ามท้องถิ่น ดําเนินการโดย Department of Islamic Affairs and Charitable Activities มีเป้าหมายเพื่อเพิ่มจํานวนประชาชนที่ทํางานในมัสยิดเป็นสองเท่า และเสริมทักษะและคุณสมบัติที่จําเป็น ตอบสนองความต้องการของมัสยิดในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เปิดโอกาส ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในกิจกรรมเกี่ยวกับการละหมาด โดยโครงการจะทําการฝึกอบรม และสนับสนุนนักเรียนมีอาชีพ ซึ่งผู้เข้าร่วมทุกคนจะได้รับการประเมินอย่างครอบคลุมล่วงหน้าจนสําเร็จการศึกษา
- โครงการ Ghras Al Khair เป็นการสนับสนุน Content Creators โดยร่วมมือกับ Influencer รุ่นใหม่ สร้างสื่อที่เชิดชูคุณค่าความอดทนอดกลั้น ความสามัคคี ความสมานฉันท์ และการควบคุมตนเอง เพื่อเสริมสร้างอัตลักษณ์ประจําชาติ โครงการนี้ยังเป็นการสนับสนุนข้อริเริ่มด้านการศึกษาในโรงเรียนและมหาวิทยาลัย รวมถึงการรณรงค์จัดกิจกรรมให้มีการรับรู้ด้านดิจิทัลอย่างทั่วถึง
- โครงการ Manbar เป็นการแต่งตั้งอิหม่ามท้องถิ่น ดําเนินการโดย Department of Islamic Affairs and Charitable Activities มีเป้าหมายเพื่อเพิ่มจํานวนประชาชนที่ทํางานในมัสยิดเป็นสองเท่า และเสริมทักษะและคุณสมบัติที่จําเป็น ตอบสนองความต้องการของมัสยิดในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เปิดโอกาส ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในกิจกรรมเกี่ยวกับการละหมาด โดยโครงการจะทําการฝึกอบรม และสนับสนุนนักเรียนมีอาชีพ ซึ่งผู้เข้าร่วมทุกคนจะได้รับการประเมินอย่างครอบคลุมล่วงหน้าจนสําเร็จการศึกษา
ทั้งนี้ ภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจ D33 รัฐบาลดูไบได้นําเทคโนโลยี AI มาใช้ประมวลวัดผลความก้าวหน้า และพยากรณ์ตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจอย่างโปร่งใสและแม่นยํา ตลอดจนได้เน้นการนําเสนอการจัดอันดับความสามารถทางเศรษฐกิจในด้านต่าง ๆ ควบคู่ไปกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและโครงการด้านสังคม เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดี แก่ประชากร ซึ่งรวมถึงชาวต่างชาติที่เข้ามาทํางานในดูไบ ซึ่งเป็นสัดส่วนร้อยละ 85 ของประชากรทั้งหมดของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
ข้อมูล : สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองดูไบ
เรียบเรียงโดย : ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์