เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2567 นาย Mansur Yavas นายกเทศมนตรีกรุงอังการาได้เชิญคณะทูตานุทูตประจำกรุงอังการาเข้าชมสวนสัตว์ดิจิทัลกรุงอังการา ซึ่งเป็นสวนสัตว์ดิจิทัลแห่งแรกของตุรกี และเป็นหนึ่งในตัวอย่างที่ดีของโลก (one of the best examples in the world) โดยสวนสัตว์ดิจิทัลฯ แห่งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อปลูกฝังความรักสัตว์และธรรมชาติให้เด็ก ๆ ด้วยการสัมผัสโลกของสัตว์ต่าง ๆ ผ่านการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย ซึ่งการใช้เทคโนโลยีจะช่วยให้สัตว์ต่าง ๆ ไม่ถูกเคลื่อนย้ายออกจากถิ่นที่อยู่ในธรรมชาติเพื่อนํามาจัดแสดงในสวนสัตว์หรือถูกกักขังในกรงสัตว์ ทั้งนี้ ตั้งแต่เริ่มเปิดทำการในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2567 มีผู้เข้าเยี่ยมชมสวนสัตว์ดิจิทัลแล้วกว่า 1 แสนคน
ภายในสวนสัตว์ดิจิทัลฯ ได้แบ่งออกเป็น 3 โซน ประกอบด้วย (1) โซนฉายภาพ hologram ของสัตว์ เสมือนว่าอยู่ในกรง (2) โซน 3 มิติ ซึ่งต้องใส่แว่น 3 มิติเพื่อรับชมสัตว์ต่าง ๆ อย่างใกล้ชิด (3) โซนซาฟารีและอวกาศ โดยให้ผู้เข้าชมขึ้นรถบัส ซึ่งจะให้ความรู้สึกเสมือนอยู่ในซาฟารีและฉายภาพบนจอที่ผนังซึ่งอยู่รอบคัน โดยห้องแรกจะฉายภาพเคลื่อนไหวของไดโนเสาร์ (คล้ายกับจูราสสิคพาร์ค) และอีกห้องหนึ่งเป็นการจําลองเสมือนอยู่บนรถบัสในอวกาศ อีกทั้ง Holocity Global บริษัทสัญชาติสหรัฐอเมริกา/ตุรกี เป็นผู้จัดทำภาพเสมือน 3 มิติ (hologram) ให้สวนสัตว์ดิจิทัลฯ โดยใช้เทคโนโลยีที่ล้ำสมัยด้วยระบบ (1) Hyper 3D (2) Mixed Reality (3) Hyper 3D Screen ซึ่งมีความละเอียดจอสูงถึง 8K และความคมชัดสูง (ultra-high contrast) และ (4) เทคโนโลยี AR Cloud โดยมีอุปกรณ์สนับสนุนเทคโนโลยี Mixed reality รวม 110 ยูนิตและหมวกกันน็อค 40 ชุด
นอกจากนี้ ภายในสวนสัตว์ดิจิทัลฯ ยังประกอบด้วยสัตว์จำนวนกว่า 150 ชนิด ทั้งสัตว์บก สัตว์น้ำ และสัตว์เลื้อยคลานจากทวีปต่าง ๆ ทั่วโลก เช่น ยีราฟ ลิงชิมแปนซี ม้าลาย กวางมูส ช้างเอเชีย หมาป่า สิงโต เสือชีตาห์ หมีแพนด้า ควายไบซันอเมริกัน ควายป่าแอฟริกา จิงโจ้ วาฬหลังค่อม และปลาแองเกลอร์ ทั้งนี้ สวนสัตว์ดิจิทัลฯ ยังตั้งอยู่บนพื้นที่กว่า 5,000 ตารางเมตร โดยอยู่ภายในอาคาร (indoor) บริเวณ Atatürk Forest Farm (ที่ตั้งของสวนสัตว์กรุงอังการาแห่งแรก ซึ่งเปิดทำการตั้งแต่ปี พ.ศ. 2476 ก่อนจะย้ายไปที่แห่งใหม่)
ความร่วมมือระหว่างไทย-ตุรกี
นายกเทศมนตรีกรุงอังการามีท่าทีเปิดกว้างเพื่อเพิ่มชนิดสัตว์ใหม่ ๆ ในสวนสัตว์ดิจิทัลฯ (all animal species in the project can be changed or new species can be added) ซึ่งไทยอาจมีความร่วมมือกับตุรกีโดยเฉพาะ (1) การจัดแสดง hologram สัตว์ที่มีถิ่นฐานในประเทศไทยหรือภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อให้สัตว์ในภูมิภาคเป็นที่รู้จักของชาวตุรกีและเยาวชน และ (2) ความร่วมมือด้านสวนสัตว์ดิจิทัล โดยไทยอาจแลกเปลี่ยนเรียนรู้เทคโนโลยีต่าง ๆ ที่ใช้ในสวนสัตว์ดิจิทัลกรุงอังการากับตุรกีได้
สามารถติดตามได้ที่ : http://holozoo.tech/#
ข้อมูล: สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงอังการ
เรียบเรียงโดย: ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์