การรวมกลุ่มระหว่างประเทศในระดับภูมิภาคเพื่อส่งเสริมความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจ การเมือง สังคมและวัฒนธรรมไม่ใช่เรื่องใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้น แต่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาแล้วหลายสิบปี โดยเริ่มต้นในทวีปยุโรป ซึ่งพัฒนามาเป็นประชาคมยุโรปหรือ EU ในปัจจุบัน รวมทั้ง ASEAN ที่พัฒนามาเป็นประชาคมอาเซียนซึ่งคนไทยรู้จักกันเป็นอย่างดี โดยในปัจจุบัน มีหนึ่งการรวมกลุ่มระหว่างประเทศที่น่าสนใจและน่าจับตามอง นั่นคือ สหภาพเศรษฐกิจยูเรเชีย (Eurasian Economic Union: EAEU) ซึ่งก่อตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 1 ม.ค. 2558 โดยมีสมาชิกทั้งหมด 5 ประเทศ ได้แก่ เบลารุส คาซัคสถาน คีร์กีซสถาน อาร์เมเนีย และรัสเซียโดยการรวมกลุ่มดังกล่าวส่งผลให้ EAEU มีประชากรรวมกันมากถึง 183 ล้านคน[su_spacer size=”20″]
หากพิจารณาตัวเลขการค้าระหว่างไทยกับ EAEU ในปี 2560 จะพบว่า มีมูลค่าการค้ารวม 3,317.96 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยส่งออกสินค้าไปยัง EAEU มูลค่า 1,099.20 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และนำเข้าจาก EAEU 2,190 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยมีสินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ อุปกรณ์ชิ้นส่วนรถยนต์ อาหาร ผลิตภัณฑ์การเกษตร สิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม เป็นต้น ในขณะที่สินค้านำเข้าสำคัญ ได้แก่ น้ำมันดิบ เหล็ก น้ำมันสำเร็จรูปก๊าซธรรมชาติ เหล็กกล้า และผลิตภัณฑ์ปุ๋ย ยากำจัดศัตรูพืชและสัตว์ เป็นต้น โดยรัสเซียเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของไทยใน EAEU ตามมาด้วยคาซัคสถาน เบลารุส อาร์เมเนีย และคีร์กีซสถาน [su_spacer size=”20″]
ในบรรดาประเทศ EAEU รัสเซียถือเป็นประเทศที่มีความสำคัญในทางการค้าที่สุดสำหรับไทย เนื่องจาก 90% ของมูลค่าการค้าระหว่างไทยกับ EAEU เป็นการค้าขายที่เกิดขึ้นกับรัสเซีย ขณะที่ประเทศอื่น ๆ อีก 4 ประเทศ มีมูลค่าการค้าคิดเป็นเพียง 10% เท่านั้น โดยในปีที่ผ่านมา ไทยทำการค้ากับรัสเซียมูลค่ารวมกว่า 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยมีสินค้าส่งออกสำคัญได้แก่ รถยนต์และชิ้นส่วน มูลค่า 122 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ยางพารา 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐ อัญมณี มูลค่า 46 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และอาหารแปรรูป มูลค่า 38 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นต้น อีกทั้งในปี 2017 มีนักท่องเที่ยวชาวรัสเซียเดินทางมาท่องเที่ยวในไทยกว่า 1.3 ล้านคน ซึ่งโดยเฉลี่ยแล้ว นักท่องเที่ยวรัสเซียแต่ละคนใช้จ่ายเงินในประเทศไทยมากถึงประมาณ 80,000 บาทต่อครั้ง/คน [su_spacer size=”20″]
จากเหตุผลข้างต้น ได้ทำให้รัสเซียกลายเป็นจุดเริ่มต้นที่น่าสนใจสำหรับผู้ประกอบการไทยในการรุกตลาด EAEU เพราะนอกจากสินค้าของไทยจะสามารถส่งออกไปขายยังรัสเซียได้แล้ว ไทยยังสามารถใช้รัสเซียเป็นฐานในการขยายตลาดไปยังประเทศสมาชิก EAEU ที่เหลืออีก 4 ประเทศได้อีกด้วย เนื่องจากทั้ง 5 ประเทศสมาชิกตกลงกันที่จะให้มีการเคลื่อนย้ายสินค้า ทุน การบริการ และการเดินทางได้อย่างเสรี นอกจากนี้กลุ่มประเทศดังกล่าวยังมีความพยายามที่จะกำหนดนโยบายมหภาคในหลาย ๆ ด้านร่วมกัน เช่น อุตสาหกรรม การคมนาคมขนส่ง การเกษตร พลังงาน การค้าและการลงทุน รวมทั้งข้อกำหนดและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องทางการค้า ตลอดจนนโยบายการผลักดันให้เกิดการมีสกุลเงินร่วมกัน ซึ่งจะทำให้เกิดการบูรณาการในทุกด้านระหว่างประเทศสมาชิก ซึ่งในอนาคต จะทำให้การค้าขายกับ EAEU มีลักษณะที่คล้ายคลึงกันกับสหภาพยุโรป ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการของไทยในการเข้าถึงตลาดของประเทศสมาชิก EAEU ได้ง่ายขึ้น [su_spacer size=”20″]
สำหรับผู้ประกอบการไทยที่สนใจการค้าในกลุ่มประเทศ EAEU โดยเฉพาะรัสเซีย ควรใช้โอกาสจาก การที่มีนักท่องเที่ยวชาวรัสเซียเดินทางมายังประเทศไทยกว่า 1.3 ล้านคน ซึ่งมักเข้ามาท่องเที่ยวทั้งในกรุงเทพฯ และในจังหวัดท่องเที่ยวสำคัญ ๆ เช่น จังหวัดภูเก็ตและพัทยา มาเป็นโอกาสในการทำการตลาด โดยชาวรัสเซียเมื่อมาเที่ยวเมืองไทยแล้วชื่นชอบสินค้าดังกล่าวก็จะซื้อกลับไปใช้ที่รัสเซียจำนวนมาก อาทิ ยาสีฟันสมุนไพร ผลไม้แปรรูป เป็นต้น ซึ่งเป็นวิธีที่ไม่ต้องลงทุนสูง และสามารถดำเนินการได้โดยง่าย นอกจากนี้ ยังสามารถใช้เป็นช่องทางในการสำรวจตลาด เพื่อต่อยอดการเข้าไปทำธุรกิจที่รัสเซียได้อีกด้วย [su_spacer size=”20″]
อย่างไรก็ดี ยังคงมีอุปสรรคและความท้าทายในการทำตลาดรัสเซียในปัจจุบัน ได้แก่ การที่ในปัจจุบัน สินค้าจีนซึ่งมีราคาถูกได้เข้ามาตีตลาดในรัสเซียแล้วเป็นจำนวนมาก อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากเศรษฐกิจที่ตกต่ำของรัสเซียเมื่อปี 2015 ซึ่งได้เปิดโอกาสให้สินค้าในราคาถูกจากจีนเป็นที่นิยม โดยเฉพาะอาหารกระป๋อง อาหารแปรรูป และสินค้าเครื่องสำอาง แต่อย่างไรก็ตาม พบว่าผู้บริโภคชาวรัสเซียยังคงชื่นชอบการนำเข้าสินค้าที่มีคุณภาพจากประเทศอื่นด้วย ซึ่งหากคุณภาพและราคาอยู่ในระดับที่เหมาะสม ผู้บริโภคชาวรัสเซียก็พร้อมจ่ายในราคาที่สูงกว่าสินค้าราคาถูกจากจีน เพื่อให้ได้สินค้าที่มีคุณภาพ [su_spacer size=”20″]
นอกจากการแข่งขันในด้านราคากับจีนแล้ว ประเด็นด้านโลจิสติกส์ก็นับเป็นอีกหนึ่งข้อจำกัดในการทำการค้ากับรัสเซีย เนื่องจากรัสเซียเป็นประเทศที่มีพื้นที่กว้างขวาง ทำให้กระบวนการขนส่งมีหลายขั้นตอนและอาจจะใช้ระยะเวลาถึง 60 วัน เพื่อขนส่งจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่ง ดังนั้น สินค้าที่มีอายุต่ำกว่า 1 ปี จึงไม่เหมาะในการทำตลาดในรัสเซีย โดยอย่างน้อยต้องมีอายุของสินค้าระหว่าง 3-5 ปี ทำให้กลุ่มสินค้าอาหารแปรรูปชนิดกระป๋องเป็นที่นิยม ซึ่งที่ผ่านมา อาหารกระป๋องและอาหารแปรรูปของไทยได้รับความนิยมเป็นอย่างดีในตลาดรัสเซีย [su_spacer size=”20″]
ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์
กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ