เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2561 เวลา 08.30 น. นายบอริส จอห์นสัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหราชอาณาจักร ได้พบหารือกับนายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในโอกาสเดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการครั้งแรก ในฐานะแขกของกระทรวงการต่างประเทศ ระหว่างวันที่ 11 – 12 กุมภาพันธ์ 2561 [su_spacer size=”20″]
ทั้งสองฝ่ายได้เห็นพ้องที่จะทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ทวิภาคีตามที่ได้มีการหารือเชิงยุทธศาสตร์ไทย – สหราชอาณาจักร ครั้งที่ 3 ในด้าน (1) เทคโนโลยีทางการเงิน (FinTech) (2) อุตสาหกรรมอากาศยาน (3) วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม และ (4) ความร่วมมือด้านการศึกษา โดยภายหลังที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้บรรยายสรุปเกี่ยวกับโครงการ Eastern Economic Corridor (EEC) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหราชอาณาจักรได้แสดงความเชื่อมั่นต่อพลวัตทางเศรษฐกิจของไทย อีกทั้งชื่นชมและแสดงความสนใจที่จะขยายการลงทุนของสหราชอาณาจักรในโครงการ EEC[su_spacer size=”20″]
นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นกันอย่างสร้างสรรค์และตรงไปตรงมา ในประเด็นความร่วมมือในภูมิภาคและระหว่างประเทศ โดยเฉพาะปัญหาสถานการณ์ในรัฐยะไข่ซึ่งฝ่ายสหราชอาณาจักรเห็นว่า ควรจะต้องมีกลไก/องค์กรระหว่างประเทศที่เป็นอิสระในการช่วยเหลือกระบวนการส่งกลับชาวโรฮีนจา ในขณะที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้ชี้แจงว่า ไทยและอาเซียนพร้อมสนับสนุนเมียนมาในการดำเนินการเพื่อปฏิบัติตามข้อเสนอแนะของนายโคฟี อันนัน ประธานคณะกรรมาธิการที่ปรึกษาเรื่องรัฐยะไข่ และเห็นว่า ประชาคมระหว่างประเทศควรรอฟังข้อเสนอแนะของคณะที่ปรึกษาที่มี ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย เป็นประธานก่อนเพื่อประเมินว่า จะมีบทบาทช่วยเหลือเมียนมาอย่างไรต่อไป ในประเด็นการค้าสัตว์ป่าและพืชป่าผิดกฎหมาย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศแจ้งว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมประสงค์จะเข้าร่วมการประชุม London Conference on Illegal Wildlife Trade 2018 ที่กรุงลอนดอน ในเดือนตุลาคม 2561 นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหราชอาณาจักรได้แสดงความตั้งใจที่จะพัฒนาความสัมพันธ์ในการเป็นหุ้นส่วนกับอาเซียน[su_spacer size=”20″]
หลังจากนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหราชอาณาจักรได้เข้าเยี่ยมคารวะพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โดยทั้งสองฝ่ายได้หารือเกี่ยวกับแนวทางการส่งเสริมความร่วมมือในด้านต่าง ๆ และโครงการ EEC โดยนายกรัฐมนตรีได้ขอให้ฝ่ายสหราชอาณาจักรดูแลนักเรียนไทยและปัญหาวีซ่าของพ่อครัว/แม่ครัวที่ต้องไปทำงานในสหราชอาณาจักรด้วย[su_spacer size=”20″]
การเยือนไทยของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหราชอาณาจักรครั้งนี้ สะท้อนถึงความสำคัญของการเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์และความเข้าใจซึ่งกันและกันระหว่างไทยกับสหราชอาณาจักร ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหราชอาณาจักรได้แสดงความเข้าใจถึงการดำเนินการตาม Roadmap ของไทยสู่การเลือกตั้งทั่วไป โดยเฉพาะการแก้ไข พ.ร.ป. ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรให้มีผลบังคับใช้ภายหลัง 90 วันนับจากการประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อให้พรรคการเมืองและฝ่ายต่าง ๆ สามารถเตรียมการในส่วนที่เกี่ยวข้องได้ดีขึ้น รวมถึงการแก้ไขปัญหา Illegal, Unreported and Unregulated Fishing (IUU) ที่ไทยมีความคืบหน้าอย่างมาก[su_spacer size=”20″]