ภาวะเศรษฐกิจไทยขยายตัวร้อยละ 1.5 (ชะลอลงจากการขยายตัวร้อยละ 1.8 ในไตรมาสที่ 2/2566) ปัจจัยหลัก [1] ด้านการใช้จ่าย: การบริโภคภาคเอกชน ขยายตัวในเกณฑ์สูง (ร้อยละ 8.1) การลงทุนภาคเอกชน ขยายตัวต่อเนื่อง (ร้อยละ 3.1) ขณะที่การส่งออกสินค้า การอุปโภคภาครัฐและการลงทุนภาครัฐ ปรับตัวลดลง (ร้อยละ -2 ร้อยละ -4.9 และร้อยละ -2.6) และ [2] ด้านการผลิต: สาขาที่พักแรมและบริการด้านอาหาร และสาขาการขนส่ง ขยายตัวในเกณฑ์สูง (ร้อยละ 14.9 และร้อยละ 6.8) สาขาเกษตรกรรม และสาขาการขายส่งและการขายปีก ขยายตัวชะลอลง (ร้อยละ 0.9 และร้อยละ 3.3) ขณะที่สาขาการผลิตสินค้าอุตสาหกรรม ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง (ร้อยละ -4)
1.1 การค้า – เกินดุล 5.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (สูงกว่า 2.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ใน Q2/2566)
• การส่งออก (Q3/2566) มีมูลค่า 70,405 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงร้อยละ -2 (จากร้อยละ -5.6 ใน Q2) มูลค่าการส่งออกสินค้าไปยังตลาดคู่ค้าหลักเริ่มกลับมาขยายตัว เช่น สหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 3.4 จีน ขยายตัวร้อยละ 4.3 และญี่ปุ่น ขยายตัวร้อยละ 2.9 ขณะที่ อาเซียนและสหภาพยุโรป ยังคงลดลงต่อเนื่องร้อยละ -5.5 และร้อยละ -9.2
• การนำเข้า (Q3/2566) มีมูลค่า 65,012 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงร้อยละ -10.7 (จากร้อยละ -5 ใน Q2) โดยปริมาณการนำเข้าและราคานำเข้า ลดลงร้อยละ -10.4 และร้อยละ -0.3
1.2 การลงทุน – ขยายตัวร้อยละ 1.5 (เร่งขึ้นจากร้อยละ 0.4 ใน Q2/2566) โดยการลงทุนภาคเอกชน ขยายตัวร้อยละ 3.1 (จากการขยายตัวร้อยละ 2.6) ขณะที่การลงทุนภาครัฐ ลดลงร้อยละ -2.6 (จากการลดลงร้อยละ -1.1)
1.3 การเงิน – ธนาคารแห่งประเทศไทยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่องเป็นร้อยละ 2.5 ต่อปี (จากร้อยละ 2 ใน Q2/2566) สอดคล้องกับทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินของประเทศเศรษฐกิจหลัก เช่น สหรัฐฯ และสหภาพยุโรปที่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นร้อยละ 5.25 – 5.50 ต่อปี และร้อยละ 4.50 ต่อปี เพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อให้อยู่ในกรอบเป้าหมาย โดยธนาคารแห่งประเทศไทย ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยยังคงฟื้นตัวต่อเนื่อง แม้การฟื้นตัวของภาคอุปสงค์ในต่างประเทศจะช้ากว่าที่คาด
• อัตราเงินเฟ้อทั่วไป อยู่ที่ร้อยละ 0.5 (ชะลอลงต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 4 จากร้อยละ 1.1 ใน Q2) และมีแนวโน้มอยู่ในกรอบเป้าหมาย แต่ยังคงมีความเสี่ยงในระดับสูงจาก (1) นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐในระยะต่อไป และ (2) ต้นทุนราคาอาหารที่อาจตัวปรับขึ้นจากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น ปรากฏการณ์เอลนีโญ
1.4 การคลัง – ฐานะการคลัง ในไตรมาส 4 ของปีงบประมาณ 2566 เกินดุลงบประมาณ 9,226 ล้านบาท (262 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) โดยมีเงินคงคลัง จำนวนทั้งสิ้น 539,056 ล้านบาท (15 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ)
• หนี้สาธารณะ มีมูลค่า 11,131,634.2 ล้านบาท (316.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) คิดเป็นร้อยละ 62.1 ของ GDP
• หนี้ครัวเรือน ยังคงอยู่ในระดับสูง โดยมีสัดส่วนคิดเป็นร้อยละ 90.7 ของ GDP
1.5 การผลิต – สินค้าอุตสาหกรรม ลดลงร้อยละ -4.0 (ต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 4 จากร้อยละ -3.2 ใน Q2/2566) ตามการลดลงของทุกกลุ่มการผลิตเพื่อส่งออกซึ่งได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญ โดยมีผลผลิตอุตสาหกรรมสำคัญที่ลดลง ได้แก่ (1) คอมพิวเตอร์ (2) เสื้อผ้า และ (3) ผลิตภัณฑ์ยาง
1.7 การจ้างงาน – อัตราการว่างงาน อยู่ที่ร้อยละ 0.99 (ต่ำที่สุดในรอบ 15 ไตรมาส) โดยมีผู้ว่างงานเฉลี่ยจำนวน 4.01 แสนคน (เทียบกับ 4.29 แสนคน ใน Q2/2566 และ 4.91 แสนคน ใน Q3/2565)
1.8 การท่องเที่ยว – สาขาที่พักแรมและบริการด้านอาหาร ขยายตัวร้อยละ 14.9 (ต่อเนื่องจากร้อยละ 15.1 ใน Q2) โดยมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทย จำนวน 7.089 ล้านคน (3 อันดับแรก ได้แก่ มาเลเซีย จีน และเกาหลีใต้) รายรับรวมจากการท่องเที่ยว 4.38 แสนล้านบาท (12.44 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) และอัตราการเข้าพักเฉลี่ย ร้อยละ 66.16 รวม 9 เดือนแรกของปี มีนักท่องเที่ยวต่างชาติ 20 ล้านคน และรายรับ 1.329 ล้านล้านบาท (37.77 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ)
แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2567 ปรับตัวดีขึ้นจากปี 2566 (ร้อยละ 2.7 – 3.7) โดยมีปัจจัยสนับสนุนสำคัญจาก (1) การกลับมาขยายตัวของการส่งออก ตามการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกและปริมาณการค้าโลกในปี 2567 (2) การขยายตัวในเกณฑ์ดีของการลงทุนภาคเอกชน จากการดำเนินมาตรการส่งเสริมการลงทุนของภาครัฐอย่างต่อเนื่อง (3) การขยายตัวอย่างต่อเนื่องของการอุปโภคบริโภคภายในประเทศ สะท้อนได้จากดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนตุลาคม 2566 ซึ่งอยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 44 เดือน และ (4) การปรับตัวดีขึ้นของภาคการท่องเที่ยว ตามการเร่งตัวขึ้นของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของปี 2565 และมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวเพิ่มเติมของภาครัฐ
อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจไทยปี 2567 มีแนวโน้มเผชิญกับข้อจำกัดและปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ จาก (1) การลดลงของแรงขับเคลื่อนทางการคลัง (2) ภาระหนี้สินครัวเรือนและภาคธุรกิจที่อยู่ในระดับสูง (3) ผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งต่อผลผลิตภาคเกษตร และ (4) สถานการณ์ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ทั้งนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวร้อยละ 3.2-3.8 ในปี 2567 (พฤศจิกายน) โดยการขยายตัวของเศรษฐกิจในปี 2567 จะสูงขึ้นจากหลายปัจจัยขับเคลื่อนและมีแรงส่งเพิ่มเติมจากนโยบายของภาครัฐ
.
ที่มา: กองสนเทศเศรษฐกิจ กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ