ภาพรวมการค้าการลงทุนไทย-แทนซาเนีย ปี 2564 มีแนวโน้มดีขึ้น หลังจากสถิติการค้าตั้งแต่เดือนมกราคม – พฤศจิกายน 2564 มีปริมาณการค้ารวม 140 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไทยเป็นฝ่ายส่งออก 120 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และนำเข้า 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยได้ดุลการค้า 99 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกันกับช่วงก่อนการแพร่ระบาดของ COVID-19 โดยสินค้าที่ไทยส่งออกไปยังแทนซาเนีย 10 อันดับแรก ได้แก่ (1) เครื่องนุ่งห่ม (2) ผลิตภัณฑ์ยาง (3) น้ำตาลทราย (4) เหล็ก (5) เคมีภัณฑ์ (6) เม็ดพลาสติก (7) อุปกรณ์และส่วนประกอบรถยนต์ (8) เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์รักษาผิว (9) แร่ยิบซัม (10) กระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ
.
ขณะที่สินค้าที่ไทยนำเข้าจากแทนซาเนีย 10 อันดับแรก ได้แก่ (1) สินแร่โลหะ (2) ผัก ผลไม้ (3) เพชรพลอย อัญมณี (4) ด้ายและเส้นใย (5) พืชและผลิตภัณฑ์จากพืช (6) เครื่องประดับอัญมณี (7) สัตว์น้ำสดและแปรรูป (8) แผงวงจรไฟฟ้า (9) ผลิตภัณฑ์จากพลาสติก (10) สัตว์มีชีวิตไม่ได้ทำพันธุ์ โดยสินค้าในลำดับที่ (8) และ (9) ไม่เคยมีการนำเข้ามาก่อนในช่วงปี 2561 -2563
.
ในด้านการค้าโลกของแทนซาเนีย แทนซาเนียนำเข้าน้ำมันปีโตรเลียม น้ำมันปาล์ม เวชภัณฑ์ รถยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์ ธัญพืช จากประเทศจีน อินเดีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซาอุดีอาระเบีย และแอฟริกาใต้เป็นหลัก ส่วนการส่งออกไปยังตลาดโลก แทนซาเนียส่งออกสินค้าและบริการมีมูลค่ารวมประมาณ 9.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2564 ประมาณ 13% โดยสินค้าส่งออกที่สำคัญอันดับหนึ่งยังคงเป็นทองคำ เหล็ก เครื่องสำอาง ทองแดงดิบ ทองแดง เฟอร์นิเจอร์ และนอกจากนั้นยังมี ข้าว ข้าวโพด และถั่ว ไปยังประเทศต่าง ๆ เช่น รวันดา เคนยา สิงคโปร์ คองโก แซมเบีย และยูกันดา เป็นต้น อย่างไรก็ดี การส่งออกเม็ดมะม่วงหิมพานต์ และยาสูบมีจำนวนลดน้อยลง
แทนซาเนียมีการลงทุนจากต่างชาติ (FDI) จำนวนมาก ในปี 2563 มีมูลค่าการลงทุนจากต่างชาติจำนวน 1.013 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และเพิ่มสูงขึ้นเป็น 4.144 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในช่วงมีนาคม – พฤศจิกายน 2564 นับว่าเพิ่มขึ้นมากกว่า 300% จากปีที่ผ่านมา โดยชาติที่มีการลงทุนในแทนซาเนียมากที่สุด ได้แก่ จีน อินเดีย เคนยา สหราชอาณาจักร มอริเชียส โอมาน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ แคนาดา สหรัฐฯ เนเธอร์แลนด์ แอฟริกาใต้ และเยอรมนี และมีสาขาการลงทุน ได้แก่ การทำเหมืองแร่ น้ำมันและก๊าชธรรมชาติ อุตสาหกรรมการเกษตรในสาขา เช่น กาแฟ เม็ดมะม่วงหิมพานต์ และยาสูบ เป็นต้น
แม้แทนซาเนียจะมีการเปลี่ยนแปลงประธานาธิบดีและรัฐบาลไปเมื่อช่วงต้นปี 2564 แต่โดยรวมการเมืองภายในของประเทศยังคงมีเสถียรภาพ โดยเฉพาะการดำเนินนโยบายต่างประเทศของแทนซาเนียที่เป็นลักษณะเปิดกว้างและเป็นมิตรกับชาวต่างชาติมากขึ้น อันจะเห็นได้จากการเข้าร่วมกรอบความร่วมมือเขตการค้าเสรีทวีปแอฟริกา (African Continental Free Trade Agreement: AfCFTA) และเวทีพหุภาคีต่าง ๆ ดังนั้น จึงถือเป็นโอกาสที่ดีของประเทศไทยที่จะต่อยอดและพัฒนาความร่วมมือกับแทนซาเนียในมิติด้านการค้าและการลงทุน โดยเฉพาะผู้ประกอบการไทยที่ประกอบธุรกิจในอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม อุปกรณ์และส่วนประกอบรถยนต์ เครื่องสำอาง และผลิตภัณฑ์กระดาษ เป็นต้น เนื่องจากอุตสาหกรรมที่กล่าวมาข้างต้นนี้ มีภาพรวมการส่งออกที่มีศักยภาพ อันเหมาะสมสำหรับการต่อยอดการค้าและลงทุนในแทนซาเนียต่อไปในอนาคต
.
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงไนโรบี