แม้ว่า ทาจิกิสถาน หรือชื่อทางการคือ สาธารณรัฐทาจิกิสถาน อาจเป็นตลาดขนาดเล็ก มีประชากรเพียง 9 ล้านคน และมีกําลังซื้อต่ำสําหรับไทย (GDP per Capita 870.8 ดอลลาร์สหรัฐในปี 2562) แต่ทาจิกิสถานกําลังพยายามวางตำแหน่งตนเองใหม่ (reposition) ให้เป็นหนึ่งในศูนย์กลางทางการค้าและขนส่งในเอเชียกลาง โดยเน้นการเชื่อมโยงไปสู่ตลาดอัฟกานิสถานและอุซเบกิสถาน ซึ่งเป็นตลาดใหญ่ที่มีขนาดประมาณประเทศละ 30 กว่าล้านคน รวมทั้งยังสามารถใช้เข้าถึงตลาดรัสเซียและกลุ่มประเทศเครือรัฐเอกราช (Commonwealth of Independent States: CIS) อื่น ๆ เนื่องจากมีความตกลง FTA ระหว่างกันได้ นอกจากนี้ ทาจิกิสถานยังมีโครงสร้างความเชื่อมโยงที่ค่อนข้างดี เช่น มีทางรถไฟเชื่อมกับอุซเบกิสถาน คาซัคสถาน และต่อไปยังรัสเซีย มีการเปิดถนนเชื่อมผ่านชายแดนระหว่างทาจิกิสถานกับอุซเบกิสถาน 14 จุด และยังมีความเชื่อมโยงที่ค่อนข้างดีกับจีน
.
ทาจิกิสถานจึงเป็นประเทศที่น่าสนใจกว่าที่คิดและไทยควรจับตามองแต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับพัฒนาการในอัฟกานิสถานด้วย ซึ่งทาจิกิสถานมีแนวชายแดนกับอัฟกานิสถานยาวประมาณ 1,357 กม. ดังนั้นพัฒนาการในอัฟกานิสถานอาจส่งผลกระทบต่อทาจิกิสถานได้ด้วย อย่างไรก็ดี ผู้เชี่ยวชาญหลายคนเห็นว่า ตาลีบันตระหนักดีถึงความจําเป็นที่จะต้องให้การค้าระหว่างประเทศดําเนินต่อไปเพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจของประเทศตนเอง ดังนั้นไม่น่าจะขัดขวางหรือสร้างอุปสรรคต่อเส้นทางการค้าและการขนส่ง
.
นอกจากนี้ ทาจิกิสถานยังมีทรัพยากรธรรมชาติจํานวนมากที่ยังไม่ได้มีการใช้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจอย่างเต็มที่ ทั้งแร่ธาตุ เช่น ควอตซ์ ทองแดง ยูเรเนียม อลูมิเนียม ซิงค์ ลิเธียม และเงิน รวมถึงอัญมณีซึ่งอยู่บนพื้นดินและเข้าถึงได้ง่าย ตลอดจนทรัพยากรน้ําคุณภาพดี โดยเกือบร้อยละ 70 ของทรัพยากรน้ําที่ดื่มได้ในเอเชียกลางอยู่ที่ทาจิกิสถาน และส่วนหนึ่งนํามาใช้ผลิตกระแสไฟฟ้าแต่ยังไม่เต็มศักยภาพเนื่องจากขาดการลงทุนที่เพียงพอ นอกจากนี้ ยังมีแรงงานที่ถือว่ามีทักษะดีและค่าแรงงานต่ํา (ประมาณ 2-3 ดอลลาร์สหรัฐต่อชั่วโมง) และทาจิกิสถานยังถือได้ว่าเป็นประเทศเอเชียกลางที่ค่อนข้างมีเสถียรภาพทางการเมือง และรัฐบาลมีนโยบายพยายามดึงดูด ความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับประเทศอื่น ๆ รวมถึงกลุ่มประเทศอาเซียน เพื่อลดการพึ่งพาทางเศรษฐกิจกับจีน และรัสเซียจนมากเกินไป
.
ทั้งนี้ ไทยและทาจิกิสถานมีความสัมพันธ์ทางการเมืองที่ดีมาตลอดโดยไทยมีการแลกเปลี่ยนการเยือนระดับผู้นํากับทาจิกิสถานบ่อยครั้งที่สุดในกลุ่มประเทศเอเชียกลาง แต่ความร่วมมือทางเศรษฐกิจยังถือว่าอยู่ในระดับที่ต่ํามาก โดยมูลค่าการค้าปี 2563 อยู่ที่เพียง 1.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยได้ ดุลการค้า 1.19 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยสินค้าส่งออกหลักของไทย ได้แก่ ยานพาหนะ ธัญพืช เครื่องจักรกลและ ส่วนประกอบ ส่วนสินค้าที่ไทยนําเข้าหลักจากทาจิกิสถาน ได้แก่ ด้ายและเส้นใย เครื่องเพชรพลอยและอัญมณี เงิน แท่งและทองคํา
.
ถึงแม้ว่า ทาจิกิสถานจะเป็นประเทศขนาดเล็กแต่การเข้าไปลงทุนที่ประเทศเล็ก ๆ แห่งนี้อาจเป็นโอกาสทองของผู้ประกอบการไทยที่จะสามารถทำกำไรได้อย่างมหาศาล เนื่องจากผู้ประกอบการไทยสามารถใช้ทาจิกิสถานเป็นฐานการผลิตโดยการใช้ทรัพยากรในทาจิกกิสถานที่มีความอุดมสมบูรณ์ในการผลิตสินค้าเพื่อส่งออกไปสู่ตลาดอื่นที่มีขนาดใหญ่กว่าโดยเฉพาะอัฟกานิสถาน และอุซเบกิสถาน รวมทั้งยังสามารถใช้เข้าถึงรัสเซียและประเทศกลุ่ม Commonwealth of Independent States (CIS) ต่าง ๆ ที่มีประชากรรวมกันกว่า 245 ล้านคนได้ นอกจากนี้ ทาจิกิสถานยังสามารถเป็นตลาดสินค้าฮาลาลของไทยได้อีกด้วย เนื่องจากชาวทาจิกนับถือศาสนาอิสลามถึงร้อยละ 96.7 และยังมีความเชื่อมโยงสามารถเป็นประตูไปสู่ตลาดอัฟกานิสถานและอุซเบกิสถานที่เป็นตลาดใหญ่กว่าสําหรับสินค้าฮาลาลไทย โดยสาขาธุรกิจที่น่าสนใจที่ผู้ประกอบการไทยอาจพิจารณาเข้าไปลงทุน แบ่งปันประสบการณ์หรือช่วยถ่ายโอนเทคโนโลยี ได้แก่ อุตสาหกรรมการเกษตร อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และ อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ