ไต้หวัน หนึ่งในเขตเศรษฐกิจพิเศษที่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของโลก เกาะแห่งนี้ได้สร้างอุตสาหกรรมที่เน้นการผลิตสินค้าที่ต้องใช้เทคโนโลยีประเภทต่าง ๆ เช่น รถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และเคมีภัณฑ์ เป็นต้น เพื่อส่งออกไปจำหน่ายในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก โดยอุตสาหกรรมเหล่านี้ได้สร้างตำแหน่งงานมากมายให้กับผู้คนทั้งในและนอกพื้นที่ ซึ่งรวมถึงคนไทยที่นิยมเดินทางไปทำงานที่ไต้หวันมากที่สุดแห่งหนึ่ง[su_spacer size=”20″]
เกือบสองทศวรรษที่ผ่านมา มีแรงงานไทยเดินทางไปทำงานที่ไต้หวันมากกว่า 1 ล้านคน โดยแรงงานที่ได้เดินทางไปนั้น ได้ทำงานในหลากหลายสาขาอาชีพ โดยส่วนใหญ่มักทำงานในอุตสาหกรรมการก่อสร้างและโรงงาน แต่ในปัจจุบัน การพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีการผลิตของไต้หวันทำให้โรงงานต่าง ๆ ลดจำนวนคนงานลง และเพิ่มการใช้เทคโนโลยีเข้าไปมากขึ้น ซึ่งก็จำเป็นต้องใช้บุคลากรที่มีทักษะในการทำงานมากขึ้นเป็นเงาตามตัว จากเหตุผลนี้เอง ส่งผลให้คณะกรรมการด้านเศรษฐกิจของสภานิติบัญญัติไต้หวันลงมติผ่านร่างกฎหมายว่าด้วยบุคลากรมืออาชีพจากต่างชาติ เพื่อดึงดูดให้บุคลากรที่มีทักษะจากต่างประเทศเข้ามาทำงานในไต้หวันมากยิ่งขึ้น โดยมุ่งแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานใน 5 ด้านที่สำคัญ ได้แก่ (1) ด้านทักษะอาชีพ (2) ด้านแรงงาน (3) ด้านความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับพื้นที่และที่ดิน (4) ด้านความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับน้ำ และ (5) ด้านความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับไฟฟ้า โดยคณะกรรมการสภาพัฒนาแห่งชาติ (National Development Council) ตั้งเป้าหมายไว้ว่า จะสามารถเพิ่มจำนวนผู้ประกอบวิชาชีพชาวต่างชาติในไต้หวันได้ถึง 1,800 คนต่อปี โดยจะเป็นนักวิชาการหรือเจ้าหน้าที่บริหารที่มีความรู้ด้านระหว่างประเทศ เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการวิจัยและพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การผลิต และการพาณิชย์ กระจายอยู่ในอุตสาหกรรมประเภทต่าง ๆ ทั้งนี้ ร่างกฎหมายดังกล่าวยังเสนอให้ขยายเวลาการจ้างงานสำหรับบุคลากรที่มีทักษะให้มีสิทธิทำงาน 5 ปี จากปกติที่แรงงานไร้ทักษะสามารถทำงานได้ 3 ปี และเสนอให้บุคลากรที่มีทักษะจากต่างชาติที่มีรายได้มากกว่า 3,000,000 ดอลลาร์ไต้หวัน (หรือประมาณ 3,100,000 บาท) ถูกหักภาษีเพียงครึ่งหนึ่งของรายได้ต่อปีเป็นระยะเวลา 3 ปี[su_spacer size=”20″]
อย่างไรก็ดี ผู้ที่ไม่ได้อยู่ในข่ายของบุคลากรที่มีทักษะก็ยังมีโอกาสหางานในไต้หวันได้ โดยไต้หวันระบุสาขาอาชีพที่อนุญาตให้ชาวต่างชาติสามารถประกอบอาชีพในไต้หวันได้ 11 อาชีพ ซึ่งได้แก่ (1) อาชีพที่ต้องอาศัยเทคนิคหรือความสามารถเฉพาะทาง (2) ผู้บริหารธุรกิจที่ก่อตั้งหรือลงทุนโดยชาวต่างชาติหรือคนจีน และได้รับการอนุญาตจากไต้หวัน (3) ครูในสถาบันการศึกษาระดับมัธยมและมหาวิทยาลัย (4) ครูสอนภาษาต่างชาติที่ได้มาตรฐานในโรงเรียนกวดวิชา (5) ครูฝึกและนักกีฬา (6) ผู้ทำงานศาสนา ศิลปะ และการแสดง (7) ลูกเรือที่ทำงานบนเรือพาณิชย์ที่ได้รับอนุญาตจากกระทรวงคมนาคมฯ ไต้หวัน (8) งานบนเรือประมง (9) ผู้อนุบาลและผู้ช่วยงานอนุบาล (10) อาชีพที่ได้รับอนุญาตเป็นพิเศษจากหน่วยงานส่วนกลางเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจไต้หวัน และ (11) งานที่ขาดแคลนบุคลากรในไต้หวันซึ่งจำเป็นต้องว่าจ้างบุคลากรต่างชาติ[su_spacer size=”20″]
ทั้งนี้ ผู้สนใจทำงานในไต้หวันสามารถติดต่อผ่านนายจ้างได้โดยตรง และสามารถดูประกาศงานได้จากกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงานของไทย ซึ่งจะมีประกาศรับสมัครงานอย่างต่อเนื่อง สำหรับประเด็นการตรวจสอบความน่าเชื่อถือของนายจ้างจากไต้หวัน ผู้สนใจสมัครงานสามารถตรวจสอบได้จากเอกสารรับรองการจ้างงานของนายจ้าง ซึ่งเอกสารการรับรองดังกล่าวจะต้องผ่านการตรวจสอบจากสำนักงานแรงงานของไต้หวันมาก่อน[su_spacer size=”20″]
อนึ่ง แรงงานไทยโดยส่วนใหญ่ที่ทำงานอยู่ในไต้หวันมักประสบปัญหาด้านกฎหมายและการหลอกลวงเอาเปรียบจากนายจ้างในรูปแบบต่าง ๆ เช่น นายจ้างบางรายจัดเก็บภาษีของลูกจ้างแล้วไม่นำส่งกรมสรรพากร หรือจัดหางานให้ลูกจ้างไม่ตรงกับสัญญาที่ระบุไว้ตอนต้น ทำให้ลูกจ้างเสี่ยงที่จะตกอยู่ในสถานะแรงงานผิดกฎหมาย ซึ่งเมื่อลูกจ้างประสบกับปัญหาเหล่านี้ สามารถติดต่อได้ที่สำนักงานแรงงานไทยใน 2 สำนักงาน ได้แก่ (1) สำนักงานแรงงาน ณ กรุงมะนิลา (ส่วนที่ 2) สาขาไทเป ซึ่งดูแลแรงงานไทยในเขตไทเป จีหลง เถาหยวน อีหลาน ซินจู๋ เหมี่ยวลี่ ไถจง ฮวาเหลียน และ (2) สำนักงานแรงงาน ณ กรุงมะนิลา (ส่วนที่ 2) สาขาเกาสงซึ่งดูแลแรงงานไทยในเขตเกาสง ไถหนาน เจี้ยอี้ หยุนหลิน จางฮั่ว ผิงตง ไถตง และเกาะเผิงหู ตามลำดับ[su_spacer size=”20″]
ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์
กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ
สำนักงานการค้าและเศรษฐกิจไทย